“สุชาติ” ปัดข่าวรับเป็นประธาน กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ ย้ำไม่เคยตบปากรับคำหรือปฏิเสธ ระบุงานรองประธานสภาฯล้นมือ ทั้งระบบไอทีสภาใหม่ และต้องดัน “ห้องสุริยัน” ที่ประชุม ส.ส.ต้องจบในปีนี้ตามนโยบาย “ประธานชวน” วางสเปกหัวโต๊ะแก้ รธน. ควรเป็น “คนนอก” ชี้ทั้ง “อภิสิทธิ์-สุเทพ” เข้าสเปก วันที่ 10 พ.ย. นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 กล่าวถึงกระแสที่ระบุว่านายสุชาติได้ตอบรับการเป็น ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปัญหาและแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (กมธ.ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ) สภาผู้แทนราษฎร แล้วว่า ยืนยันว่ายังไม่ได้มีการตอบรับหรือปฏิเสธใดๆ คาดว่าข่าวที่ออกมาคงเป็นการหารือของผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างไม่เป็นทางการ และมีการพูดถึงชื่อของตนตามกระแสข่าวก่อนหน้านี้เท่านั้น อย่างไรก็ดีต้องยืนยันอีกครั้งว่า ไม่ได้สนใจที่จะเข้ามาเป็นประธาน กมธ.ชุดนี้ ซึ่งไม่เกี่ยวกับประเด็นที่ส่าเหมือนลดศักดิ์ศรีจากรองประธานสภาฯมาเป็นประธาน กมธ.อย่างที่มีการวิพากษ์วิจารณ์แต่อย่างใด แต่ด้วยภาระหน้าที่ในฐานะรองประธานสภาฯก็มีค่อนข้างมากอยู่แล้ว ทั้งในช่วงเปิดสมัยประชุมสภาฯที่ต้องควบคุมและศึกษาวาระประชุมโดยตลอด แล้วยังมีภารกิจสำคัญที่ได้รับมอบหมายจาก นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯที่ให้ตนกำกับดูแลในเรื่องระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอที) ของสภาฯ ที่ต้องเร่งรัดดำเนินการส่วนต่างๆของสัปปายะสภาสถาน หรืออาคารรัฐสภาแห่งใหม่ที่ใช้อยู่ในขณะนี้ ให้มีความพร้อมสมบูรณ์โดยเร็ว และยังมีในส่วนของห้องประชุมสุริยันที่เป็นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ ตามนโยบายของประธานสภาฯด้วย “ยอมรับว่าก่อนหน้านี้มีการทาบทามจากทางพรรคพลังประชารัฐ แต่ก็ได้แจ้งกลับไปถึงภาระหน้าที่ของรองประธานสภาฯที่ค่อนข้างหนักอยู่แล้วในขณะนี้ หากจะไปทำหน้าที่ประธาน กมธ.ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ที่เป็นเรื่องสำคัญและมีรายละเอียดมาก อาจทำได้ไม่เต็มที่ จึงเห็นว่ายังมีบุคคลอื่นที่เหมาะสมอีกมาก” นายสุชาติ ระบุ นายสุชาติ กล่าวถึงกระแสข่าวว่าพรรคพลังประชารัฐเตรียมเสนอบุคคลชื่อย่อ “ส.” เข้ามาเป็นประธาน กมธ.ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญฯว่า คงไม่ได้หมายถึงตน เพราะชื่อของตนเป็นที่เปิดเผยอยู่แล้ว ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่าผู้ที่จะเข้ามาประธาน กมธ.ชุดนี้ควรจะเป็นคนนอกเพื่อหลีกเลี่ยงในเรื่องของข้อครหาความมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือใบสั่งทางการเมือง ดังนั้นรายชื่อที่ทางพรรคประชาธิปัตย์เสนอขึ้นมาอย่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ ก็ถือว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ และเป็นที่ยอมรับ หรือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ที่ล่าสุดออกมาร่วมให้ความเห็นเกี่ยวกับการตั้ง กมธ.ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญฯก็มีความเหมาะสมเช่นกัน