กรมอนามัย แนะอุปกรณ์ลวกช้อน ไม่จำเป็น หากสะอาดตั้งแต่ขั้นตอนการล้างแล้ว แต่หากจะใช้ต้องเป็นอุปกรณ์เฉพาะ ความร้อนต้องไม่ต่ำกว่า 80-90 องศาฯ แช่ไม่ต่ำกว่า 4 นาที และต้องเปลี่ยนน้ำ นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงกรณีการแชร์ข่าวน้ำร้อนในหม้อหุงข้าวตาม food court ซึ่งมีอุณหภูมิแค่ 40-50 องศา ไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้และยังเพิ่มจำนวนเชื้อโรค เพราะหากไม่เปลี่ยนน้ำ เชื้อโรคที่ทนต่อความร้อนก็จะยิ่งรวมตัวนั้นว่า หากจำเป็นต้องใช้หม้อสำหรับลวกช้อน ส้อม ควรเลือกใช้อุปกรณ์หรือหม้อสำหรับลวกช้อน ส้อม ที่มีปรับตั้งอุณหภูมิไม่น้อยกว่า 80-90 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 4 นาที มีการดูแลเปลี่ยนถ่ายน้ำและให้ผู้ใช้หยิบแช่เอง ไม่ควรใช้หม้อหุงข้าวประเภทที่เคลือบผิวภาชนะด้วยเทฟลอน เซรามิค เพราะอาจเสี่ยงสารโลหะจำพวกตะกั่วและโครเมียม โดยอุปกรณ์ลวกช้อน ควรออกแบบมาโดยเฉพาะทำด้วยสแตนเลส สามารถตั้งอุณหภูมิได้ตามกำหนด และมีการป้องกันไฟฟ้ารั่ว ดูด ไม่ควรเลือกภาชนะที่มีลวดลายหรือมีสีทา เพราะอาจมีส่วนผสมของตะกั่ว ซึ่งสามารถสลายตัวได้เมื่อถูกความร้อน ส่วนเครื่องต้มน้ำไฟฟ้าแบบขั้วเปลือยซึ่งไม่ผ่านมาตรฐาน มอก. ไม่ควรนำมาใช้ เพราะเป็นอุปกรณ์ที่อันตรายตามคำสั่งของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 06/2529 นพ.ดนัยกล่าวว่า ความจริงแล้ว กระบวนการที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้ภาชนะสะอาดปลอดภัย คือการล้างที่ถูกหลักสุขาภิบาล ซึ่งต้องให้ความสำคัญที่สุด โดยเฉพาะขั้นตอนการล้างทำความสะอาดและ การผึ่งให้แห้งสนิท 3 ขั้นตอน คือ 1) ขจัดเศษอาหารและล้างด้วยน้ำผสมน้ำยาล้างจาน 2) ล้างด้วยน้ำสะอาดอย่างน้อย 2 ครั้ง และ 3) ฆ่าเชื้อโรคด้วยการทำให้แห้งโดยตากแดดหรืออบด้วยความร้อน สำหรับวิธีสังเกตความสะอาดของช้อน ส้อมและภาชนะต่างๆ ที่ผู้บริโภคทำได้คือ 1) ต้องทำจากวัสดุที่ไม่เป็นพิษ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รูปทรงทำความสะอาดง่าย ทนทานไม่แตกหักง่าย ใช้ถูกประเภทอาหาร 2) เมื่อล้างสะอาดแล้วเก็บคว่ำให้แห้ง และ 3) เก็บให้เป็นระเบียบ วางช้อนนอนเรียงเป็นทางเดียวในภาชนะโปร่งสะอาดหรือวางตั้งเอาด้ามขึ้นในภาชนะโปร่งสะอาดและมีการปกปิด เก็บสูงจากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร