เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น มักเกิดปัญหาเกี่ยวกับข้อตามมา หรือมีความเสียหายเกิดขึ้นกับข้อ เช่น ข้อแตก ข้อหัก ร่างกายจะดึงแคลเซียมออกมาเพื่อไปซ่อมแซมกระดูกส่วนที่เสื่อมนั้น อาทิ บริเวณข้อต่างๆ รวมถึงข้อไหล่ จนเกิดเป็นหินปูนหรือแคลเซียมเกาะกระดูก
ส่งผลให้กลายเป็นกระดูกงอกทับเส้นเอ็นข้อไหล่ ทำให้เจ็บปวดทรมาน ซึ่งหากมีความผิดปกตินี้เกิดขึ้นที่ข้อไหล่ อย่าวางใจ เพราะจะทำให้การดำเนินชีวิตประจำวันลำบากมากขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อเร่งรักษา
น.ท.นพ.พรเทพ ม้ามณี ศัลยแพทย์ด้านการผ่าตัดผ่านกล้องข้อเข่าและข้อไหล่ และแพทย์เวชศาสตร์การกีฬา ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย (BASEM) โรงพยาบาลกรุงเทพ หรือศูนย์เพื่อความเป็นเลิศทางการแพทย์ของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) กล่าวว่า อาการปวดไหล่ พบบ่อยและเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุอาการปวดอาจเกิดจากปัญหาโครงสร้างของข้อไหล่เอง หรือภาวะข้อไหล่ไม่มั่นคง หรืออาการปวดที่ต่างๆ เช่น กระดูกต้นคอ ทรวงอก หรือในช่องท้อง ซึ่งอาการปวดแต่ละโรคอาจเหมือนกันหรือแตกต่างกันก็ได้
แต่สาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่ ข้อไหล่ติด ข้อไหล่หลุด ข้ออักเสบ ภาวะเส้นเอ็นหัวไหล่ฉีก และกระดูกงอกทับเส้นเอ็นข้อไหล่ เป็นต้น
กระดูกงอกทับเอ็นข้อไหล่ (Impingement syndrome) และภาวะหินปูนเกาะเส้นเอ็น (Calcific Tendonitis) เกิดจาก 1.ความเสื่อมของร่างกายและข้อไหล่ เมื่อสูงอายุร่างกายจะเกิดความเสื่อมรวมถึงกระดูกที่มีโอกาสสึกหรอ ร่างกายจะสร้างหินปูนขึ้นมาจับและพอกจนเป็นกระดูกงอก แล้วมากดเบียดเส้นเอ็นที่อยู่ด้านล่างของกระดูก พบมากในกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป
2.สาเหตุจากการใช้งาน เช่น ทำงานที่กระทบต่อข้อไหล่มากๆ จนเอ็นที่เกาะกล้ามเนื้อฉีกขาดและไม่ได้รักษา ร่างกายจึงพยายามสร้างหินปูนมาเชื่อมบริเวณที่บาดเจ็บ ทำให้อักเสบเรื้อรัง และการเล่นกีฬาที่ต้องใช้ข้อไหล่มากๆ เช่น เล่นเวท เทนนิส แบดมินตัน
ภาวะเส้นเอ็นหัวไหล่ฉีก (Rotator cuff tear) เกิดจากการเสียดสีระหว่างเส้นเอ็นหุ้มข้อไหล่กับปลายกระดูกสะบัก ขณะที่ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะบ่อยๆ จึงทำให้ปวดแบบเป็นๆ หายๆ ยิ่งขณะยกแขนขึ้นสูงหรือกางแขนออก ผลที่ตามมาคือจะมีการเสื่อมสภาพของเส้นเอ็น จนท้ายสุดอาจทำให้เส้นเอ็นหุ้มข้อไหล่ฉีกขาดได้ โดยช่วงแรกจะปวดไหล่ด้านหน้าและด้านข้าง ส่วนมากจะปวดไหล่เวลากลางคืน และปวดมากเวลานอนตะแคงทับแขนด้านที่มีอาการ ในระยะที่รุนแรงจะพบเส้นเอ็นฉีกขาดร่วมด้วย ทำให้แขนอ่อนแรง ยกแขนขึ้นลำบาก
