ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย โบลิเวียหรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า รัฐพหุชนชาติแห่งโบลิเลีย เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล โดยถูกปิดล้อมด้วยประเทศบราชิล เปรู ชิลี และปารากวัย มีที่ตั้งอยู่ช่วงกลางของทวีปอเมริกาใต้ มีประชากรประมาณ 11.05 ล้านคน เมืองหลวงชื่อซูเกรลาปาซ โบลิเวียผ่านวิบากกรรมมามากจากสงครามกองโจรภายในประเทศ และเป็นสถานที่ๆเซกูวารานักปฏิวัติสังคมนิยมมาถูกซีไอเอสังหารในช่วงที่พยายามมาทำสงครามปฏิวัติในประเทศนี้ โบลิเวียประกอบไปด้วยชนเผ่าพื้นเมือง และผู้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานหลายชาติพันธุ์ จึงตั้งชื่อว่าเป็นรัฐพหุชนชาติ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา การเมืองในโบลิเวียค่อนข้างมีเสถียรภาพ โดยมีประธานาธิบดีที่ครองอำนาจยาวนานมา 14 ปี ชื่อ อีโว โมราเรส แต่พอมาถึงสมัยการเลือกตั้งที่ 4 ของโมราเลส ซึ่งได้รับชัยชนะ แต่มีประชาชนจำนวนมากไม่พอใจเพราะเชื่อว่ามีการโกงการเลือกตั้ง จึงออกมาประท้วง ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ มีการเผาอาคารบ้านเรือน ที่พักของข้าราชการ และมีการจับตัวและสังหารชาวพื้นเมืองที่สนับสนุนโมราเลส เหตุการณ์ดำเนินไปหลายสัปดาห์ ท่ามกลางกระแสกดดันที่จะให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งนายโมราเลสก็ยอม แต่ครั้นเหตุการณ์บานปลาย ผู้บัญชาการกองทัพ และผู้บัญชาการตำรวจ และสมาชิกรัฐสภาฝ่ายค้าน กลับเรียกร้องว่าทางเดียวที่จะยุติปัญหาได้คือให้นายโมราเลสลาออก นายโมราเลสเห็นว่ายากจะรักษาตำแหน่งไว้ได้แล้วจึงประกาศลาออก ด้วยเหตุผลที่ไม่ต้องการเห็นความรุนแรงจลาจล และการเข่นฆ่าเพื่อนร่วมชาติอีกต่อไป นอกจากนี้นายอัลบาโร การ์เซีย ลิเรน่า รองประธานาธิบดีและนางเอเดรียน่า ซัคชา เทียร่า ประธานวุฒิสภาก็ประกาศลาออกเช่นกัน และต่างก็ลี้ภัยไปอยู่ที่เมกซิโก พร้อมด้วยประธานสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีก 20 คน อนึ่งกรรมการ การเลือกตั้ง 2 คน ยังถูกควบคุมตัวเป็นผู้ต้องหาว่ามีส่วนพัวพันในการทุจริตการเลือกตั้ง แม้จะยังไม่มีหลักฐานยืนยันแต่อย่างใด แม้แต่จาก OAS ที่เป็นองค์กรติดตามการเลือกตั้ง และเป็นผู้กล่าวหาผ่านทางสื่อของตน ทำให้เกิดการประท้วงขึ้น โดยการสนับสนุนของสื่ออีกหลายสื่อ อย่างไรก็ตามโดยข้อเท็จจริงมิได้มีหลักฐานหรือเหตุอันใดที่จะกล่าวหา เพราะผลที่ออกมาเป็นการนับอย่างไม่เป็นทางการของหน่วยติดตามการเลือกตั้งอิสระ และผลก็ปรากฏว่าโมราเลสชนะแบบหืดขึ้นคอ เพราะถ้าเขาไม่ชนะถึง 10% จากคู่แข่งจะต้องเลือกตั้งอีกรอบ แต่สื่อก็โหมประโคมกันเหมือนกับว่ามีการโกงการเลือกตั้งกันอย่างมโหฬาร ซึ่งถ้าพิจารณารายละเอียดจะพบว่าคะแนนที่เพิ่มขึ้นจนทำให้โมราเลสชนะมาจากท้องถิ่นยากจนและชนพื้นเมืองที่นิยมโมราเลส ถ้าอย่างนั้นทำไมโมราเลส ซึ่งได้ผงาดขึ้นมาภายหลัง การยึดอำนาจของกองทัพในปี 1952 ปี 1964 ปี 1970 และปี 1980 จึงได้ถูกทำลายลง ประการแรก การครองอำนาจนานย่อมมีจุดบกพร่องอยู่บ้าง แม้ว่าโมราเลสจะมีคุณูปการต่อชาวโบลิเวีย โดยเขาเป็นผู้บุกเบิกพัฒนาความเจริญ และยกระดับรายได้ชาวโบลิเวียให้สูงขึ้น ขจัดความยากจนให้ลดลง โดยเฉพาะการช่วยเหลือชาวพื้นเมืองที่ยากจนและอยู่ในที่ธุรกันดาร ด้วยเหตุนี้จึงสร้างความไม่พอใจแก่นายทุนบางกลุ่มที่เสียประโยชน์ จากแนวทางการกระจายรายได้ของโมราเลส ประการที่ 2 โบลิเวียสนับสนุนเวเนซูเอลลา มาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยฮูโก