เปิดโมเดลธุรกิจ RBS เติบโตตามหลักการ SCA จากพิษต้มยำกุ้งที่ต้องแบกภาระหนี้ถึง 80-90 ล้านบาท กลับมาผงาดขึ้นเป็นอันดับ 1ของประเทศ ในธุรกิจผู้ผลิตชั้นวางสินค้า ชั้นโชว์สินค้าและเคาน์เตอร์ นพพล ชูกลิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท รีเทล บิซิเนส โซลูชั่นส์ จำกัด ให้สัมภาษณ์กับ "สยามรัฐ" ถึงหลักการทำธุรกิจ และโมเดลเพื่อสังคมอย่างยั่งยืน SCA หรือ Social Contribution Activity มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้ -กว่าจะมาถึงวันนี้ บริษัทรีเทล บิซิเนส โซลูชั่นส์ จำกัด หรือ RBS เริ่มต้นดำเนินธุรกิจเมื่อปี 2537 ด้วยพนักงานเพียง 3 คนและทุนเริ่มต้นเพียง 6 หมื่นบาท เพียง 3 ปีก็ต้องเผชิญวิกฤติค่าเงินบาทลอยตัวเมื่อปี 2540 ด้วยวัยเพียง 30 ปี มีหนี้ 80-90 ล้านบาท แต่ด้วยเติบโตมากับครอบครัวคนจีน เรียนรู้การทำธุกิจจากยายตามหลักการ "รักษาสัจจะ กตัญญู" ที่สร้างเครดิตกับซัพพลายเออร์ตลอดมา ทำให้ได้รับการสนับสนุนจากซัพพลายเออร์ที่ช่วยเหลือประคับประคองทำให้สามารถปลดหนี้ทั้งหมดได้โดยใช้เวลาเพียง 4 ปี กว่า 25 ปีที่บริษัท ผ่านเส้นทางอุปสรรคมามาก จนปัจจุบันมีกลุ่มธุรกิจที่ตนบริหารงานอยู่มีพนักงานหลายพันคน แต่เฉพาะที่ RBS มีประมาณ 400-500 คน แบ่งธุรกิจออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มรีเทลอีควิปเมนต์ ผลิตชั้นวางสินค้า ชั้นโชว์สินค้าและเคาน์เตอร์ ที่อยู่ในกลุ่มคอนวีเนียนสโตร์เราเคลมว่าเป็นที่ 1 ของประเทศ มีลูกค้าจากบริษัทชั้นนำอย่าง เซเว่นฯ โลตัสเอ็กเพรส จิฟฟี่ ลอว์สัน ปัจจุบันส่งออกไปยังภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในมาเลเซีย เมียนมาร์ รวมทั้งแบรนด์สินค้าเครื่องสำอางค์ของญี่ปุ่นและสินค้าจากจีน รวมทั้งกลุ่มกีฬาด้วย กลุ่มที่ 2 เป็นสินค้าเพื่อการตกแต่ง เราผลิตฝ้าเหล็กส่งออกไปญี่ปุ่น โดยปัจจุบันอาคารสมัยใหม่จะใช้เหล็กบางๆเพื่อปรับปรุงภายนอกหรือ Face-lift ซึ่งมีราคาถูกและเหมือนได้อาคารใหม่ตลอดเลา สำหรับลูกค้าในประเทศนั้นทำให้กับฟลายนาว ในส่วนของแฟคตอรี่เอาต์เลตทุกสาขา กลุ่มที่ 3 คืองานดีไซน์เฉพาะกับลูกค้าต่างประเทศ เช่น เชฟรอน ที่อเมริกาเซ็นสัญญาดูแลดิสเพลย์ และโชว์รูมฟอร์ด นอกจากนี้ยังมีบริษัทที่ดูแลอย่างใกล้ชิด ทำงานด้านดิจิตัล โซเชียลเน็ตเวิร์ก ขายสินค้าออนไลน์และคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งเอาไว้รองรับเทรนด์ธุรกิจในอนาคต "หลายคนจะบอกว่า รีเทลมันซันเซ็ตแล้วนะ มันซันเซ็ตจริง แต่ความต้องการของตลาดยังมีอยู่ หลายภูมิภาคโลก เราตั้งเป้าจะตั้งฐานในอินเดีย และไปแอฟฟริกาให้ได้ เพราะจะเป็นกลุ่มประเทศที่เจริญต่อจากจีน ภูมิภาคเหล่านี้ยังมีพื้นที่ทางธุรกิจ อาเซียนยังหอมหวล เออีซีกำลังเป็นกลุ่มประเทศที่ทุกประเทศในโลก ที่มหาอำนาจตะวันตกกำลังเข้ามา อินเดียจะเป็นเสือตัวต่อไปแทนจีน และแอฟริกาจะแทนอาเซียน