เมื่อ คสช. ออกกฎหมาย พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2561 ก็รู้ได้ทันทีว่า คณะสงฆ์ไทยยังอยู่ภายใต้การปกครองของทหารเหมือนเมื่ออยู่ภายใต้ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 (สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี) แม้จะมีการปรับปรุงการวางตำแหน่งในมหาเถรสมาคม และการวางอำนาจฝ่ายรัฐบ้าง ก็ดูเหมือนจะอยู่ในโครงสร้างเดิม คือโครงสร้างของ “ศูนย์อำนาจ” ระหว่างรัฐกับคณะสงฆ์ แม้ พ.ร.บ. คณะสงฆ์จะมีหลักการว่า กฎหมายที่ออกโดยฝ่ายรัฐจะต้องไม่ขัดหรือแย้งกับพระธรรมวินัย ผมเห็นด้วยกับแนวความคิดที่จะให้คณะสงฆ์อยู่ในความอุปถัมภ์ดูแลของฝ่ายรัฐ จึงมีการวางอำนาจให้ตำรวจช่วยดูแลการคณะสงฆ์โดยแยกขาดจากกันไม่ได้ เช่น ให้ตำรวจจับสึกพระ หรือให้อำนาจศาล (ทางโลก) จัดการคดีต่างๆ เกี่ยวกับพระศาสนา อย่างที่เป็นอยู่ แม้แต่กรณีจับสึก-จับขังพระผู้ใหญ่ ที่เป็นข่าวอยู่ ก็เป็นไปตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ (ที่ฝ่ายรัฐออกแบบ) ทั้งสิ้น ทุกกรณีที่รัฐจัดการพระสงฆ์ ซึ่ง พ.ร.บ. คณะสงฆ์ให้กระทำได้ล้วนแต่อยู่ในหลักการว่า “ไม่ขัดหรือแย้งกับพระธรรมวินัย” นั้น แต่ในความเป็นจริง พระธรรมวินัย (โดยเฉพาะวินัยสงฆ์ หรือพุทธบัญญัติ) ของพระพุทธเจ้า มีมาตรการการลงโทษ (เช่นโดยปรับอาบัติเป็นต้น) อยู่แล้ว และในวินัยสงฆ์มีรูปองค์กรพิจารณาความ เช่น มีวินัยธร ตัดสินอธิกรณ์ (คดี) อยู่แล้ว เมื่อมีอำนาจอื่นมาก้าวก่าย จึงเป็นอำนาจซ้ำซ้อน และทำให้อำนาจของฝ่ายสงฆ์อ่อนแอลงตามลำดับ ในที่สุด พระวินัยธร ก็ไม่มีบทบาทอะไร มีแต่ชื่อที่ได้รับการแต่งตั้ง (จากรัฐ) เท่ากับว่า อำนาจของพระพุทธเจ้าที่กำหนดไว้ในวินัยสงฆ์เป็นโมฆะไปหมด คำว่า “กฎหมาย” (ในรูป พ.ร.บ.) ก็คนละแนวคิด (concept) ของพระพุทธเจ้า กฎหมายแต่ละข้อของฝ่ายรัฐ เป็นคนละเรื่องกับ “สิกขาบท” ของพระพุทธเจ้า สิกขาบท หมายถึง การฝึกฝนผู้เข้ามาบวชให้พยายามสำรวมระวัง ไม่ให้มีการละเมิดหรือทำผิด สิกขาบท ไม่ใช่กฎหมายกำหนดความผิดเป็นโทษ เช่น ปรับไหมหรือ จักขัง ฯลฯ สิกขาบท