จากการที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)ได้อนุมัติหลักเกณฑ์ประมูลคลื่น 5 G ใน 4 ย่านความถี่เป็นแพ็คเกจ โดยเตรียมนำไปจัดทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในต้นเดือนธ.ค.62 แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า จากการพิจารณาหลักเกณฑ์การประมูลคลื่น 5 จีใน 4 ย่านความถี่ย่าน 700 MHz,1800 MHz,2600 MHz และ 26 GHz โดยจะนำออกประมูลในช่วงต้นปี 2563 และกำหนดราคาประมูลขั้นต่ำที่ยังคงยึดถือหลักเกณฑ์ประมูลเดิมทุกกระเบียดนิ้ว ทำให้เห็นว่า กสทช. ยังคงไม่สามารถสร้างแรงจูงใจให้บริษัทสื่อสารเอกชนเข้าร่วมประมูลได้ โดยทั้งๆที่ทุกฝ่ายรู้กันเต็มอกว่า คลื่น 5จีที่จะนำออกประมูลนั้นเป็นคลื่นใหม่ เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ยังไม่เคยมีการใช้งานที่ใดในโลกมาก่อน ทำให้ไม่สามารถจะประเมินหรือคาดการณ์ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจที่แท้จริงได้ และไม่สามารถจะอ้างอิงหรือ Reference ความสำเร็จของการใช้งานคลื่นนี้ที่ใดในโลกได้ จำเป็นจะต้องมีการศึกษากันอย่างรอบด้าน แต่ กสทช.ยังคงนำเอาหลักเกณฑ์เดิมของการประมูลคลื่นในยุค 3G และ 4G มาใช้ จึงตั้งข้อสังเกตุว่า ไม่ต่างไปจากเหล้าใหม่ในขวดเก่า สำหรับก่อนหน้านี้ กสทช.ป่าวประกาศมาโดยตลอดว่า จะต้องมีการรีเซ็ตหลักเกณฑ์การประมูลใหม่เพื่อขับเคลื่อน 5 จีให้เกิดขึ้นในประเทศไทยได้ แต่เมื่อกสทช. ยังคงติดยึดและใช้หลักเกณฑ์การประมูลเดิมเช่นนี้ ทุกฝ่ายจึงได้แต่กังวล หวั่นประเทศไทยจะประสบความล้มเหลวในการขับเคลื่อน 5G ขณะที่หลักเกณฑ์การประมูลคลื่นทั้ง 4 ย่านความถี่ที่ กสทช.จะนำออกประมูลในต้นปี 2563 นั้นจะเห็นได้ว่า ในส่วนของหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ 700 MHz และ 1800 MHz ยังคงตั้งราคาประมูลขั้นต่ำจากเกณฑ์ราคาเดิมจากการประมูลครั้งก่อน โดยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงราคาตั้งต้นประมูลหรือปรับลดลงแต่อย่างใด ทั้งที่เป้าหมายการใช้งานคลื่นความถี่ในครั้งนี้เป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นที่ใดในโลกมาก่อน ส่วนคลื่น 2600 MHz นั้นถือเป็นคลื่นใหม่ที่ไม่มีประเทศใดใช้มาก่อนนอกจากประเทศจีนที่มีการทดลองนำมาใช้รองรับ 5 Gและ กสทช.คงคิดว่าเมื่อจีนนำร่องใช้ 5 Gบนคลื่นนี้ จีนที่เป็นตลาดใหญ่ที่สุดของโลกนั้น คงจะทำให้ประเทศอื่นๆต้องใช้คลื่นเดียวกันตามมา ทำให้ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ 2 ของโลกที่มีการใช้งานคลื่น 5G บนย่านความถี่ดังกล่าว โดยการที่ กสทช.ตัดสินใจนำคลื่นดังกล่าวมาใช้งานก่อนประเทศอื่นๆนั้น เท่ากับกสทช.