"ชวน" ติงให้เคารพทำตามข้อบังคับสภาฯ ชี้สภาไม่ใช่ที่เรียกร้องผลประโยชน์-ทะเลาะกัน เผย ประชุมนัดพิเศษ 22 พ.ย. พิจารณาญัตติ 3 กลุ่ม ขณะที่ส.ส.พท.โวยอาหารสภาฯไม่ได้มาตรฐาน มีมาเฟียตามมาจากสภาฯเก่า ด้าน “เลขาสภาฯ”น้อมรับข้อท้วงติง วันที่ 14 พ.ย.เวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานกาประชุม โดยในช่วงแรกได้เปิดโอกาสให้สมาชิกได้หารือปัญหาร้องเรียนต่างๆ โดยนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ได้หารือขอให้สำนักงานเลขาธิการสภาฯ​ พิจารณามาตรฐานอาหารในสภาฯเพราะมีส.ส.บางส่วนมาเล่าให้ฟังว่ามีมาเฟียตามมาจากสภาฯเก่า นายชวน จึงให้นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ชี้แจง ว่า มาตรฐานของอาหารในสภาฯ จัดไว้ 3 ลักษณะคือ จัดให้สมาชิกที่ร่วมประชุมในคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ อีกส่วนอาหารที่สภาฯจัดให้สมาชิกในการประชุมสภาฯ และอาหารร้านค้าต่างๆ ที่สำนักงานเลขาฯอนุญาตให้เข้ามาขายในบริเวณสภาฯ เพื่อจำหน่ายให้กับข้าราชการบุคคลทั่วไป ซึ่งขอรับข้อท้วงติงไว้ทั้งหมด เพื่อไปปรับปรุงดำเนินการตามที่สมาชิกแจ้งความประสงค์ไว้ จากนั้นนายชวน ได้กล่าวขอบคุณส.ส.ที่ช่วยเป็นหูเป็นตานำเสนอความเห็นเพื่อปรับปรุงกิจการภายในสภาฯ ​อย่างไรก็ตามมีบางเรื่องที่ตนเข้าไปดูแลด้วยตนเอง อาทิ การรักษาความสะอาดห้องน้ำ ที่กำชับให้เข้าทำความสะอาดทันที เมื่อมีผู้ใช้บริการแล้วเสร็จและขอให้เพิ่มอุปกรณ์ทำความสะอาด การติดตั้งเครื่องปรับอากาศ พื้นที่พักคอยบริเวณชั้น 4 ของผู้มาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 หลังจากมีข้อร้องเรียนว่าอากาศร้อน ซึ่งล่าสุดบรรเทาปัญหาได้ หรือกรณีที่พบว่าเงินงบประมาณที่ใช้ของกรรมาธิการแต่ละคณะของสภาฯ พบว่าได้น้อยกว่า กรรมาธิการของวุฒิสภา ตนจึงได้ทำหนังสือไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ว่าเรื่องดังกล่าวไม่ถูกต้อง เพราะสภาฯที่มาจากการเลือกตั้งได้งบประมาณที่น้อยกว่า ซึ่งเป็นการจัดงบประมาณที่ไม่สมบูรณ์ นายชวน กล่าวด้วยว่า สำหรับการนัดประชุมสภาฯ นัดพิเศษ วันที่ 22 พ.ย. เวลา 09.30 น. จะพิจารณาญัตติทั่วไป ที่ค้างอยู่ในระเบียบวาระ จำนวน 111 เรื่อง และยังไม่ถูกพิจารณาเพราะมีญัตติด่วนเข้ามา หากไม่ทำเรื่องดังกล่าวจะเหมือนอดีต คือยุบสภา แล้วจะมีเรื่องค้างอยู่จำนวนมาก ทั้งนี้ได้มีการแยกเป็น 11 กลุ่ม อาทิ ญัตติกลุ่มแหล่งน้ำ มี 9 ญัตติ , ญัตติกลุ่มโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภา จำนวน 2 ญัตติ กลุ่มญัตติตั้งกมธ.ศึกษาตรวจสอบแนวทางแก้ปัญหาลูกหนี้การเกษตร จำนวน 7 ญัตติ ทั้งนี้ในสัปดาห์หน้าตนเตรียมเชิญผู้เสนอญัตติซึ่งจัดกลุ่มดังกล่าวมาหารือว่าหากจะพิจารณาร่วมกัน จะใช้เวลาเท่าไร เช่น 2-3 ชั่วโมง จากนั้นให้นำเวลาไปบริการกันเอง หากผ่าน 3 กลุ่มดังกล่าวได้ก็จะผ่านถึง 20 ญัตติ เป็นวิธีบริหารแนวใหม่ เพื่อให้ก่อนสิ้นสมัยประชุมไม่มีเรื่องค้างพิจารณาจำนวนมาก อย่างไรก็ตามตนจะขอหารือผู้เสนอญัตติ รวมถึงตัวแทนผู้ควบคุมเสียงจากฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านหารือเป็นการส่วนตัวในสัปดาห์หน้าด้วย ส่วนเรื่องเพื่อทราบจะบรรจุในวาระประชุมครั้งละ 3 เรื่องแทนจากเดิมที่บรรจุ 6-7 เรื่อง หากส.ส.สนใจศึกษาและอภิปรายเรื่องใดขอให้รับเอกสารที่หน่วยงานจัดส่งไปศึกษาล่วงหน้าเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่จะมีการบรรจุระเบียบวาระ เพื่อให้การอภิปรายเป็นประโยชน์มากที่สุด “ผมขอความร่วมมือจากสมาชิก ให้เคารพและปฏิบัติตามข้อบังคับ เพื่อให้สภานิติบัญญัติมีความน่าเชื่อถือ สภาฯ ไม่ใช่ที่เรียกร้องผลประโยชน์ หรือสถานที่ขัดแย้ง เพราะสภาฯ​คือสถานที่ที่เป็นปากเสียงของประชาชน สภาฯในฐานะผู้ออกกฎหมาย ต้องเป็นตัวอย่างผู้เคารพกฎหมาย อย่าให้สภาท้องถิ่นวิจารณ์ว่า สภาท้องถิ่นทะเลาะกันได้ เพราะสภาผู้แทนฯยังทะเลาะ” นายชวน กล่าว จากนั้นให้เข้าสู่เรื่องพิจารณาตามระเบียบวาระทันที