คึกฤทธิ์วิทยายุทธ์ / คึกฤทธิ์วิทยายุทธ์ “ศาสนาพุทธไม่น่าเบื่อ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ให้ปัญญา” ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช พูดอยู่เสมอว่าท่านโชคดีที่เกิดมาในศาสนาพุทธ เพราะเป็นศาสนาที่ให้เสรีภาพแก่ผู้คน ไม่มีการบังคับ ไม่มีการลงโทษ การกระทำใดๆ ก็ได้แก่ตนเอง ทำดีก็มีความสุข ทำชั่วก็มีความทุกข์ ที่สำคัญที่สุดนั้นคือเป็นศาสนาที่สอนให้ “อยู่กับตัวเอง” และค้นพบสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง มีคำสองคำที่คนไทยคุ้นเคยมากๆ คือ “บุญและกุศล” เพราะศาสนาพุทธสอนให้สร้างบุญสร้างกุศล ที่คนทั้งหลายมีความเข้าใจว่าคำทั้งสองนี้มีความหมายเหมือนกันคือ “การทำความดี” ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็อธิบายว่าคำทั้งสองนี้มีความแตกต่างกันอยู่บ้างในรายละเอียด โดยที่ “บุญ” จะเป็นการ “ครองตน” ให้อยู่ในการกระทำที่ดี เช่น การถือศีล การให้ทาน และการศึกษาเล่าเรียน เป็นต้น ส่วน “กุศล” หมายถึง “กิจของคนฉลาด” คือคนที่มีบุญหรือทำดีอยู่ตลอดเวลานั้น จะทำให้เขาเกิดสติปัญญามากขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถที่จะแนะนำหรือสั่งสอนให้คนอื่นมาทำดีร่วมกันมากขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์กล่าวถึงการกระทำที่เป็น “กุศล” ว่า คนไทยนั้นคุ้นเคยกับการทำบุญ แต่ยังไม่มีอีกมากที่ยังไม่ได้ทำกุศล คือยังหลงเชื่อในลัทธิที่ไม่ได้สอนให้เป็นคนฉลาด เช่น ไสยศาสตร์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ โดยเอามาผสมปนกัน จนบางทีก็แยกไม่ออกว่าอะไรเป็นพุทธ ว่าอะไรเป็นไสย เพราะคนที่นำมาผสมกันนั้นก็คือพระสงฆ์ที่เป็น “พุทธทายาท” นั่นเอง แต่นั่นก็ไม่ถึงขั้นที่ทำให้ศาสนาพุทธเสียหาย เพราะพุทธศาสนิกชนแม้จะเชื่อถือคุณไสยอยู่ด้วย แต่ก็ยังรู้ว่านั่นคือ “พุทธเทียม” ที่คนทั่วไปนำมาผสมกัน เพื่อ “ความสบายใจ” นี่ก็แสดงว่าคนไทยยังมี “กุศล” อยู่บ้าง ที่สามารถแยกแยะพุทธแท้และพุทธเทียมนั้นได้ รวมถึง “ความฉลาด” ที่สามารถ “เลือกสรร” นำของเทียมนั้นมาปรับปรุงให้เข้าด้วยกันได้กับของแท้อย่างกลมกลืน จึงอาจจะเรียกว่า “กิจของคนฉลาด” อย่างหนึ่งได้เช่นเดียวกัน (คำอธิบายทำนองนี้ถ้าจะวิเคราะห์ไป น่าจะเป็นการ “เสียดสีล้อเลียน” ให้เกิดการคิดตาม ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ชอบใช้เวลาที่วิจารณ์กรณีต่างๆ โดยเฉพาะในกรณีที่หาเหตุผลมาอธิบายได้ยาก) ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกอีกด้วยว่า อย่าหยุดแค่ทำบุญ แต่ควรทำกุศลร่วมด้วย คือการทำความดีหรือทำบุญให้สม่ำเสมอก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เราเข้าถึงศาสนาพุทธ หรือเป็น “พุทธแท้” เพราะบางทีเราก็สักแต่ว่าทำตามๆ กันไป ทำตามประเพณี หรือทำตามโอกาสต่างๆ เพียงแค่ได้ช่วยให้เกิดความสบายใจบ้าง