ขณะที่โรคข้อไหล่ติด (Frozen shoulder) พบมากในช่วงอายุ 50-60 ปี พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย สาเหตุเกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้มข้อไหล่ แล้วเกิดผังผืดในข้อไหล่ ทำให้ข้อไหล่ขยับได้น้อยลง พบบ่อยในกรณีกระดูกหักบริเวณแขน ทำให้ขยับแขนได้ลดลง ซึ่งทั้งสองภาวะนี้ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการปวดข้อไหล่ที่คล้ายคลึงกัน จึงควรพบแพทย์เฉพาะทางด้านข้อไหล่เพื่อตรวจวินิจฉัยแยกโรคว่าเกิดจากความผิดปกติใด
การรักษามี 2 รูปแบบใหญ่ๆ คือ 1.ไม่ต้องผ่าตัด โดยจะใช้วิธีทานยา ฉีดยา หรือทำกายภาพบำบัด ร่วมกับลดกิจกรรมที่กระทำต่อข้อไหล่ ออกกำลังกายเพื่อป้องกันภาวะกล้ามเนื้อฝ่อตัวจากการไม่ได้ใช้งาน หากทำทุกวิธีแล้วยังไม่ดีขึ้นอาจต้องผ่าตัด
2.ผ่าตัดผ่านกล้อง การผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery:MIS) เหมาะสำหรับผู้ที่มีกระดูกงอกทับเอ็นข้อไหล่ ร่วมกับมีปัญหาเอ็นข้อไหล่ฉีกขาดร่วมด้วย ช่วยให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ลดบาดเจ็บของเนื้อเยื่อข้างเคียง เสียเลือดน้อย โอกาสติดเชื้อหลังผ่าตัดต่ำ และลดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดเปิดแบบในอดีต สามารถทำกายภาพขยับไหล่ได้ตั้งแต่วันแรกหรือวันที่สองหลังผ่าตัด
นอกจากนี้ ยังมีการรักษาด้วยคลื่นกระแทกความถึ่สูง (Radial shockwave) เป็นเครื่องบำบัดรักษาอาการเจ็บปวดจากการอักเสบและมีการสะสมของหินปูนที่เอ็นกล้ามเนื้อไหล่ เพิ่มประสิทธิภาพในการสลายแคลเซียม และเพิ่มกระบวนการไหลเวียนเลือด นอกจากจะช่วยทำให้กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อบริเวณไหล่แข็งแรงแล้ว ยังช่วยลดอักเสบ และเพิ่มพิสัยการเคลื่อนไหวข้อไหล่ให้กลับมาใกล้เคียงปกติได้เร็วขึ้น
ทั้งนี้ สามารถป้องกันเพื่อลดการเกิดภาวะกระดูกงอกทับเส้นเอ็นข้อไหล่ได้โดย 1.ไม่ปล่อยให้น้ำหนักตัวมากเกินไป 2.รับประทานอาหารให้ถูกสัดส่วน โดยเฉพาะโปรตีน พืชผัก ผลไม้ 3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่ควรออกกำลังกายแบบเต้นหรือแกว่งแขนไปมา เนื่องจากอาจทำให้เอ็นข้อไหล่ทำงานมากขึ้นเกิดอักเสบหรือฉีกขาดได้
การออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้ที่มีน้ำหนักมากหรือผู้สูงอายุคือ เดินไปมาพอให้มีเหงื่อออกประมาณ 15 นาที บริหารยืดข้อไหล่อย่างช้าๆ และยืดให้สุดจะช่วยเพิ่มพิสัยในการเคลื่อนไหวข้อไหล่ได้ดีขึ้น เช่น ใช้มือไต่ผนัง รำกระบอง รำมวยจีน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากรู้สึกปวดข้อไหล่ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา ป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บเรื้อรังที่อาจจะเกิดขึ้นได้