เคยสงสัยไหม ทำไมบางคนดื่มนม แล้วท้องเสีย Oryor.com ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีคำตอบ “ปกติแล้วหากดื่มนมวัว (โดยปกตินมจะมีน้ำตาลแลคโตสเป็นส่วนประกอบ) ซึ่งในร่างกายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จะมีเอนไซม์แลคเตสที่อยู่ในลำไส้เล็ก จะทำหน้าที่ย่อยแลคโตสได้ แต่หากเกิดภาวะขาดหรือพร่องแลคเตส แลคโตสจะไม่ถูกย่อย และหมักหมมอยู่ที่ลำไส้ใหญ่ ทำให้เกิดแก๊สในลำไส้และทำให้เกิดภาวะท้องเสีย อาการของผู้ที่ขาดเอนไซม์แลคเตส หรือมีภาวะพร่องเอนไซม์ (มีเอนไซม์แลคเตสน้อยกว่าปกติ) จะมีอาการผิดปกติทางลำไส้เกิดขึ้นหลังดื่มนมวัว มักมีอาการมีลมในลำไส้มาก ท้องอืด คลื่นไส้ หรือปวดบิด และในรายที่เป็นมาก อาจมีอาการท้องเสีย (ถ่ายเป็นน้ำ หรือถ่ายเหลว) ร่วมด้วย  โดยคนมักจะเข้าใจผิดว่า ภาวะขาด หรือพร่องเอนไซม์แลคเตส เหมือนกับการแพ้นมวัว (Milk Allergy) ซึ่งความจริงแล้วไม่เหมือนกัน เพราะอาการแพ้นมวัวเกิดจากการแพ้โปรตีนในนมวัว โดยอาจมีอาการแตกต่างกันในแต่ละคน เช่น มีผื่นคัน ลมพิษ หายใจลำบาก ปวดท้อง หรืออาเจียน การรักษาภาวะขาดหรือพร่องเอนไซม์แลคเตส  ได้แก่ 1. ให้งดหรือลดนมที่มีน้ำตาลแลคโตส   โดยควรบริโภคโปรตีนและแคลเซียมจากแหล่งอื่นแทน เช่น ดื่มนมถั่วเหลือง รับประทานไข่ ปลา เนื้อสัตว์ งา ถั่วต่างๆ เต้าหู้ ปลาเล็กปลาน้อย ปลากระป๋อง ผักใบเขียว  แทนนมวัว 2. สำหรับทารก ควรให้อาหารสำหรับทารกที่ทำจากแหล่งอื่น เช่น ถั่วเหลือง ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร 3. สำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่ ที่มีภาวะพร่องเอนไซม์แลคเตส อาจดื่มนมวัวครั้งละน้อย ๆ ต่อเนื่องเพื่อให้ร่างกายสร้างเอนไซม์แลคเตสเพิ่มขึ้น 4. บริโภคโยเกิร์ตแทนการดื่มนมวัว และถ้าต้องการดื่มนมและรับประทานผลิตภัณฑ์นมต่อไป ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรในการกินเอนไซม์แลคเตส (ในรูปของยาเม็ด)”