รมว.อุตสาหกรรมจีบเอกชนญี่ปุ่นร่วมพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ ยกระดับการทำเกษตรสมัยใหม่ ขณะที่บีโอไอพร้อมให้สิทธิ์ส่งเสริมการลงทุนสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เมื่อวันที่ 8 พ.ย.62 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือด้านการพัฒนาศักยภาพภาคอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมอาหาร และการพัฒนาเอสเอ็มอี เพื่อหารือแนวทางการพัฒนาระบบเกษตรอัจฉริยะ และเยี่ยมชมระบบเกษตรอัจฉริยะที่ Tomakomai Smart Agriculture Plant จังหวัดฮอกไกโด ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตสินค้าเกษตรและพื้นที่ทำการสาธิตและการตลาดธุรกิจเกษตรอัจฉริยะ ทั้งนี้เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท JFE Engineering Corporation และบริษัท Add-One Farm โดยเป็นการผลิตมะเขือเทศพันธ์เชอรี่และต้นอ่อน ระบบการเกษตรดังกล่าวสามารถช่วยให้การเพาะปลูกมีประสิทธิภาพตอบสนองสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคและสถานการณ์ด้านพลังงานต่างๆ ทำให้มีการเพาะปลูกที่มั่นคงทุกที่ทุกเวลา โดยใช้วิธีออกแบบและควบคุมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับพืชหลากหลายชนิด โดยหลัง JFE Engineering Corporation ปรับธุรกิจไปสู่ธุรกิจเกษตรสมัยใหม่ จากเดิมดำเนินธุรกิจวิศวกรรมก่อสร้าง ด้วยการนำศักยภาพด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม มุ่งสู่ภาคเกษตรล้ำสมัย ได้เริ่มปรับธุรกิจมาภาคเกษตรในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เพื่อหวังลดข้อจำกัดด้านสภาพอากาศหนาวของญี่ปุ่นได้นำระบบการผลิตโรงไฟฟ้าชีวมวล จากเศษวัสดุเปลือกไม้ในชุมชนมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เศษไม้เพียง 120 กิโลกรัม แต่ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 330 เมกกะวัตต์ เพื่อใช้ปรับอุณหภูมิในโรงเรือน รองรับการปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี นอกจากนี้ได้ใช้ศักภาพด้านวิศวกรรม การผลิตเหล็กมาใช้พัฒนาโครงสร้างโรงเรือน ผ่านการควบคุมโดยระบบอัตโนมัติเพื่อสร้างเป็นโรงเรือนอัจฉริยะ เพื่อปลูกผักสลัด 15 ชนิด ผ่านระบบไฮโดรโพนิคปุ๋ยน้ำ และการปลูกมะเขือเทศปลอดสารบนก้อนดินปุ๋ย เพื่อส่งตลาดซุปเปอร์มาเก็ตในเกาะฮอกไกโด สำหรับการลงทุนสร้างโรงเรือนประมาณ 500-600 ล้านเยน หรือประมาณ 100 ล้านบาท เนื้อที่ 20 ไร่ รองรับภัยธรรมชาติ หิมะหนา 40 เซ็นติเมตร เมื่อควบคุมอุณหภูมิได้จึงปลูกพืชตลอดทั้งปีลดปัญหาภัยธรรมชาติ ป้องกันศัตรูพืช โรคพืช จากฟาร์มระบบปิด ต้องการพืชสำหรับบริโภคจากข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์ การสร้างโรงเรือนดังกล่าว รัฐบาลให้การสนับสนุนทุนก่อสร้างร้อยละ 50 เป็นการร่วมลงทุนระหว่างบริษัท JFE Engineering ถือหุ้นร้อยละ 49 ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มชาวบ้าน เพราะกฎหมายญี่ปุ่นห้ามเอกชนลงทุนด้านเกษตรเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ “การสร้างโรงเรือนอัจฉริยะจึงต้องใช้ทั้งระบบวิศวกรรม ระบบเทคโนโลยีควบคุมทั้งไฟฟ้า อุณหภูมิภายในโรง และผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตร เพื่อดูแลพืชภายในโรงเรือน นับว่าผลผลิตจากการปลูกมะเขือเทศส่งตลาดระดับสูงทั้งสายการบินเฟิร์สคลาส และส่งออกต่างประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง จึงสร้างผลผลิตได้ต่อเนื่อง ราคาสูง 3 ลูก 100 บาท ยอมรับว่ายอดขายผลผลิต 500-600 ล้านเยนต่อปี ยังทำกำไรได้น้อย เพราะต้นการผลิตค่อนข้างแพง หากนำไปปรับใช้ เพื่อพัฒนาภาคเกษตรไทยจะช่วยยกระดับการทำเกษตรสมัยใหม่มากขึ้น” นางดวงใจ อัศวจินตจิตร เลขาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า การส่งเสริมลงทุนภาคเกษตร บีโอไอดูแลตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ ในส่วนต้นน้ำยังส่งเสริมสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้ในประเทศไทยมากขึ้น เน้นในเรื่องการให้เอกชนมีส่วนร่วม เพราะภาคเกษตรไม่มีกำลังซื้อเครื่องมือเครื่องจักร อุปกรณ์หลักและเทคโนโลยีสมัยใหม่ จึงขยายถึงภาคบริการด้านเกษตร และกำหนดเงื่อนไขพัฒนาระบบเทคโนโลยี และซอร์ฟแวร์ในประเทศไทย เพื่อควบคุมอุปกรณ์ และประมวลผลข้อมูลบริการในภาคเกษตร เพื่อนำข้อมูลไปใช้วางแผนผลผลิต สำหรับการส่งเสริมกลางน้ำ ปลายน้ำ ด้านภาคเกษตร ได้ส่งเสริมมาเป็นเวลานานแล้วเช่น การแปรรูป การผลิตปุ๋ย เน้นเรื่องการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ สารปรับปรุงดินด้านอินทรีย์ การปรับปรุงพันธุ์พืช นับว่าบีโอไอดูแลอย่างครบวงจร การเปิดใหม่ด้านสมาร์ทฟาร์เมอร์ ขณะนี้เริ่มมีการขอยื่นรับการส่งเสริมการลงทุน แม้ยังไม่มากแต่นับว่าเริ่มมีผู้สนใจมากขึ้น “บีโอไอจึงเดินหน้าเชิงรุกด้านสมาร์ทฟาร์มเมอร์มากขึ้น เพราะได้ยกเว้นภาษีเงินได้ 5 ปี ยื่นขอรับส่งเสริมให้เช่า จำหน่ายสินค้า หรือจำหน่ายตัวระบบ ยกเว้นอากรในอุปกรณ์สำคัญในการลงทุน เพราะหากเอกชนมาลงทุนด้านเกษตรแปรรูปร่วมกับวิสาหกิจชุมชน กลุ่มชาวบ้าน นำค่าใช้จ่ายหักลดหย่อนภาษีได้ถึงร้อยละ 120 ของค่าใช้จ่ายในการลงทุนด้านเทคโนโลยีและเกษตรแปรรูป”