เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 15 พฤศจิกายน ที่หอประชุมเปรม ติณสูลานนท์ ด้านหลังศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา เป็นประธานการประชุมชี้แจงรูปแบบรายละเอียดโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่และการบริหารจัดการจราจรช่วงผ่านเมือง นครราชสีมา โดยมีนายเกษม ศุภรานนท์ ส.ส เขต 1 จ.นครราชสีมา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะ ส.ส เจ้าของพื้นที่โครงการ ฯ นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา ในฐานะตัวแทนประชาชนในพื้นที่ดำเนินโครงการ ฯ ผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง องค์เอกชนและประชาชนจำนวนกว่า 300 คน รับฟังนายสุชีพ สุขสว่าง วิศวกรใหญ่ ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ชี้แจงรูปแบบโครงการ ฯ ตามข้อสั่งการของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กรณีมติส่วนใหญ่ได้เลือกรูปแบบการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ สัญญา 2 ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ เมื่อผ่านสะพานต่างระดับสามแยกปักธงชัยและลงสู่พื้นดินหลังผ่านสถานีชุมทางถนนจิระ รวมระยะทาง 5.40 กม. งบ 11,518 ล้านบาท เริ่มดำเนินการเดือนกรกฎาคม 2563 ถึงธันวาคม 2565 โจทย์สำคัญมีความจำเป็นต้องรื้อถอนสะพานข้ามทางรถไฟโรงแรมสีมาธานี ส่งผลให้ถนนมิตรภาพ ช่วงหลักกิโลเมตรที่ 142 เป็นพื้นผิวจราจรแนวราบกับพื้นดินและผลกระทบการจราจรในช่วงก่อสร้างและต้องสร้างทางลอดทดแทน วิถีชีวิต ชุมชนรอบข้างจะเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ทั้งนี้วิศวกร รฟท. และบริษัทที่ปรึกษาโครงการ ฯ ไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดได้มากนัก เนื่องจากรูปแบบดังกล่าวอยู่นอกขอบเขตสัญญาจ้าง การอนุมัติขึ้นอยู่กับ รฟท.และ คณะรัฐมนตรี เกรงงบอาจบานปลายและเป็นข้อผูกมัดหากไม่สามารถดำเนินการตามที่บอกกล่าว จึงชี้แจงเพียงขั้นตอนการรื้อถอนสะพาน ฯ โดยสร้างทางลอดใต้ทางรถไฟและระหว่างก่อสร้างซึ่งใช้เวลาประมาณ 3 ปี การจราจรช่วงดังกล่าวใช้ทางเบี่ยงข้ามทางรถไฟชั่วคราว ในที่ประชุมได้สอบถามข้อมูลค่อนข้างเข้มข้น เช่นความยาวของทางลอด จุดเริ่มและจุดสิ้นสุดพร้อมเสนอแนวทางค่อนข้างหลากหลาย ส่วนใหญ่เป็นห่วงผลกระทบการจราจรทั้งช่วงก่อสร้างที่ใช้เวลานานเกินความจำเป็นและหลังสิ้นสุดโครงการ รวมทั้งปัญหาน้ำท่วมและความปลอดภัยของผู้ใช้ทาง นายวิเชียร ฯ ผวจ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า บทสรุปเปลี่ยนสะพานข้างทางรถไฟเป็นทางลอดแทน ส่วนการบริหารจัดการจราจร เดิมทางคู่ขนานข้างสะพานมี 2 เลนไปกลับขยายเพิ่มเป็น 6 เลน ขาเข้า 3 เลนและขาออก 3 เลนและช่วงผ่านจุดตัดข้ามทางรถไฟใช้เครื่องกั้นทางรถไฟ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ส่วนสะพานแบริ่งหรือสะพานเหล็กชั่วคราว ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากโครงสร้างต้องใช้ตอม่อ ซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างถาวรและความสูงจะอยู่ในแนวเดียวกันกับทางรถไฟยกระดับรวมทั้งระยะความห่างเหลือพื้นที่ไม่เพียงพอในการสัญจร ในระหว่างก่อสร้างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อทั้งแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ 2 ทางหลวงชนบทนครราชสีมา ทน.นครราชสีมา จะเร่งปรับปรุงเส้นทางเชื่อมเข้าออกเมืองนครราชสีมาและเพิ่มช่องทางจราจรหรือขยายถนนให้มากที่สุด เพื่อบรรเทาปัญหาความคับคั่งของการจราจร ขั้นตอนต่อไปเมื่อได้ข้อสรุปจะนำเข้าสู่คณะกรรมการบริหาร รฟท. เมื่อมีมติเห็นชอบก็จะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติและประกาศหาผู้รับจ้างให้โครงการเดินหน้าต่อและเสร็จตามกำหนด นครราชสีมา/เกษม ชนาธินาถ