มีคนถามว่าทำไมไม่ตั้งโรงงานผลิตในต่างประเทศ ผมยึดทฤษฎีเยอรมัน การไปลงทุนตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในต่างประเทศ ผมมองว่าไม่จำเป็นเราควรสร้างอาชีพให้คนไทย ทำกลไกผลักดันให้กลับคืนสู่ประเทศให้ได้มากที่สุด นี่คือความตั้งใจ เรามีความพร้อมจะไป แต่ไม่ไป อย่างทีเมียนมาร์เราตั้งบริษัทเรียบร้อยหมดแล้ว 25ปีขององค์กรเราที่เติบโตมา อีก 2 ปีอยู่ระหว่างการผลักดันเข้าตลาดหลักทรัพย์ เรามีความแข็งแกร่งที่คู่แข่งไม่มี ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่ยากมาก โปรดักส์ใคร ก็ก๊อปปี้ได้ มีเงิน 500-1000ล้านก็ทำได้ อุตสาหกรรมเหล็กพับก็ไม่ได้ยากอะไร แต่กระบวนการในการจัดการที่มีมาตรฐานสูงก๊อปปี้ไม่ได้" ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญ มาจากการบริหารงานบุคคล ที่มีระบบสวัสดิการที่ดี บุคคลากรที่จะขึ้นมาในระดับ ลีดเดอร์เมเนจเมนต์จะต้องจบปริญญาโท หากไม่จบเราจะส่งเรียนฟรี มีประบบประกันสุขภาพ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมาย โครงการอาหารกลางวัน และอาหารว่าง เงินกู้ปลอดดอกเบี้ย รวมทั้ง โครงการเงินออมซึ่งส่งผลต่อคุณภาพของการทำงาน -หลักการบริหารธุรกิจแบบSCA ปัจจุบันเราไม่ได้ทำเรื่อง CSR แล้ว ด้วยดูเหมือนว่าธุรกิจหลายภาคส่วนนำไปใช้กันมั่วไปหมด จนไม่รู้ว่าแก่นของ CSR คือ อะไร ทั้งนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากนักธุรกิจญี่ปุ่นในการทำ SCA คือ Social Contribution Activity ที่มีหลักการในการพัฒนาคน พัฒนาโครงสร้างไปพร้อมๆกับธุรกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งมี 3 มิติด้วยกัน คือ มิติที่ 1 คือโครงการสร้างห้องสมุดที่ดำเนินการในทุกสัปดาห์ ๆละแห่ง ซึ่งใช้งบประมาณประมาณ 1 แสนบาทต่อ 1 แห่ง ประกอบด้วย ชั้นวางหนังสือ โต๊ะอ่านหนังสือ และโต๊ะเรียนหนังสือ จำแนกตามขนาดนักรียน และหนังสือประเภทสร้างเสริมประสบการณ์ ผู้ที่ให้แนวคิดในเรื่องนี้คือ อาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ด้วยในช่วงปี 2554 เกิดปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ อาจารย์บวรศักดิ์ให้แนวคิดว่า ไปทำโมเดลช่วยเหลือผู้คนอย่างยั่งยืน อย่าเอาของไปให้แล้วจบ ซึ่งในชุมชนที่ถูกน้ำท่วมหนัก คือชุมชนนิมิตใหม่ที่ รังสิต จ.ปทุมธานี ตนรับทำในส่วนของห้องสมุดให้ใช้ร่วมกัน และได้นำแนวคิดนี้มาขยายผลกับโรงเรียนคุณธรรม ขณะที่ตอนนี้ทำร่วมกับโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเป็นหลัก โดยตั้งใจว่าจะทำให้ครบ 500 แห่งแล้วจะหยุดซึ่งเรามีกระบวนการติดตามหลังส่งมอบห้องสมุด คือการดูแลสั่งหนังสือไปเติม มีแอพฯกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนพูดคุย มอนิเตอร์จำนวนเด็กที่เข้าห้องสมุด และจะรีวีวครั้งใหญ่เมื่อครบ 500 แห่งซึ่งตอนนี้ทำมาแล้ว 400 แห่ง "สิ่งที่ได้กลับมาจากโครงการห้องสมุด คืองานของผมยากมาก