คึกฤทธิ์วิทยายุทธ์ / ก๊วยเจ๋ง “ถ้าจะเขียนถึงฉัน ขอให้เขียนว่าฉันก็เป็นคนธรรมดาๆ คนหนึ่ง” ในตอนที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์มีอายุได้ 80 ปี ใน พ.ศ. 2534 ลูกศิษย์ลูกหาและผู้ที่เคารพนับถือท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้จัดงานใหญ่ฉลองวันเกิดเป็นพิเศษให้ท่าน สิ่งหนึ่งก็คือการก่อตั้ง “มูลนิธิคึกฤทธิ์ 80” (ที่ต่อมาสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงได้รับเข้าไว้ในพระราชูปถัมภ์) และมีการออกหนังสือเป็นที่ระลึกอีกเล่มหนึ่ง ชื่อว่า “คึกฤทธิ์ 80” ซึ่งผมก็ได้รับเกียรติให้ร่วมเขียนด้วย เรื่องที่ผมเขียนก็คือ “ใต้ถุนบ้านสวนพลู” เล่าถึงการที่ผมได้เข้ามาอยู่ที่บ้านสวนพลู และได้พบเห็นสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นมากมายใต้ถุนบ้านทรงไทยอันโด่งดังหลังนี้ ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นเพราะเจ้าของบ้านนี้ คือท่านอาจารย์คึกฤทธิ์นี้เป็น “ผู้วิเศษ” เพราะคนที่เข้ามายังบ้านของท่านมีทั้ง “คนดี – คนเลว” แต่ท่านก็สามารถจัดการกับผู้คนในทุกรูปแบบได้อย่างน่าสนใจ รวมถึงการที่หลายๆ คนก็มาได้ดิบได้ดีที่บ้านหลังนี้ (รวมทั้งผมด้วยคนหนึ่ง) และจำนวนไม่น้อยก็มาพบจุดจบหรือมีอันเป็นไปที่บ้านหลังนี้ (เช่นนักการเมืองและลูกศิษย์บางคน) โดยผมเขียนในทำนอง “เปรียบเปรย” ว่าท่านอาจารย์คึกฤทธิ์น่าจะมี “อิทธิฤทธิ์” อะไรเป็นพิเศษ ซึ่งผมทิ้งคำตอบไว้ในตอนท้ายว่า “มีแต่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เท่านั้นที่จะให้คำตอบได้” ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์คงได้อ่านข้อเขียนเรื่องนี้ของผม “อย่างวิเคราะห์” อยู่พอสมควร เพราะอีกหลายวันต่อมาหลังวันเกิดของท่านในปีนั้น ท่านได้บอกกับผมว่า “เขียนเสียจนคนเขาเชื่อว่าฉันเป็นผู้วิเศษ แต่ที่จริงไม่ใช่ฉันหรอกที่เป็นผู้วิเศษ บ้านนี้มีอะไรๆ อีกเยอะแยะที่เป็นบันดลบันดาลให้เกิดสิ่งต่างๆ ขึ้น” ความจริงผมมี “แรงบันดาลใจ” จากข้อเขียนของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ในบทความซอยสวนพลูที่ท่านเขียนลงสยามรัฐอยู่ช่วงหนึ่งใน พ.ศ. 2531 อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับคนไทย ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย และการอยู่บ้านไทย และได้นำมารวบรวมจัดพิมพ์เป็นหนังสือเล่มหนึ่ง โดยมีเนื้อหาเชื่อมโยงกับวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์มีความเห็นไว้ว่า เป็นวรรณคดีที่ถ่ายทอด “ชีวิตไทยๆ” ได้อย่างลึกซึ้ง ใช้ชื่อหนังสือว่า “ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่” โดยได้จัดทำเทปเพลงไทยเดิมที่ประกอบด้วยบทเสภาในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ที่มีการเอามาทำเป็นบทขับร้องในละครนอกเรื่องขุนช้างขุนแผน ที่มีการแต่งไว้และแสดงมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 ซึ่งแทบทุกเพลงเป็นบทขับร้องที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จำจนขึ้นใจ และสามารถขับร้องได้อยู่หลายเพลง หนังสือเล่มนี้ตามความเข้าใจของผม น่าจะเป็นหนังสือที่รวมเล่มจากบทความในหนังสือพิมพ์สยามรัฐที่ทำขึ้นเป็นเล่มท้ายๆ หรือไม่ก็อาจจะเป็น “เล่มสุดท้าย” เพราะหลังจากนั้นท่านก็เขียนแต่บทความทั่วๆ ไป ตามเหตุการณ์ที่ผ่านไป และตามความสนใจของท่าน รวมถึงที่ท่านคิดว่าน่าจะเป็นที่สนใจและเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน ในขณะที่ท่านก็ชรามากขึ้น สุขภาพไม่ค่อยแข็งแรงดังเดิม จากที่เคยเขียนบทความต่างๆ ด้วยลายมือ ก็ต้องหันมาใช้การพูดใส่เทปเสียง แล้วส่งให้คนถอดเทปแล้วส่งแฟกซ์มาให้ท่านตรวจวันต่อวัน แต่หลังๆ ท่านก็อนุญาตให้บรรณาธิการช่วยตรวจและพิมพ์ได้เลย จนกระทั่งในปี 2536 ก่อนวันเกิดในปีนั้นของท่าน ทางโรงพยาบาลสมิติเวชที่ดูแลอาการป่วยไข้ของท่านมาโดยตลอด ได้ขอให้ท่านเข้าไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล เพื่อให้หมอและพยาบาลได้ดูแลท่านอย่างใกล้ชิด แล้วท่านก็ไม่ได้ออกมาจากโรงพยาบาลอีกเลย กระทั่งถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 9 ตุลาคม 2538 หลังจากที่ผมได้เขียนเรื่อง “ใต้ถุนบ้านสวนพลู” พร้อมกับได้เห็นว่าท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ชื่นชมในข้อเขียนนี้อยู่บ้าง ผมจึงเอ่ยกับท่านอย่างเขินๆ ในเช้าวันหนึ่งว่า ผมอยากเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับท่าน โดยอยากจะเขียนถึง “สิ่งดีๆ” ที่ท่านทำให้กับบ้านเมืองและกับผู้คนที่เป็นลูกศิษย์ลูกหาของท่านอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งท่านก็นิ่งอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนที่จะตอบว่า “ไว้ให้ฉันตายก่อน” ที่ตอนแรกผมก็ใจเสีย เพราะฟังดูเหมือนว่าท่านคงไม่อนุญาต เนื่องจากความตายของคนนั้นกำหนดไม่ได้ จึงฟังดูเหมือนว่าไม่รู้เมื่อไหร่ที่จะได้เขียน แต่พอท่านพูดอีกประโยคต่อมา คือข้อความที่ผมนำมาโปรยไว้ในบรรทัดแรกของบทความนี้ ก็ทำให้ค่อยใจชื้นดีขึ้น และมีความมั่นใจว่าคงจะได้เขียนถึงท่านในสักวันหนึ่งข้างหน้า ในคราวที่พระราชทานเพลิงศพท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ พร้อมด้วย สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาพระราชทานเพลิง ณ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2538 ผมได้บวชเพื่ออุทิศเป็นกุศลแก่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ร่วมกับรองศาสตราจารย์จักรกฤษณ์ ดวงพัตรา เราสองคนได้ออกสูจิบัตรที่ระลึกในงานบวชนั้นเล่มหนึ่ง โดยอาจารย์จักรกฤษณ์ได้เขียนถึง “ความเป็นคึกฤทธิ์” ตั้งแต่การเกิดของท่าน จนเติบโตมาและได้ทำสิ่งต่างๆ ที่เป็นคุณงามความดีแก่บ้านเมืองไว้มากมาย จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรม ส่วนผมได้เขียนบทกลอนจำนวน 52 บท พรรนาถึงความเป็นคึกฤทธิ์อีกเช่นกัน ให้ชื่อบทกลอนชุดนั้นว่า “คึกฤทธิ์วิทยานุสรณ์” โดยบทกลอนทั้งหมดคือ “การตกผลึก” จากความเข้าใจของผมที่ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ จากท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ รวมทั้ง “ความซาบซึ้งใจ” และเพื่อ “ระลึกถึงพระคุณ” อันมากมายมหาศาลที่ผมไม่อาจจะตอบแทนได้ทั้งหมดในชั่วชีวิตนี้ ผมจะพยายามสรุปจบบทความชุด “คึกฤทธิ์วิทยายุทธ์” ให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ เพราะยังมี “วิชาความรู้” ที่ผมได้รับมาจากท่านอาจารย์คึกฤทธิ์อยู่อีกจำนวนหนึ่ง แล้วถ้ายังมีท่านผู้อ่านให้ความสนใจและทางหนังสือพิมพ์สยามรัฐยังต้องการความบทความในแนวนี้อยู่ ผมก็อยากจะขออนุญาตนำบทกลอน “คึกฤทธิ์วิทยานุสรณ์” นั้นมานำเสนอต่อไป อย่างน้อยก็เป็นเพียงความหวังเล็กๆ ว่า จะได้ตอบแทนพระคุณของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์นี้อีกสักเล็กน้อย ที่จะได้ทำให้ผู้คนได้ระลึกถึง “คนดีคนหนึ่งของประเทศไทย” รวมถึงประโยชน์ที่อาจจะได้แก่ท่านที่สนใจ ส่วนหนึ่งก็คือการกระทำซึ่งคุณประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองของคนไทยคนหนึ่งที่ชื่อ “ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช” คุณประโยชน์หรือคุณงามความดีที่ผมและคนที่เคารพรักท่านเห็นว่าเป็นเรื่องที่ “พิเศษสุด” แต่ตัวท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เองกลับอยากให้เห็นว่า “เป็นคุณงามความดีทั่วๆ ไป”