เมื่อวันที่ 14 พ.ย.62 ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา รองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ได้เป็นประธานในพิธีเปิด “ศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อสะเต็มศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล” (MUSC Centre of Excellence in STEM Education) เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานกับเครือข่ายฯ ในการนำศาสตร์ด้านสะเต็มศึกษา (Science Technology Engineering and Mathematics Education: STEM Education) ไปต่อยอดกระบวนการจัดการศึกษา ที่มุ่งให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และสามารถบูรณาการความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี กระบวนการทางวิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ไปใช้ในการเชื่อมโยงและแก้ปัญหาในชีวิตจริงและการประกอบอาชีพในอนาคต รวมทั้งมีการพัฒนากระบวนการหรือผลผลิตใหม่ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 โดยในงานดังกล่าว ได้มีการเปิดตัว “ศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อสะเต็มศึกษาคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล” เป็นครั้งแรกในมหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบด้วยศูนย์ประสานงานฯ และห้องเรียนสะเต็ม ตั้งอยู่ ณ ชั้น 1 อาคารวิทยาศาสตร์ 4 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา รองศาสตราจารย์ ดร. วรรณพงษ์ เตรียมโพธิ์ ประธานกรรมการศูนย์ฯ เปิดเผยว่า ศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อสะเต็มศึกษา หรือที่รู้จักกันในนาม ศูนย์ MUSC-STEM จัดตั้งขึ้นภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ Euro-Asia Collaboration for Enhancing STEM Education (EASTEM) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนงบจาก Erusmus+ Programme ประกอบด้วยเครือข่ายความร่วมมือจาก 15 สถาบันที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในด้านสะเต็มศึกษา ทั้งในยุโรป (สวีเดน ลิทัวเนีย ฝรั่งเศส) และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย) โดยมีมหาวิทยาลัย Uppsala ประเทศสวีเดนเป็นสถาบันหลักของเครือข่าย รองศาสตราจารย์ ดร. วรรณพงษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทยเรามีเครือข่ายที่เข้มแข็งจาก 3 มหาวิทยาลัยที่ร่วมมือกัน คือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ศูนย์ภาคเหนือ) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ศูนย์ภาคใต้) และ มหาวิทยาลัยมหิดล (ศูนย์ภาคกลาง) โดยที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้สนับสนุนให้คณะวิทยาศาสตร์ เป็นผู้ประสานงานหลักในนามของมหาวิทยาลัย ซึ่งในงานเปิดตัวศูนย์ฯ ครั้งนี้ ได้มีผู้แทนจากสถาบันเครือข่ายฯ ในโครงการ EASTEM จาก 4 ประเทศ รวม 11 สถาบัน ได้ให้เกียรติมาร่วมชมการเปิดตัวศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อสะเต็มศึกษาในครั้งนี้ด้วย โดยผู้แทนจากสถาบันเครือข่ายฯ ในโครงการดังกล่าว ยังมีกำหนดการมาเข้าร่วมการประชุมวิชาการด้านสะเต็มศึกษา ในระหว่างวันที่ 14-16 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งมีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเจ้าภาพ เช่นกัน “ศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อสะเต็มศึกษาคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล จัดตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมด้านสะเต็มศึกษา และมีหน้าที่ประสานงานกับสถาบันเครือข่ายฯ ศูนย์ MUSC-STEM นี้ ประสานงานโดยกลุ่มสาขาวิชาชีวนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพอัจฉริยะ ของคณะฯ โดยมุ่งเป้าหมายให้เป็นการทำงานแบบสหสาขาที่ร่วมกันหลายหน่วยงาน ทั้งบุคลากรของคณะวิทยาศาสตร์เอง รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ทั้งและนอกในมหาวิทยาลัยมหิดล มีคณะกรรมการดำเนินงานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในหลายสาขา ทั้งชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ ไอที และวิศวกรรมศาสตร์ ที่มีประสบการณ์ด้านสะเต็มศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยตระหนักว่า “องค์ความรู้” นั้นต้องมีอย่างเชี่ยวชาญ และต้องสามารถสื่อสารเข้าไปในทุกส่วนได้ ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชนและภาคประชาชน เพื่อสามารถยกระดับของกระบวนการผลิตทรัพยากรบุคคล ที่มีศักยภาพความรู้ความสามารถสูงและมีทักษะทางอาชีพและสังคม ที่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมในสภาวะที่เศรษฐกิจการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพแบบเดิม ถูกทำให้หยุดชะงักในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนาอย่างรวดเร็ว (Technology Disruption)” รองศาสตราจารย์ ดร. วรรณพงษ์ กล่าว ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวว่าอ ศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อสะเต็มศึกษา จะช่วยผลักดันการเรียนการสอนและกิจกรรมการจัดฝึกอบรมด้านสะเต็มศึกษา มุ่งสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศในทุกระดับ ตั้งแต่การศึกษาภาคบังคับไปจนถึงระดับอุดมศึกษารวมถึงบุคลากรที่อยู่ในสายอาชีพต่างๆ เพื่อให้สามารถบูรณาการความรู้อย่างเข้าใจและเข้าถึงศาสตร์ที่จำเป็นต่อการพัฒนาตนเอง สามารถเชื่อมโยงและแก้ปัญหาในการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพได้ โดยศูนย์ MUSC-STEM จะมีการประสานการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ทั้งกับสถาบันเครือข่ายฯ และภาคส่วนต่างๆ ทั้งรัฐเอกชน รวมทั้งองค์กรอิสระทั้งในและนอกประเทศ เพื่อเป้าหมายในการยกระดับการเรียนการสอนแบบบูรณาการของประเทศให้ทันสมัย ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และสามารถผลิตบัณฑิตที่มีทักษะความสามารถที่จำเป็นอันเป็นที่ต้องการของตลาดงานในยุคปัจจุบัน มีศักยภาพในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงสร้างสรรค์ให้กับเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมอย่างเป็นรูปธรรม +++++++++++++++++