"จุรินทร์-เฉลิมชัย" จับมือลุยขายยาง ดูดซัพพลายออก กระตุ้นยกระดับราคา เสริมคู่โครงการประกันรายได้ชาวสวนยาง วันที่ 13 พ.ย.62 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ พร้อมด้วยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ และนายสุนันท์ นวลพรหมสกุล รักษาการผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วมแถลงข่าวการขายยาง เพิ่มปริมาณการส่งออก นายจุรินทร์ กล่าวว่า ภายหลังจากครม.มีมติเห็นชอบมาตรการประกันรายได้ชาวสวนยาง ในวันที่ 25 ตค 2562 กยท ได้เริ่มกระบวนการโอนเงิน ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางแล้ว โดยต้องมีการตรวจสวนด้วย จึงต้องใช้เวลา ระหว่างนี้ทยอยโอน ถ้ายังมีปัญหาตรวจไม่จบก็จะเร่งให้ตรวจจบและเร่งโอนเงินหลังวันที่ 15 ได้ แต่งวดถัดไปจะโอน 1 มกราคม 2563 และ 1 มีนาคม 2563 โดยไม่ต้องตรวจสวนยางอีก และขอเรียนว่าผู้ถือบัตรสีชมพู สามารถรับเงินส่วนต่างได้ โดย ครม.เห็นชอบแล้ว นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเสริม ที่สำคัญดังนี้โครงการส่งเสริม ลดการปลูกยางเชิงเดี่ยว สร้างรายได้ให้เกษตรกรยามราคายางตกต่ำ โครงการเพิ่มการใช้ยางในประเทศ ให้ส่วนราชการใช้ยาง โดยให้ กยท. สรุป เสนอ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อเสนอ ครม. ต่อไป และขอความร่วมมือจากเอกชน ทั้งนี้ rubber city ขยายการใช้ยางเป็น 10000 ตันแล้ว และยังมีการขยายตลาด ซึ่งสำคัญมาก โดยจะร่วมมือกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ และ กยท. "ก่อนหน้านี้ผมได้นำภาคเอกชน และการยาง เปิดตลาดที่อินเดีย 100,000 ตัน 7.5 พันล้านบาท สำหรับวันนี้ มีความคืบหน้าที่จะแจ้งให้ประชาชนและเกษตรกรทราบ คือ การยางแห่งประเทศไทย โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สามารถเจรจาซื้อขายยางพาราระหว่างประเทศกับผู้ซื้อเบื้องต้นจำนวน 2 ราย คือ บริษัทเอกชนจากจีน ซึ่งมีการลงนาม MOU รองรับแล้ว เพื่อซื้อยาง STR 20 ปริมาณ 60,480 ตัน และปริษัทเอกชนจากฮ่องกง ซึ่งมีการลงนาม MOU รองรับแล้ว เพื่อซื้อยาง STR 20 ปริมาณ 100,000 ตัน และยางแผ่นรมควันชั้น 3 อัดก้อน 100,000 ตัน รวมปริมาณการซื้อขายรอบนี้ ทั้งสิ้น 260,480 ตัน มูลค่าไม่น่าจะต่ำกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท"นายจุรินทร์ กล่าว หลังจากนี้ กยท. จะรับซื้อยางโดยตรงจากเกษตรและสถาบันที่ราคาชี้นำ มาขายต่อไป ส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อวงการยางพาราไทย ดังนี้ คือ 1.ได้ขยายช่องทางการจำหน่ายไปต่างประเทศ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านการตลาดของ กยท.และเพิ่มอำนาจการต่อรองในเวทีโลก 2. ยกระดับราคายางไแสู่ราคาเป้าหมายนำ และ3.สร้างแบรนด์ กยท. ให้เป็นที่ยอมรับในกลุ่มธุรกิจยางทั่วโลก เพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้นในอนาคต นอกเหนือจากการเจรจาซื้อขายโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในรอบนี้แล้ว ในวันที่ 15-19 พฤศจิกายน 2562 ทางกระทรวงพาณิชย์ นำโดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ) จะเดินทางไปทำหน้าที่เซลล์แมนประเทศต่อเนื่องที่ประเทศตุรกี-เยอรมนี ด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินโครงการ การประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารา ระยะที่ 1 วงเงินประมาณ 24,000 ล้านบาท ตามที่โยบายของรัฐบาลและตามคำแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา โดยสามารถ "ทำได้ไว ทำได้จริง" ภายในเวลาเพียง 98 วันหลังการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา (25 กรกฎาคม 2562) โดยเกษตรกรชาวสวนยางได้ขึ้นทะเบียนและแจ้งพื้นที่ปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทย ก่อนวันที่ 12 สิงหาคม 2562 ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ เป็นสวนยางอายุ 7 ปี ขึ้นไป ราคาในโครงการประกันรายได้ คือ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี​ กก.ละ 60 บาท น้ำยางสด กก.ละ 57 บาท ยางก้อนถ้วย กก.ละ 23 บาท และเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับ กยท. จำนวน 1,711,252 ราย เป็นยางแผ่นดิบ 150,803 ราย น้ำยางสด 470,767 ราย และยางก้อนถ้วย 790,447 ราย โครงการนี้ Kick Off จ่ายเงินงวดแรกพร้อมกันทั่วประเทศไปแล้วเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นอกจากนั้นรัฐบาล และกระทรวงเกษตรฯ ได้มาตรการเสริม หรือ มาตรการคู่ขนาน คือ 1.โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อใช้ในการรวบรวมยาง (วงเงิน 10,000 ล้านบาท) เพื่อสนับสนุนสินเชื่อให้กับ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ที่มีการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับยางพารา นำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรวบรวมหรือรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรชาวสวนยาง และ สถาบันเกษตรกรได้รับอนุมัติวงเงินกู้ยืมจาก ธ.ก.ส. จำนวน 388 แห่ง เป็นเงินกว่า 7,000 ล้านบาท และได้เบิกเงินกู้จริงจาก ธ.ก.ส. จำนวน 375 แห่ง เป็นเงินกว่า 10,000 ล้านบาท 2.โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรเพื่อแปรรูปยางพารา (วงเงิน 5,000 ล้านบาท) ระยะเวลาดำเนินงาน 1 กันยายน 2557-31ธันวาคม 2563 3.โครงการสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (น้ำยางข้น) (วงเงิน 10,000 ล้านบาท) ระยะเวลาดำเนินงาน เดือนพฤษภาคม 2560-เมษายน 2562 4.โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน แก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) (20,000 ล้านบาท) เพื่อดูดซับยางออกจากระบบประมาณร้อยละ 11 ของผลผลิตยางแห้ง หรือ 350,000 ตัน จากผลผลิตยางแห้งทั้งปีที่มีประมาณ 3,200,000 ตัน 5.โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง (วงเงินสินเชื่อ 25,000 ล้านบาท) ระยะเวลาดำเนินงาน ปี 2559-2569 เป้าหมายเป็นผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางขั้นปลายน้ำ ทั้งผลิตภัณฑ์ยางจากน้ำยางข้นและผลิตภัณฑ์ยางจากยางแห้ง ที่ใช้ยางพาราในประเทศ เน้นแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางที่มีมูลค่าสูง เช่น ถุงมือยาง ยางยืด ยางล้อ ยางที่ใช้ในงานวิศวกรรม และอื่นๆ 6.โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางและสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง 7.โครงการสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางพารารายย่อย เพื่อประกอบอาชีพเสริม (พฤศจิกายน 2557-พฤศจิกายน 2562) (งบประมาณ 15,000 ล้านบาท) 8.โครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ไร่ละ 1,800 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ (แบ่งเป็นชาวสวน 1,100 บาท/คนกรีด 700 บาท) ระหว่าง ธันวาคม 2561-กันยายน 2562 (งบประมาณ 17,007 ล้านบาท ) 9.โครงการบริหารจัดการรักษาเสถียรภาพราคายางพารา ของสถาบันเกษตรกร โดยให้ใช้สินเชื่อจากสภาพคล่อง ธ.ก.ส. ในวงเงิน 5,000 ล้านบาทอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2561- 28 กุมภาพันธ์ 2563 10.โครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร สร้างถนนพาราซอยด์ซีเมนต์ (para soil-cement) ทั่วประเทศจำนวน 75,032 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 กม. รวมระยะทาง 75,032 กม.(ระยะเวลาดำเนินงาน เดือนธันวาคม 2561-กันยายน 2562 เงินงบประมาณ 92,327 ล้านบาท) 11.โครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐมุ่งผลักดันนโยบายการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐใช้วัตถุดิบยางพาราจากเกษตรกรชาวสวนยางและสถาบันเกษตรชาวสวนยาง โดยความต้องการใช้ยาง และ12.คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการยางที่มีปริมาณการรับซื้อตั้งแต่เดือนละ 5,000 กก.ขึ้นไป แจ้งปริมาณการซื้อ ปริมาณการจำหน่าย ปริมาณการใช้ไป ปริมาณคงเหลือ และสถานที่เก็บสินค้ายางพารา ตลอดจนให้จัดทำบัญชีคุมรายวัน เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ทุกเวลา ขณะที่ นายสุนันท์ นวลพรหมสกุล รักษาการผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า สถานการณ์ยางพาราประสบกับความท้าทายทั้งภายในและภายนอกประเทศ แต่ช่วงหลังราคายางเริ่มกระเตื้องขึ้น จาก 1.ความต้องการในตลาดโลกที่มากกว่าการผลิต โดยทั้งโลกใช้ยาง 13 ล้านตัน ใช้ 12.8 ล้านตัน ที่เกิดจาก 2.พื้นที่ปลูกลดลง เรื่องจากมีการปลูกแบบผสมผสาน ทำให้ราคาสูงขึ้น ในตลาดล่วงหน้าต่างๆในต่างประเทศ 3.ยังเกิดจากนโยบายยกระดับราคายางจากรัฐบาลด้วย และ4.ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้น ราคายางสังเคราะห์เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การยกระดับราคายางต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ขอเรียนว่าสถานการณ์ราคายางปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