เด็ก 4 คนต้องแบกเหล็ก4 ตัน ที่ยากมาก และ 6 ชั่วโมงต้องเสร็จ จากเชียงรายไปสุไหงโกลกต่อ ขับรถเป็นพันกิโล แต่ไม่ว่าจะไปเปิดห้องสมุดที่ไหน ผมไม่เคยไปเอง ผมให้ลูกน้องผมไป ทำให้ลูกน้องมีความภาคภูมิใจ เขาจะมีความสุขมากที่ได้ทำแบบนี้ พอเราทำแบบนี้ราไม่เคยเจอปัญหา พนักงานของเราขับรถ 70-80คันทั่วประเศ ไม่เคยโดนตำรวจแจ้งว่ามีสารเสพติด เราทำให้พวกเขาภาคภูมิใจ มีตัวตนมีที่ยืน พนักงานมีความสุข ก็ทำงานอย่างมีความสุข มีพื้นที่ในสังคม เป็นความภาคภูมิใจตนเอง" มิติที่ 2 ทำโครงการคืนคนดีสู่สังคม ร่วมกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยโดย ดร.กิตติพงษ กิตติยารักษ์ ซึ่ง เป็นผู้ใหญ่ที่ตนให้ความเคารพนับถือ เรื่องนี้เราคุ้นชินกับคำว่า "คืนคนดีสู่สังคม"และตั้งคำถามว่าทำไมเราคืนคนดีไม่ได้สักที นักโทษที่ออกจากคุกมามากกว่า 30 %จะย้อนกลับไปสู่เรือนจำใหม่ จึงได้ทำการศึกษาอย่างจริงจังตั้งแต่การคืนคนดีคืออะไร และไปดูอาชีพที่ทางเรือนจำฝึกให้กับนักโทษเพื่อส่งเสริมรายได้ใหักับนักโทษ แต่ข้อจำกัดในเรือนจำมีอยู่มากและอาจไม่ตอบโจทย์ในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งงานที่กรมราชทัณฑ์จัดให้นักโทษได้ฝึกนั้นมีประโยชน์ในแง่คุณค่าทางจิตใจและสมาธิ แต่บางประเภทออกมาประกอบอาชีพไม่ได้ ต้นทุนสูงและเวลาการทำงานต่อ 1 ชิ้นไม่ง่ายในการครองชีพสำหรับภาวะปัจจุบัน เราจึงต้องเพิ่มทักษะให้กับนักโทษอย่างแท้จริง จึงเริ่มต้นจากโครงการรับนักโทษจากเรือนจำทุกเช้า 40 คนมาทำงานที่โรงงานเพื่อเก็บข้อมูลทำการศึกษา โดยร่วมมือกับเรือนจำสมุทรปราการซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้กับโรงงาน ผ่านกระบวนการคัดกรอง ค้นหาคุณสมบัติที่แท้จริง มีกระบวนการทดสอบ และวิธีการทำร่วมกัน มีรายละเอียดที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและสภาพแวดล้อม ที่ละเอียดอ่อน ทั้งนี้เริ่มดำเนินการตามโครงการดังกล่าวมาได้ 1 ปีแล้ว "ผมได้ไปคุยกับนักโทษด้วยตนเอง สร้างความเชื่อมันให้เขา ว่าถ้าเขาเข้าโครงการนี้ เราอยากให้คนออกจากเรือนจำมาทำงานกับเราบนจุดยืนในสังคมได้ ไม่ต้องเกลัวใครว่าคุณคือนักโทษ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการต้องเปลี่ยนมายด์เซ็ต ไม่ใช่คิดเอาต้นทุนที่ถูก ก็จะไม่สามารถคืนดีสู่สังคมได้ อย่างผมทำ ตามกฎหมายต้องจ่ายตามค่าแรงขั้นต่ำ 8 ชั่วโมงทำงานคือ 325 บาท สำหรับพื้นที่สมุทรปราการ สนับสนุนชุดฟอร์ม อาหารกลางวัน รถรับ-ส่ง เจ้าหน้าที่ราชทัณที่มาดูแล เพื่อคืนคนดีสู่สังคมอย่างเป็นรูปธรรม หลังทำโครงการมา 1 ปี มีผลดีต่อธุรกิจ การสนับสนุนสังคมก็ต้องทำ ธุรกิจก็ต้องทำ ต้องตอบโจทย์ทุกภาคส่วน ถึงจะทำได้อย่างยั่งยืน ไม่มีใครควักเงินทุกวัน มันถมไม่เต็ม และจะเจอแค่คนที่ด้อยคุณภาพก็จะรออย่างเดียว แต่ทฤษฎี SCA พัฒนาคน พัฒนาโครงสร้างให้คนมั่นใจในโครงสร้าง ผลที่ได้ คือชิ้นงานดีขึ้น" นักโทษมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ และได้ชิ้นงานที่ดีขึ้น พนักงานปกติก็เริ่มพัฒนาตนเองด้วย ผู้ที่มาทำงานโรงงานจะได้รับใบประกาศรับรองความประพฤติและทักษะในการทำงานจากโรงงาน 1 ใบ และ ได้จากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานอีก 1 ใบ หมายความว่าถ้าเขาออกจากเรือนจำมา เขาสามารถนำใบรับรอง 2 ใบนี้ไปยื่นสมัครงานได้เลย แล้วเราก็จะเขียนไว้เลยว่าถ้าผู้ประกอบการต้องการทราบความประพฤติสามารถโทรศัพท์มาสอบถามได้นี่คือเป้าหมาย "สรุปแล้วผมมีกำไรเมื่อเทียบกับชิ้นงานที่ได้ แต่มันก็ต้องผ่านกระบวนการ แต่ขณะเดียวกัน เก็บข้อมูลมีปัญหาอุปสรรคมากมาย ขณะนี้ได้แจ้งทางรองประธานสภาอุตสาหกรรมไปแล้ว ท่านก็เห็นด้วยในหลักการ หากผู้ประกอบการอื่นๆจะเข้าร่วมโครงการนี้ นอกจากชิ้นงานที่ดี ประสบความสำเร็จ ตอนนี้มีนักโทษที่ออกมาจากเรือนจำ มาทำงานกับเรา มาในตำแหน่งที่ค่าจ้างรายวันได้เพิ่มเกือบวันละ 500 บาทได้ เพราะเขาสามารถพิสูจน์ตัวเอง เพื่อนร่วมงานก็ยอมรับ เขาสามารถควบคุมเครื่องจักรราคา 30 ล้านบาทได้ เขาสอบผ่านสามารถให้เงินเดือนเขาได้ โดยที่เพื่อนร่วมงานไม่ต่อต้าน" อีกทฤษฎีหนึ่งท่ี่ดำเนินการกับโครงการ คือ ไปตั้งคอลเซ็นเตอร์ในเรือนจำ เนื่องจากโครงการแรกทำได้เฉพาะผู้ชาย ผู้หญิงไม่สามารถออกมาภายนอกได้เนื่องจากมีเงื่อนไขมาก จึงเข้าไปติดตั้งซอฟต์แวร์ สร้างอาคาร เอาระบบคอมพิวเอร์ไปลง ทดสอบดูก็ปรากฎว่าเข้าเป้า พนักงานมีความมุ่งมั่น มีความสุขที่ได้คุยกับคนข้างนอกบ้าง โดยปกติพนักงานทั่วไปต้องใช้เวลาฝึกขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์เป็นเวลา 2 เดือน แต่สำหรับนักโทษหญิงใช้เวลาเพียงเดือนเดียวเท่านั้น ซึ่งคอลเซ็นเตอร์เป็นอาชีพที่ตลาดต้องการ นักโทษออกมาจากเรือนจำแล้ว อาชีพนี้ก็สามารถทำได้เพราะใช้ แค่เสียง ถือว่าเราลงทุนไปหลายล้านแต่ได้เรียนรู้กลไก และเงื่อนไขที่อย่างน้อยเราได้เห็นภาพ มิติที่ 3 คือการส่งชิ้นงานเข้าไปให้ทำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันมาแต่เดิมอยู่แล้ว โดยนักโทษที่ไม่ได้ออกมาปฏิบัติงานภายนอกแต่ทั้ง 3 มิตินี้ เราต้องการเรียนรู้การคืนคนดีสู่สังคม แบ่งภาคส่วนอะไรได้บ้าง ซึ่งค้นพบอะไรหลายเรื่องมากจากโครงการ เช่นผู้ประกอบการต้องเปลี่ยนมายด์เซ็ตใหม่ ถ้าหวังต้นทุนถูก เท่ากับฆ่านักโทษทางอ้อม กรมราชฑัณฑ์ต้องเปลี่ยนกฎระเบียบบางอย่างเพื่อเอื้อต่อโครงการนี้ แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขความปลอดภัย รวมทั้งการดูแลของเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ "เราทำภายใต้กรอบ SCA ดูแลพนักงาน เราเชื่อมั่นว่าดูแลพนักงานได้มากกว่ามาตรฐาน และข้อที่ 2 ทำห้องสมุด และโครงการ SCA ทำให้พนักงานมีจิตสำนึกในการให้ความช่วยเหลือ ภาวะวิกฤติต่างๆของประเทศ ได้รับความร่วมมือจากพนักงาน บริษัทแค่ให้การสนับสนุน" *จินตนา จันทร์ไพบูลย์