บัญญัติขึ้นโดยความคิดอนุเคราะห์หรือเมตตาเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่เพื่อลงโทษผู้ละเมิดให้สูญเสียอิสรภาพหรือให้เกิดความเสียหายแก่ชิวิตในทางใดๆ ซึ่งเป็นคนละวิถีกับกฎหมาย การใช้กฎหมายที่จะไม่ขัดหรือแย้งกับพระธรรมวินัย จึงเป็นไปได้ยากอย่างยิ่ง ผมมีความเห็นว่า ใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ไม่ควรจะมีมาตรากำหนดโทษในลักษณะซ้ำซ้อน เช่น พระดื่มสุรา เป็นอาบัติประจิตตีย์ (แก้ด้วยการปลงอาบัติ เพราะเป็นอาบัติอย่างเบา) แต่กฎหมายถือเป็น “โลกวัชช” (เป็นความผิดทางโลก) เมื่อเห็นพระดื่มสุรา ตำรวจมักจะจับไปจัดการให้ผู้ปกครองสงฆ์จับสึก เกือบจะร้อยทั้งร้อย ผู้ปกครองสงฆ์ เช่น เจ้าอาวาสหรือเจ้าคณะต่างๆ ก็จับสึกทันที (เท่ากับว่า การดื่มสุรา เป็นอาบัติหนักขั้น “ปาราชิก” !) แต่ในการปฏิบัติตามขั้นตอนของวินัยสงฆ์ จะต้องไปแจ้งต่อพระอุปัชฌาย์ของพระรูปนั้น และพระอุปัชฌาย์ก็จะตักเตือนว่ากล่าว หรือ มอบให้พระวินัยธรดำเนินการต่อไป ซึ่งก็จะไปจบที่สงฆ์ (จำนวน 4 รูป ขึ้นไป) ที่จะประชุมตัดสินอธิกรณ์นั้น การดื่มสุรา อาจจะดูเป็นการไม่เหมาะสมสำหรับบรรพชิตแต่ก็จะต้องคำนึงถึงสิกขาบทในวินัยสงฆ์ด้วยว่า ท่านบัญญัติไว้อย่างไรในวินัยสงฆ์ มีระบุด้วยว่า ถ้าเป็นการทำผิดซ้ำซาก (ประพฤติผิดเป็นอาจิญ) ก็เป็นความผิดที่อุกฉกรรจ์ขึ้น ซึ่งอยู่ในดุลพินิจของพระอุปชฌาย์หรือสงฆ์ ที่จะจัดการต่อไป ในทาง พ.ร.บ. คณะสงฆ์ ซึ่งมีเจตนาดีต่อสถาบันสงฆ์ก็ควรจะไปเพ่งโทษทางการปกครอง เช่น ดูประสิทธิภาพของพระอุปัชฌาย์หรือของสงฆ์ในวัดนั้นๆ เป็นสำคัญ ซึ่งในวินัยสงฆ์ก็ได้กำหนดคุณสมบัติของพระอุปัชฌาย์และสงฆ์ไว้แล้ว ดูๆ ไปแล้ว ตามพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ก็รัดกุมพอแล้ว แทบจะไม่ต้องมีกฎหมายของทางโลกบัญญัติซ้ำ (ซ้อน) อีกคณะสงฆ์ก็น่าจะอยู่กันได้ อย่างผาสุกตามสมควร ยกตัวอย่างเรื่องเดียว กรณีพระดื่มสุรา มิใช่เพื่อส่งเสริมให้พระทำความผิด แต่เพื่อให้เห็นโครงสร้างของกฎหมายที่ฝ่ายรัญทำให้กระบวนการทางวินัยสงฆ์และการปกครอง สงฆ์อ่อนแอลงตามลำดับ ด้วยข้ออ้างว่า เพื่ออุปถัมภ์หรือคุ้มครองพระศาสนา ผลก็คือ พระอุปัชฌาย์ (ผู้ปกครอง) ไมได้ทำหน้าที่ของตัวเอง พระวินัยธรและสงฆ์ไม่ได้ทำงานรับผิดชอบตามตำแหน่งหน้าที่ของตน ฝ่ายรัฐต้องเสียเวลามาดูแลพระสงฆ์ด้วยกำลังตำรวจ เพื่อดำเนินการให้พระสึก นั่นคือ ความซ้ำซ้อนทางกฎหมาย ยิ่งกว่านั้น เป็นความไม่เชื่อมั่นในการบวนการของวินัยสงฆ์อันเท่ากับฝ่ายรัฐไม่มี “ตถาคตโพธิสัทธา” คือไม่มีความเชื่อมั่นในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ทางฝ่ายมหาเถรสมาคมก็ละเลยการล่วงละเมิดที่เป็นความผิดทางวินัยสงฆ์ และทำลายแบบแผนในพุทธบัญญัติ โดยไม่รู้ตัว เช่น ปล่อยให้พระทำ “ปริวาสกรรม” เป็น “ธุดงคกรรม” ในพื้นที่ ไม่ตักเตือนให้พระสงฆ์รู้ว่า นั่นไม่ใช่ธรรมไม่ใช่วินัย แต่เป็นการมอมเมาประชาชนด้วยพิธีกรรมแห่งสัทธรรมปฏิรูป (การแอบแฝงหรือการบิดเบือนพระธรรมวินัย) ความล้มเหลวทางการปกครองสงฆ์ (แม้แต่ของมหาเถรสมาคม)เป็นผลมาจาก พ.ร.บ. คณะสงฆ์ระบบรวมศูนย์อำนาจ ที่คิดขึ้นในสมัยทหารครองอำนาจนั่นเอง แม้แต่สมัยปัจจุบัน ที่มีนักกฎหมายคิดการปฏิรูปสงฆ์ ก็คิดในกรอบหรือโครงสร้างของกฎหมายในระบอบของทหาร การจัดการกำจัดภัยของพระศาสนา ก็มองแต่ด้านการบังคับใช้กฎหมายที่ฝ่ายรัฐเป็นผู้กำหนด อ้างว่าเพื่อปกป้องคุ้มครองพระศาสนา(พุทธศาสนา) ทางฝ่ายพระสงฆ์ก็อ้างว่า ตนเป็นพุทธ กล่าวหาฝ่ายรัฐว่าเป็นผู้ทำลายพุทธศาสนา ผมจึงไม่เห็นด้วยกับความเคลื่อนไหวที่จะให้มีการบัญญัติ “พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” ในรัฐธรรมนูญ แต่อยากให้มีกฎหมายคุ้มครองศาสนา (ทุกศาสนา) เพื่อให้ทุกศาสนากลับเข้าไปสำรวจตัวเองในพระคัมภีร์หลักของตนอย่างเคร่งครัด อยากให้มีกฎหมายทางโลกดูแลทุกข์สุขของประชาชนทุกหมู่เหล่าให้จริงจัง ไม่อยากให้มีการก้าวก่ายแทรกแซงศาสนาใดๆ กาลเวลาพิสูจน์แล้วว่า พ.ร.บ. คณะสงฆ์ที่ใช่อยู่ไม่ได้ทำให้พุทธศาสนาดีขึ้นเลย เห็นมีแต่ข่าว “ และ “สำนักปฏิบัติธรรม” แปลกๆเป็นข่าวอยู่ประจำ ทำให้นึกถึงวิธีการของล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 ในการปฏิรูปสงฆ์และวัด (ตลอดถึงพิธีกรรมต่างๆ) อยู่เงียบๆ แต่มีประสิทธิผลถึงทุกวันนี้ คือ สถาบันสงฆ์มีการศึกษาพระปริยัติธรรมด้วยหลักสูตรส่งเสริม