เข้าสู่ช่วง “กฐินกาล” หรือ “เทศกาลทอดกฐิน” หลังออกพรรษา เราชาวพุทธต่างก็ตั้งหน้าตั้งตาทำบุญอันมีอานิสงส์ไพศาลนี้อีกครา โดยการทำบุญให้ได้บุญนั้น ไม่เพียงแต่ทำบุญด้วยทรัพย์เท่านั้น แต่การร่วมลงแรงหรือร่วมอนุโมทนายินดีในบุญที่ผู้อื่นกระทำก็ล้วนแต่ก่อให้เกิดกุศลต่อตัวเราทั้งสิ้น
“พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล” เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จังหวัดชัยภูมิ ได้กล่าวถึงการทำบุญอย่างง่าย มาแสดงธรรมบรรยายในโครงการ “เรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ” จัดโดย บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ประเทศไทย ว่า “การทำบุญอย่างง่าย สามารถทำได้ที่ใจ” ซึ่งทุกวันนี้คนเรามักหลงลืมการทำบุญที่ใจไป เพราะเอาแต่มุ่งเน้นที่ทรัพย์หรือขนาดปัจจัยเป็นสำคัญ
“ทำบุญที่ใจ คือ การทำใจให้มีความสุข ทำใจให้ผ่องใส ไม่ให้มัวหมอง ในสัปปุริสทาน 8 หมายถึงทานของสัตบุรุษ หรือการให้อย่างสัตบุรุษ ก็มีระบุไว้ชัดเจนว่า เมื่อให้แล้วทำจิตผ่องใส ให้แล้วเบิกบานใจ”
บางคนทำบุญ ถวายทาน ในขณะที่มือถวาย ใจกลับไปยึดติดในบุญ ยึดติดกับสิ่งที่ตนถวาย เช่นนี้แล้วก็จะได้บุญไม่เต็มที่ ซึ่งพระอาจารย์ได้สอนว่า การให้ทานคือการสละ เมื่อให้แล้วต้องปล่อย เมื่อให้แล้วต้องวาง ซึ่งมีเรื่องเล่าในสมัยพุทธกาลกล่าวไว้ว่า มีพราหมณ์รูปหนึ่ง เป็นผู้มีทรัพย์มาก ยามอยู่ก็หวงทรัพย์ นำไปฝังไว้ริมแม่น้ำ ยามตายจึงไปเกิดเป็นจระเข้มาเฝ้าทรัพย์ที่ตนหวงซ่อนไว้ เมื่อคิดได้ก็ได้เข้าฝันบอกลูกหลานให้มาขุดทรัพย์ไปทำบุญ เพื่อเป็นบริวารกฐิน ระหว่างที่จะลำเลียงทรัพย์นั้นไปทำบุญ ด้วยความชราจระเข้ก็ตายระหว่างทางที่ว่ายน้ำตาม ไม่ทันได้ทำบุญ จึงได้ทำเป็นธงจระเข้เอาไว้ให้ระลึกถึง ว่าอย่าโลภ อย่ายึด
สำหรับผู้สนใจร่วมฟังธรรมบรรยายดีๆ ในโครงการ “เรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ” ซึ่งปีนี้ดำเนินการมาเป็นปีที่ 24 แล้ว ตามปณิธานองค์กรที่ต้องการร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสให้ทุกคน สามารถเข้าร่วมได้ที่ชั้น 11 อาคาร ซี.พี.ทาวเวอร์ ถนนสีลม ทุกวันศุกร์ เวลา 12:00-13:30 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ


การทำบุญที่ใจฉบับพระไพศาล วิสาโลนั้น เป็นการทำบุญที่ทำได้ทุกวันตราบที่ยังมีลมหายใจ เพราะแค่รักษาใจให้เป็น ก็เป็นบุญได้แล้วการรักษาใจในที่นี้ โดยเฉพาะยามที่มีสิ่งใดมากระทบ ก็พยายามรักษาใจให้เป็นปกติ ทุกข์มากระทบ อย่าให้ใจกระเทือน หากทำใจเช่นนี้ได้ ยอมรับได้ ใจก็ไม่ทุกข์ “ปัญหาอะไรที่แก้ได้จะวิตกไปทำไม ปัญหาอะไรที่แก้ไม่ได้วิตกไปก็ไม่มีประโยชน์ ทุกวันนี้เราแบกทุกข์ เพราะเราลืมตัว ถ้ารู้จักทำบุญที่ใจ ก็ไม่เป็นทุกข์ เจริญสติ ทำสมาธิภาวนา สร้างความระลึกรู้สึกตัว มีสติ ก่อเกิดปัญญา ตระหนักว่าทุกข์ที่ใจ ก็ต้องแก้ที่ใจ” พระอาจารย์กล่าว
