เกษตรจังหวัดตรัง เฝ้าระวังโรคใบร่วงยางพารา เตือนเกษตรกรหากพบการแพร่ระบาด เสียหายรุนแรง ให้แจ้งยังสำนักงานเกษตรอำเภอเพื่อขอคำแนะนำในการแก้ไขปัญหา นายมานพ แก้วอัมพร เกษตรจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า โรคใบร่วงจากเชื้อรา Pestalotiopsis sp. เป็นโรคระบาดรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ในทุกสายพันธุ์ยาง ซึ่งพันธุ์ที่นิยมปลูกในภาคใต้ได้แก่ พันธุ์ RRIM 600 พันธุ์RRIT 251 และ พันธุ์ PB 311 รวมทั้งแปลงที่อยู่ใกล้เคียงกับแปลงที่เกิดโรคสามารถฉีดพ่นป้องกันได้ โดยเชื้อราชนิดนี้ทำลายต้นยางพันธุ์ที่ปลูกในพื้นที่นั้น ได้แก่ พันธุ์ RRIM 600 พันธุ์ RRIT 251 และพันธุ์ PB 31 นายมานพ เปิดเผยต่อไปว่า ลักษณะอาการที่ปรากฏบนใบยางแก่ เมื่อเริ่มแสดงอาการจะมีรอยช้ำเป็นกลุ่มเห็นชัดเจนด้านหลังใบหลังจากนั้นจะกลายเป็นวงค่อนข้างกลมสีเหลือง (Chlorosis) ต่อมาเนื้อเยื่อรอยสีเหลืองจะตายแห้ง(Necrosis) เป็นแผลกลมสีสนิมซีด โดยพบอาการจุดแผลต่อใบยางมากกว่า 1 แผลต่อมาใบจะเหลืองและร่วงในที่สุด อาการโรครุนแรงและใบร่วงมากหลังมีฝนตกหนักติดต่อกันอย่างน้อย 2 วัน ต้นยางอายุมากขนาดใหญ่ได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่าต้นยางอายุน้อยขนาดเล็ก “ทั้งนี้ เชื้อรานี้ ทำให้ใบร่วงได้กว่าร้อยละ 90 ทำให้ผลผลิตลดลงร้อยละ 30-50 พบได้ในทุกพันธ์ยางที่ปลูกและยากต่อการควบคุมป้องกัน แพร่ระบาดโดยลมและฝน อย่างไรก็ตาม หากพบการแพร่ระบาด เสียหายรุนแรง แนะนำให้เกษตรกรแจ้งประสานงานไปยังสำนักงานเกษตรอำเภอเพื่อขอคำแนะนำในการแก้ไขปัญหาต่อไป” นายมานพ กล่าว