พระธรรมวินัยนับเป็นร้อยปี โดยต่อเนื่อง สถาบันสงฆ์มีการปกครองสงฆ์ที่มีการปฏิรูปอย่างจริงจังด้วยวิธีฟื้นฟูการประพฤติปฏิบัติตามวินัยสงฆ์ ซึ่งต่อมา คือแนวปฏิรูปแบบ “ธรรมยุต” ที่กลายมาเป็นรูปแบบของ “พร อยู่ทุกวันนี้ ถ้าคณะสงฆ์ปล่อยเลยตามเลยไปตามประเพณีเดิมๆ ป่านนี้เราก็จะเห็นสีจรและการห่มครองจีวรแปลกๆ ไม่เป็นระเบียบ ปัจจุบัน สีจีวรของพระเณรค่อยๆ กลมกลืนเป็นอันเดียวกันการห่มจีวรแบบ “ห่มแหวก” (แบบมอญ) เป็นที่นิยมไปทั่วประเทศแทบจะไม่มีการ “ห่มหนีบ” อย่างแต่ก่อน เป็นผลมาจากการปฎิรูปสมัย ร.3-ร.4 แม้แต่ท่วงทำนองการสวดมนต์และการออกเสียงบาลี ก็เป็นสากลมากขึ้น ร.4 (สมัยทรงผนวชเป็น “พระวชิรญาณ”) แม้ตอนแรกจะนิยมแบบพระมอญ แต่ในที่สุดก็ปรับปรุงเป็นพุทธไทย ไม่ว่าจะเป็นการออกเสียงบาลี (ซึ่งไม่คล้อยตามแม้แต่ศรีลังกา) หรือการสวดมนต์ของพระสงฆ์ อันที่จริงศรีลังกาออกเสียงบาลีอักษรโรมัน (ซึ่งเป็นสากล) แต่มีบางคำ ศรีลังกาก็พาออกเสียงผิดเหมือนกัน เช่น Buddism ศรีลังกาออกเสียงเป็น บุดดิสมฺ ทั้งๆ ที่อินเดีย (แม่แบบของแขก) ออกเสียงเป็น บุดธิสมฺ อยู่ การปฏิรูปพุทธศาสนาของไทย ไม่ควรจะมองแต่ด้านกฎหมาย อย่างที่นักกฎหมายกำลังคิดอ่านอยู่และไม่ควรมองแต่ด้านการปกครอง ควรจะมองด้านการศึกษาของสงฆ์ด้วย เมื่อ ร.4 ทรงคิดปรับปรุงการพระศาสนา ทรงเริ่มจากการศึกษาภาษาบาลีเพื่ออ่านพระไตรปิฎก (อันเป็นพระคัมภีร์หลัก) ด้วยพระองค์เองก่อนแต่ก็ไม่มุ่งแต่อ่านพระไตรปิฎกอย่างเดียว ทรงศึกษาคัมภีร์ชั้นอรรถกถาและคัมภีร์ต่างๆ ด้วย เพื่อให้การอ่านพระไตรปิฎกสัมฤทธิ์ผล จะเห็นได้ว่า เมื่อทรงสอน (ปากเปล่า) บาลี (ในสมัย ร.3) ทรงแปลคัมภีร์ธรรมบทและมงคลทีปนีด้วย ไม่อ่านแต่พระไตรปิฎก เพื่อเจาะหาแต่ “พุทธจวนะ” หรือคำสอนจากพระโอษฐ์อย่างเดียว น่าสังเกตอย่างหนึ่งว่า ร.4 ไม่มุ่งด้านการปกครองสงฆ์ด้วยการออกกฎหมายแต่อย่างใด ทรงเริ่มจากพระสงฆ์ไม่กี่รูปที่สมัครใจมากกว่าแม้แต่การห่มจีวรแบบ “ห่มแหวก” ที่พระไทยห่มอยู่ทุกวันนี้ ก็เริ่มที่กลุ่มพระสงฆ์ของพระองค์ก่อน ไม่ได้คิดการใหญ่โตหรือเห่อเหิมตามรูปแบบของ “ประชาธิปไตย” อย่างสมัยหนึ่ง (ซึ่งดูตลกมากกว่า!)