ดนตรี / รุ่งฟ้า ลิ้มหัสนัยกุล “Oh babe, meet me in Tompkins Square Park / I wanna hold you in the dark / One last time / Just one last time” ข้างบนนั้นเป็นท่อนแรกของเนื้อเพลง “Tompkins Square Park” จากอัลบั้ม Wilder Mind เมื่อปี 2015 ของ มัมฟอร์ด แอนด์ ซันส์ ผลงานที่ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงแห่งสีสันดนตรีของพวกเขา จากโฟล์คสู่ร็อค ซึ่งกลายมาเป็นแนวทางหลักของวง ณ ปัจจุบัน แล้วทำไมต้องเขียนถึงเพลงนี้? ก็เพราะนี่เป็นเพลงที่หลายคนสงสัยว่าอะไรคือเหตุผลที่ มัมฟอร์ด แอนด์ ซันส์ วงดนตรีจากอังกฤษถึงเลือกพูดถึงสถานที่เก่าแก่ในนิวยอร์คแห่งนี้ ซึ่งวงยังไม่เคยออกมาคลายข้อสงสัย แต่ถ้าจะมีคำตอบ ก็คงเป็นเพราะพวกเขาแต่งเพลงและทำเดโมเพลงกนี้กันที่สตูดิโอของ อารอน เดสส์เนอร์ สมาชิกวง เดอะ เนชั่นแนล ในบรู๊คลินเท่านั้น แต่ ทอมป์คินส์ สแควร์ พาร์ค ก็มีประวัติศาสตร์ที่สำคัญในตัวของมันเองอยู่ สวนสาธารณะรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตั้งอยู่ทางตะวันออกของนิวยอร์ก ใกล้แม่น้ำอีสต์ ย่านแมนฮัตตัน แต่เดิมเป็นที่ลุ่มน้ำเค็มขนาดใหญ่ที่สุดของเมือง เป็นแหล่งล่าสัตว์หาปลาของชาวพื้นเมือง ก่อนจะถูกนำมาทำเป็นสวนสาธารณะในปี 1834 ตั้งชื่อตาม แดเนียล ดี. ทอมป์คินส์ นายกเทศมนตรีเมืองนิวยอร์คและรองประธานาธิบดีสมัย จอห์น มอนโร เป็นประธานาธิบดี ด้วยความหวังว่าสวนสาธารณะแห่งนี้จะเป็นตัวแทนความรุ่งเรืองของเมือง ปี 1837 เกิดวิกฤติการเงินรุนแรงที่รู้จักกันในชื่อ The Panic of 1837 ทุกสิ่งทุกอย่างหยุดชะงักรวมทั้งการหยุดสร้างสวนชั่วคราว แต่ในที่สุด ทอมป์คินส์ สแควร์ พาร์ค ก็เปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 1850 ทว่า ความเรืองรองอย่างที่คาดหวังกลับไม่เคยมาถึง ช่วงทศวรรษ 1850-1870 ทอมป์คินส์ สแควร์ พาร์ค กลายเป็นจุดนัดพบของชนชั้นแรงงานในนิวยอร์ค รวมถึงผู้อพยพที่ออกมาต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมและเท่าเทียม มีเหตุการณ์ปะทะรุนแรงหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมประท้วงของผู้อพยพเรื่องตกงานและอดอยาก (1857), เป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์การปราบปรามผู้ชุมนุมซึ่งเป็นชนชั้นแรงงานผิวขาว ส่วนใหญ่เป็นชาวไอริช ที่ออกมาต่อต้านการผ่านร่างกฎหมายฉบับหนึ่งที่พวกเขามองว่าเป็นการเปิดโอกาสให้คนผิวดำมีสิทธิ์มีเสียงมากขึ้นระหว่างวันที่ 13-16 กรกฎาคม 1863 ที่ก่อความเสียหายให้เมืองและมีผู้คนล้มตายจำนวนมาก, ต้นปี 