กำลังเอาประเทศไทยเป็นหนูทดลองยาหรือไม่ ในขณะที่เกณฑ์ประมูลและการกำหนดราคาประมูลขั้นต่ำนั้น ก็ไม่มีที่มาที่ไปแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นคลื่นใหม่ จึงไม่มีรายงานผลการศึกษาใดๆมารองรับ ขณะที่ที่ระบุว่า จำเป็นจะต้องร่นเวลาการประมูลคลื่น 5 G ขึ้นมาเป็นต้นปี 63 เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเริ่มพัฒนา 5 Gให้ทันเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้ ที่จะมีการใช้งาน 5 G ในกลางปี 2563 นั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า อย่าลืมว่าเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย เวียดนามและสิงคโปร์นั้น ต่างใช้คลื่น 3,500 เมกะเฮิรตซ์เป็นคลื่นหลักของการเปิดให้บริการ 5G ทั้งสิ้น แต่ประเทศไทยกลับตัดสินใจไปใช้คลื่น 2600 MHz ซึ่งเป็นคลื่นใหม่ที่ไม่มีประเทศใดใช้มาก่อนในโลก “เหตุใดรัฐและ กสทช.ถึงไม่รอดูสถานการณ์ของโลกอีกสักนิด ซึ่งใช้เวลาไม่มาก และหากจะย้อนกลับไปพิจารณาเส้นทางประมูล 3 Gและ 4 Gก่อนหน้านั้นประเทศไทยเองก็ไม่ได้เป็นประเทศแรกของโลกแต่กว่าที่เราจะประมูล 3 Gได้ ก็แทบจะเป็นประเทศสุดท้ายของโลกด้วยซ้ำ แต่พอจะประมูล 5 G กลับอยากจะเป็นผู้นำโลกขึ้นมา ท่ามกลางความเสี่ยงที่ไม่มีใครบอกได้เลยว่า จะเป็นอย่างไร” ทั้งนี้หากการประมูลครั้งนี้เป็นการประมูลคลื่น 3-4 Gผู้ประกอบการย่อมสามารถจะประเมินตลาดสื่อสารที่จะเกิดขึ้นได้หมด เพราะทั่วโลกต่างมีการใช้งานกันอยู่แล้ว แต่เมื่อทุกอย่างตั้งอยู่บนสมมุติฐานแห่งการคาดเดาล้วนๆว่า 5G นั้น จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจจะยังประโยชน์ให้แก่อุตสาหกรรมต่างๆ หรือเข้ามาทดแทนแรงงานทดแทนการทำงาน อำนวยความสะดวกให้แก่ภาคอุตสาหกรรมจึงเป็นการประเมินหรือคาดการณ์ทั้งสิ้น ผิดกับคลื่น 4G ที่เราได้เห็นประเทศต่างๆใช้กันอย่างแพร่หลาย จึงมี Reference ที่สามารถจะประเมินมูลค่าที่เกิดขึ้นได้ สำหรับร่างหลักเกณฑ์การประมูล 5 Gที่กสทช.กำหนดจัดการประมูล 4 ย่านความถี่นั้น จะประมูล 4 ย่านความถี่ได้แก่ คลื่น 700,1800,2600 เมกะเฮิร์ตซ์(MHz) และ 26 กิกะเฮิร์ตซ์ (GHz) โดยมีการปรับราคาเริ่มต้นประมูลคลื่น 26 GHzจากเดิมอยู่ที่ 300 ล้านต่อใบอนุญาตขนาด 100 MHz เป็น 423 ล้านบาทโดยจะเปิดประมูลจำนวน 27 ใบอนุญาตรวม 2700 เมกะเฮิร์ตซ์ ส่วนคลื่น 700,คลื่น 1800 และ 2600 MHz นั้นยังคงเป็นเงื่อนไขเดิม โดยคลื่น 700 MHz ประมูล 3 ใบอนุญาตในราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 8,792 ล้านบาท/ใบอนุญาตขนาด 5 เมกะเฮิร์ตซ์ คลื่น 1800 MHz ประมูล 7 ใบอนุญาตๆ ละ 5 เมกะเฮิร์ตซ์ในราคาเริ่มต้น 12,486 ล้านบาท/ใบอนุญาต ส่วนคลื่น 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ประมูล 19 ใบอนุญาตๆ ละ 10 เมกะเฮิร์ตซ์ ในราคาเริ่มต้น 1,826 ล้านบาท/ใบอนุญาต โดยเตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะตั้งแต่ 13 พฤศจิกายน-13 ธันวาคม 2562 นี้และกำหนดจัดให้มีการประมูลในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563