สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุ “ออกเดินทางสู่ขั้วโลกใต้! นักดาราศาสตร์ชาวไทยจาก #NARIT และตู้คอนเทนเนอร์ฉนวน #ช้างแวน ศึกษาผลกระทบของรังสีคอสมิกต่อโลก ในที่สุดการเดินทางเพื่อเก็บข้อมูลในโครงการวิจัย Latitude Survey Project ก็เริ่มขึ้นครับ โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยขั้วโลกจีน ส่งอุปกรณ์ตรวจวัดอนุภาคนิวตรอน บรรจุภายในตู้คอนเทนเนอร์ฉนวน “ช้างแวน” เดินทางไปกับเรือสำรวจวิจัย “เชว่หลง" (雪龍 : Xue Long) หรือ “เรือมังกรหิมะ” มุ่งหน้าสู่ทวีปแอนตาร์กติกาพร้อมคณะสำรวจวิจัยขั้วโลกใต้แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ครั้งที่ 36 (CHINARE-36) ซึ่งครั้งนี้มี “ตั๊ก-พงษ์พิจิตร ชวนรักษาสัตย์” ผู้ช่วยนักวิจัยของ NARIT ร่วมเดินทางไปกับเรือเพื่อควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ด้วย เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ที่ผ่านมา เรือสำรวจวิจัยเชว่หลงออกจากท่าเรือในเขตผู่ตง เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน มุ่งหน้าสู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ผ่านทะเลฟิลิปปินส์ ก่อนจะข้ามเส้นศูนย์สูตรในวันที่ 29 ตุลาคม ผ่านเกาะปาปัวนิวกินีแล้วล่องใต้เลียบชายฝั่งรัฐควีนส์แลนด์ แล้วเข้าเทียบท่าที่เมืองโฮบาร์ต บนเกาะแทสมาเนีย ประเทศออสเตรเลียในเช้าวันที่ 7 พฤศจิกายน จากนั้นเตรียมการสำหรับเดินทางสู่ขั้วโลกใต้ต่อไป เมื่อออกจากท่าเรือโฮบาร์ต เรือสำรวจวิจัยเชว่หลงจะมุ่งหน้าไปทางตะวันตกเฉียงใต้ จุดหมายคือสถานีวิจัยจงซาน (中山站:Zhong Shan Station) ซึ่งเป็นประตูหลักสู่สถานีวิจัยของจีนอีกสองแห่งที่อยู่ลึกเข้าไปในทวีปแอนตาร์กติกา จุดประสงค์เพื่อถ่ายเทสัมภาระที่จะใช้ในภารกิจสำรวจและวิจัยในรอบปีที่จะมาถึง ในช่วงแรกมีผู้ร่วมเดินทางด้วยกันทั้งสิ้น 107 คน แบ่งเป็นลูกเรือ นักวิจัยที่ทำวิจัยบนเรือ นักวิจัยที่เดินทางไปทำวิจัยบริเวณขั้วโลกใต้ รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่จะเข้าประจำสถานีวิจัยของจีนในแอนตาร์กติกาทั้ง 4 แห่ง บรรยากาศของการเดินทางเต็มไปด้วยความครึกครื้น ต่างคนต่างทำความรู้จักเพื่อนใหม่ซึ่งมาจากหลากหลายมณฑลของจีน และแต่ละคนล้วนรู้สึกตื่นเต้นต่อภารกิจที่รอตนอยู่ที่ขั้วโลกใต้ สำหรับงานวิจัยในครั้งนี้ จุดมุ่งหมายหลักของการส่งอุปกรณ์ตรวจวัดรังสีคอสมิกไปกับเรือสำรวจวิจัยเชว่หลงคือการเก็บข้อมูลปริมาณของอนุภาคนิวตรอนที่สามารถผ่านชั้นบรรยากาศของโลกเข้ามาได้ในแต่ละตำแหน่งละติจูด ซึ่งความเข้มข้นของอนุภาคดังกล่าวจะเป็นข้อมูลสำคัญที่นำไปสู่การเข้าใจกระบวนการผลิตนิวตรอนจากอวกาศ ที่มาจากทั้งดวงอาทิตย์ และใจกลางกาแลกซีทางช้างเผือก เนื่องจากอนุภาคจากอวกาศเหล่านี้ส่งผลโดยตรงต่อสภาพภูมิอวกาศของโลก อันเป็นปัจจัยพื้นฐานในการสร้างระบบ โทรคมนาคมที่มีเสถียรภาพ (ภายในตู้ช้างแวนมีหลอดหัววัด 3 หลอดซึ่งใช้แก๊สโบรอนไตรฟลูออไรด์ (BF3) เป็นตัวทำปฏิกิริยากับอนุภาคที่เข้ามาเพื่อนับจำนวนอนุภาค) เรียกได้ว่าโครงการ Latitude Survey Project เป็นอีกหนึ่งงานวิจัยรากฐานที่จะถูกนำไปต่อยอดเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ในอนาคตนั่นเองครับ NARIT จะนำความคืบหน้าของการสำรวจวิจัยครั้งนี้มาเล่าให้ฟังกันอีกเรื่อยๆ มาร่วมส่งกำลังใจให้นักดาราศาสตร์ไทยของพวกเรา และติดตามเรื่องราวกันได้ในตอนต่อไปครับ! ข้อมูลและภาพ : พงษ์พิจิตร ชวนรักษาสัตย์”