1874 มีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับกลุ่มแรงงานนับพันคนในห้วงยามเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่อีกครั้ง (The Panic of 1873) ที่กินเวลาต่อเนื่องหลายปีหลังจากนั้น โชคดีที่เหตุการณ์ปะทะครั้งนี้ไม่มีใครเสียชีวิต และในปี 1877 พลเมืองจำนวนห้าพันต่อสู้กับกองกำลังพิทักษ์ชาติ เนื่องจากพวกเขาต้องการข้ไปฟังการปราศรัยของกลุ่มคอมมิวนิสต์ ผ่านไปหลายสิบปี ทอมป์คินส์ สแควร์ พาร์ค ยังไม่ได้ทำหน้าที่อย่างที่มันถูกคาดหวังไว้เมื่อคราวเริ่มสร้าง สวนสาธารณะแห่งนี้แม้จะไม่ได้เป็นแหล่งชุมนุมประท้วง แต่มันก็กลายเป็นแหล่งรวมปัญหาสังคมในสายตาของชาวเมือง กลายเป็นสถานที่ไม่ปลอดภัย เนื่องจากมีบรรดาคนไร้บ้านมาอยู่รวมกัน ตามมาด้วยปัญหาเรื่องยาเสพติด ทั้งการมั่วสุมและการค้ายา จนกระทั่งมีการกวาดล้างคนไร้บ้านให้ออกจากพื้นที่ในปี 1988 มีผู้บาดเจ็บถึง 38 ราย ที่มีเหตุการณ์สยองขวัญซ้อนอยู่ในนั้นนั่นคือเรื่องราวของ “คนขายเนื้อแห่ง ทอมป์คินส์ สแควร์” แดเนียล ราโควิทซ์ ที่ทำอาหารเลี้ยงคนไร้บ้านจากศพของ โมนิกา เบียร์เล แต่ถูกตัดสินว่าไม่มีความผิด (โอววว์) ทอมป์คินส์ สแควร์ พาร์ค ปิดปรับปรุงซ่อมแซมนานหนึ่งปี ก่อนเปิดให้บริการอีกครั้งกลางปี 1992 เต็มไปด้วยความร่มรื่นของพรรณไม้ สิ่งอำนวยความสะดวกและสันทนาการมากมาย เพื่อรองรับความต้องการของคนทุกรุ่นวัย ไม่ว่าจะเป็นสนามเด็กเล่น, สนามบาสเกตบอล-แฮนด์บอล, สนามกีฬาในร่ม รวมทั้งพื้นที่ให้สัตว์เลี้ยง และการจัดงานเทศกาลต่างๆ แปรเปลี่ยนภาพลักษณ์จากแหล่งมั่วสุมให้กลายเป็นสถานสันทนาการ-อย่างที่ควรจะเป็น “Oh babe, meet me in Tompkins Square Park / I wanna hold you in the dark / One last time / Just one last time” มัมฟอร์ด แอนด์ ซันส์ ไม่ได้เอ่ยถึงสวนสาธารณะแห่งนี้ในเชิงประวัติศาสตร์ แต่ใช้มันเป็นแค่ฉากหนึ่งในเพลงที่ว่าด้วยการขอร้องให้อดีตคนรักกลับมาหาสักครั้ง แต่ถึงอย่างนั้น เพลงรักไม่สมหวังเพลงนี้ ก็ทำให้คนฟังอยากรู้จัก ทอมป์คินส์ สแควร์ พาร์ค มากขึ้น และวันที่ 21 พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้ มัมฟอร์ด แอนด์ ซันส์ จะเปิดคอนเสิร์ตแรกของพวกเขาที่ จีเอ็มเอ็ม ไลฟ์ เฮ้าส์ @เซ็นทรัลเวิร์ลด์ แฟนเพลงอินดี้-โฟล์ค/ร็อคคุณภาพไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง ***Mumford & Sons Live in BKK จัดโดย ไลฟ์ เนชั่น บีอีซี-เทโร ซื้อบัตรได้ที่ ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ ทุกสาขา