วันนี้ (11 พ.ย.) การแข่งขันของตลาด Food Delivery ในจังหวัดน่าน เริ่มมีความเข้มข้นมากขึ้น หลังจากที่ Food Man โดยการบริหารของ นายเอกชาติ อินทรพัฒน์ หรือ แบ้งค์ นักการเมืองท้องถิ่น ที่ประสบความสำเร็จจากธุรกิจบ้านจัดสรร และหันทำธุรกิจแอพพลิเคชั่นส่งอาหาร เพื่อตอบสนองพฤติกรรม ผู้บริโภคยุคนี้ ที่ต้องการความคล่องตัว สะดวก และรวดเร็ว เปิดตัวไปเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ด้วยค่าบริการเริ่มต้นเพียง 19 บาท ในระยะทาง 9 กิโลเมตร ซึ่งก็ได้สร้างความตื่นตัวตลาด Food Delivery มากขึ้น มีร้านค้าชื่อดังเข้าร่วมกว่า 100 ร้านค้า แต่เปิดตัวไปไม่นาน ล่าสุด “Food Panda” ผู้เล่นหน้าใหม่แต่รายใหญ่ ต้นตำหรับบริการส่งอาหารผ่านแอพฯ เข้ามาบุกตลาดในจังหวัดน่านอีกราย โดยมี นางสาวกัลย์ชฎารัตน์ ปัญญาวงค์ “น้องน้ำใจ” นักธุรกิจสาวรุ่นใหม่ ที่เริ่มเก็บเกี่ยวประสบการณ์กับเพื่อนกลุ่ม YEC และทำฟาร์มผักออแกนิค ไฮโดรโปนิกส์ในเมือง “น่านตะวันฟาร์ม” เป็นผู้บริหาร เข้าชิงตลาดสั่งอาหารผ่านแอพ ฯ เร่งเครื่องเดินหน้าสร้างฐานลูกค้า ดึงพันธมิตรร้านอาหารเครือข่ายเต็มสูบ พร้อมปล่อยโปรโมรชั่น จัดส่งฟรี ระยะ 6 กิโลเมตร และลดค่าอาหาร 50 % จนถึงสิ้นปี เพื่อดึงดูดลูกค้ามาใช้บริการ และยังมี Frabbit Food Delivery ที่ให้บริการส่งอาหาร และซื้อของ ส่งสินค้าทั่วจังหวัดน่าน ผ่านออนไลน์ สามารถเลือกดูร้านอาหารและสั่งผ่านเฟซบุ๊ค และไลน์ได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องเข้าที่แอปพลิเคชันอีกขั้นตอนหนึ่ง แบบเงียบๆ มานานกว่า 2 ปี ทั้งนี้ นายศรีรุ่ง รัตนศิลา ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดน่าน มองว่า แอปพลิเคชั่นสั่งอาหารมีส่วนช่วยให้มูลค่าของธุรกิจ Food Delivery มีการขยายตัวมากยิ่งขึ้น เปลี่ยนค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคในการเดินทางไปยังร้านอาหารมาเป็นค่าจัดส่งสินค้า ซึ่งรายได้ส่วนนี้ได้กระจายตัวไปยังส่วนต่างๆ ในห่วงโซ่ธุรกิจอาหาร อย่าง ผู้มารับจ้างขี่รถจักรยานยนต์ส่งอาหาร ได้มีทางเลือกของอาชีพ และสร้างรายได้เพิ่มเติม โดยการรับงานผ่านแอปพลิเคชั่นสั่งอาหารที่มีให้เลือกมากมาย แต่ก็ยังห่วงใยเรื่องความปลอดภัยในการขับขี่ อยากให้ผู้บริหารแอปพลิเคชันส่งอาหารต่างๆมีสวัสดิการรองรับ ขณะที่ นายปทุม จินะเสน รองประธานหอการค้าจังหวัดน่าน ให้ความเห็นว่า แอปพลิเคชั่นสั่งอาหารมีส่วนช่วยให้ร้านอาหารขนาดเล็กสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้ารายใหม่ๆเพิ่มขึ้น โดยที่ไม่ต้องเพิ่มทรัพยากรเงินทุนเพื่อหาทำเล และแรงงาน รวมทั้งอาหารประเภท Home Made ต่างๆ ก็สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นได้ ส่วนปัจจัยที่จะให้บริการ Delivery ประสบความสำเร็จได้นั้น จะต้องเน้นเรื่องของความรวดเร็วในการบริการ ความง่ายในการสั่ง ในการจ่ายเงิน ส่วนเรื่องราคาและส่วนลดต่างๆ ก็มีผลต่อการตัดสินใจสั่งซื้อของลูกค้าเช่นกัน อย่างไรก็ดียังมีความกังวลเงินไหลออกมากกว่าเงินไหลเข้าจังหวัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการแอปพลิเคชันส่งอาหาร จัดสรรค่าบริการที่ได้รับทั้งทางฝั่งร้านอาหารและผู้บริโภค และผู้รับจ้างส่งสัดส่วนอย่างไร ด้านฝั่งผู้บริโภคก็ได้แสดงความคิดเห็นหลากหลาย ซึ่งส่วนใหญ่พบปัญหาขนส่งที่ล่าช้า พื้นที่จัดส่งไม่ครอบคลุมความต้องการ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาจากความไม่สมบูรณ์ของตัว Application ที่ส่งผลให้สมาร์ทโฟนค้าง รวมไปถึงสั่งอาหารภาพไม่ตรงปก คุณภาพอาหารไม่ได้ตามที่โปรโมทไว้ อย่างไรก็ตาม โดยสรุปการเข้ามาของแอปพลิเคชั่นสั่งอาหาร (Food Delivery Application) ที่นอกจากจะตอบโจทย์ยุคตลาดออนไลน์ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป แต่ยังมีส่วนผลักดันให้ธุรกิจการจัดส่งอาหารไปยังแหล่งที่พัก มีการขยายตัว และมีส่วนช่วยเพิ่มการกระจายรายได้ให้กับผู้อยู่ห่วงโซ่ธุรกิจอาหารอีกด้วย.