ชาเวส จนมาถึงมาดูโร ซึ่งทำให้สหรัฐฯไม่พอใจอย่างมาก ประการที่ 3 โบลิเวีย เป็นหนึ่งในสามของประเทศที่อุดมไปด้วยสินแร่ ลิเธียม ที่กำลังเป็นที่ต้องการมาก เพราะสามารถนำมาทำเป็นแบตเตอรี่ ที่เป็นแหล่งพลังงานสะอาด ในการใช้กับรถยนต์ จึงเป็นที่จับจ้องหมายตาของสหรัฐฯ ที่มีนโยบายตักตวง กอบโกยทรัพยากรมีค่าดังตัวอย่างการเข้ายึดบ่อน้ำมันในซีเรีย หรือการส่งเสริมกลุ่มกบฏในคองโก เพื่อหวังครอบครองโคบอลและโคแทน อันเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง เมื่อได้องค์ประกอบของเจตนารมณ์ที่ชัดเจนแล้ว ก็มาพิจารณาถึงวิถีการ ซึ่งเป็นของถนัดของซีไอเอ นั่นคือการสร้างกระแส โดยใช้องค์การ OAS ซึ่งเป็นองค์การติดตามการเลือกตั้งในลาตินอเมริกา และสหรัฐฯให้เงินสนับสนุนกว่า 60% ส่วน OAS นั้นเคยมีผลงานที่ลือลั่นมาแล้วในการพลิกพลิ้วผลการเลือกตั้งในเฮติ ตั้งแต่ปี 2000 ที่โจมตีว่าการเลือกตั้งในเฮติไม่โปร่งใส และมีผลทำให้ต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯตัดเงินช่วยเหลือ จนทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจของเฮติย่ำแย่ ตลอดเวลาก็ใช้สื่อโจมตีรัฐบาลจนสถานการณ์สุกงอมก็สนับสนุนให้กองทัพออกมายึดอำนาจในปี 2004 ในปี 2011 เมื่อเฮติมีการเลือกตั้งก็บิดเบือนผลการเลือกตั้งโดยไม่มีหลักฐาน หรือเหตุผลใดๆมาสนับสนุนเลยเพื่อลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และเปิดทางให้มีการรัฐประหารในระยะต่อมา ดังนั้น OAS จึงเป็นตัวจักรสำคัญที่ไปปลุกกระแสฝูงชน พร้อมๆกับความร่วมมือจากกองทัพ และฝ่ายค้านที่ต้องการล้มล้างโมราเลส ส่วนเงินทุนในการจัดตั้งม๊อบก็ได้รับการสนับสนุนจากนายทุนที่เสียประโยชน์ และแม้ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนก็น่าเชื่อได้ว่าบางส่วนมาจากซีไอเอ และนายทุนที่หวังครอบครองสินแร่ ลิเธียมที่อุดมสมบูรณ์ เหมือนที่บริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯเคยให้ทุนสนับสนุนในการล้มประธานาธิบดีอาเยนเดแห่งชิลี เมื่อท่านสั่งยึดเหมืองทองแดงเป็นของรัฐ และบริษัทดังกล่าวต้องการทองแดงมาทำลวดในอุตสาหกรรมสื่อสารของบริษัทในขณะนั้น ยิ่งในยุคปัจจุบันการใช้สงครามข่าวสาร (Information Warfare) จุดกระแสได้ไม่ยาก ส่วนตัวแทนหรือรัฐบาลหุ่นที่สหรัฐฯเตรียมเอาไว้ก็คือ หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านที่มีตำแหน่งเป็นรองประธานวุฒิสภา อยู่ในขณะนี้ ที่น่าสงสารก็คือประชาชนชาวโบลิเวียที่ถูกหลอกถูกปั่นหัวให้เป็นเครื่องมือในการล้มล้างรัฐบาล โดยจุดประเด็นลุกฮือจราจลและเป็นเหตุให้กองทัพ ซึ่งเตรียมพร้อมอยู่แล้วเพราะเป็นผู้สนับสนุน และสร้างสถานการณ์เข้ายึดอำนาจ แต่การยึดอำนาจในครั้งนี้ผิดกว่าครั้งก่อนๆ เพราะไม่ต้องเคลื่อนกำลังออกมา เพียงแต่ยื่นคำขาดให้ประธานาธิบดีโมราเลส รองประธานาธิบดีและประธานวุฒิสภาลาออก เพื่อเปิดทางให้ Jeanine Anez หัวหน้าฝ่ายค้านที่ประกาศตัวล่วงหน้าไว้แล้วว่าจะมารับตำแหน่งประธานาธิบดี โมราเลสต้องยอมแต่โดยดี เพราะเขาถูกข่มขู่ฆ่าครอบครัวพี่น้อง และมีการส่งคนไปทำลายบ้านของเขาอีกด้วย ซึ่งนอกจากโมราเลส คนอื่นๆก็ถูกขู่ในทำนองเดียวกัน ในการนี้อดีตประธานาธิบดีบราซิล ที่ถูกจำคุกด้วยข้อหาคอร์รัปชั่นปีครึ่ง ก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเรื่องเลวร้าย เพราะตัวเขาเองก็ถูกความอยุติธรรมที่ทำให้ติดคุกโดยไม่มีหลักฐาน จากผู้พิพากษา ที่ต่อมาก็ได้เป็นรัฐมนตรียุติธรรม เรื่องของโบลิเวียนี่น่าจะเป็นบทเรียนสำหรับอีกหลายประเทศทีเดียว