ได้สงเคราะห์ผู้อื่นบ้าง หรือเพียงแค่สืบทอดพุทธศาสนา ทั้งนี้ไม่รวมถึงพวกที่ทำบุญหวังผล เช่น ถูกหวยถูกลอตเตอรี ล้างบาปล้างกรรม หนีนรกขึ้นสวรรค์ ฯลฯ แต่เราควรจะทำบุญด้วยความฉลาด คือ “พิจารณา” ทุกครั้งก่อนที่จะทำบุญใดๆ โดยหลักพื้นๆ ก็คือ ถ้าจะทำบุญก็ทำตาม “ฐานานุรูป” คือตามความสามารถและความเหมาะสมของตน มีน้อยก็ทำน้อย แม้มีมากก็ไม่ควรทำเกินควร ไม่ใช่เพื่ออวดร่ำอวดรวยหรือให้คนยกย่องนับถือ แต่ควรทำเพื่อ “ขัดเกลาจิตใจ” ให้เรารู้สึกว่าเราเป็นคนดีคนหนึ่ง ซึ่งนั่นก็คือ “กุศล” คือความฉลาดที่สามารถระลึกรู้ มีสติ คิดได้ และเกิดความหมั่นเพียรที่จะทำความดีนั้นให้ต่อเนื่องจนเป็นปกตินิสัย ผมเคยอ่านข้อเขียนเรื่องหนึ่งของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เกี่ยวกับ “กุศล” นี้ว่า กุศลก็มีคุณลักษณะเช่นเดียวกันกับ “บุญ” คือถ้าทำมากๆ ก็จะมีการ “สั่งสม” คือพอกพูนเก็บไว้ในตัว และสามารถแสดงผลออกมาได้ว่าเรามีบุญหรือกุศลนั้นมากน้อยเพียงใด ซึ่งก็จะแสดงผลออกมาในด้านดี ว่าเรามีความดีมากน้อยเท่าไรนั่นเอง เปรียบได้กับ “ฝุ่นผงสีขาว” ที่ละลายอยู่ในแก้วใส่น้ำใสๆ คือถ้าเราทำดีอยู่เสมอ แม้ว่าอาจจะไม่ได้ทำมากมายนัก เพียงแค่ละอองฝุ่น แต่ละอองฝุ่นนั้นก็จะหล่นอยู่ในตัวเราที่เป็นแก้วใสใส่น้ำ ฝุ่นสีขาวซึ่งเปรียบได้ด้วยความดีนั้นก็จะตกตะกอนนอนอยู่ที่ก้นแก้ว คือในตัวเรานั่นเอง เมื่อใดก็ตามที่เราถูกสิ่งใดมากระทบ แต่เพราะว่าเราเป็นคนดี ฝุ่นตะกอนที่ฟุ้งขึ้นมานั้นก็จะเป็นสีขาว และก็จะเข้มข้นตามปริมาณความดีที่เราทำสั่งสมไว้ ทำให้เราผ่องใสสวยงามและมีสง่าราศี ตรงกันข้ามถ้าเราทำชั่ว ความชั่วนั้นก็คือตะกอนสีดำ ซึ่งก็จะไปตกตะกอนนอนก้นสะสมอยู่ในตัวเราเช่นกัน และเมื่อมีสิ่งใดมากระทบก็จะแสดงฝุ่นสีดำนั้นออกมา เปรียบได้ว่าคนที่ทำความดีก็จะครองตัววอยู่ในความดี แม้จะมีอะไรมากระทบก็ตาม ตรงกันข้ามกับคนที่ชอบทำความชั่ว ก็จะแสดงความชั่วร้ายต่างๆ ออกมาเป็นปกตินิสัย ก็เนื่องด้วยสิ่งที่ได้กระทำมาแล้วนั่นเอง แต่ว่าคนทั่วไปมักจะมีทั้งการกระทำที่ดีและการกระทำที่ชั่ว ดังนั้นคนทั้งหลายจึงมีทั้งฝุ่นผงสีขาวและฝุ่นผงสีดำอยู่ในตัวเรา มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป บางครั้งเมื่อมีอะไรมากระทบก็อาจจะแสดงสีออกมาเทาๆ คือมีทั้งดีทั้งชั่วปะปนกัน ขึ้นอยู่กับว่าสิ่งที่มากระทบนั้นเป็นการกระทำที่ดีหรือชั่วอย่างไรนั้นเช่นกัน คือถ้าสิ่งที่ดีมากระทบผลก็จะออกมาทางด้านดีคือมีสีขาวมากกว่าสีดำ ในทำนองเดียวกันถ้าสิ่งที่มากระทบเป็นสิ่งที่ชั่ว ผลก็จะออกมาทางด้านชั่วคือมีสีดำมากกว่าสีขาว ดังนั้นความดีความชั่วก็สามารถหักกลบลบหนี้กันได้ คือถ้าเรารู้ตัวว่าเรามีความชั่วมาก ก็ให้เราพยายามทำความดีให้มาก เราก็อาจจะใช้สีขาวของความดีนั้นกลบสีดำของความชั่วได้บ้าง หรือถ้าทำความดีให้สม่ำเสมอ ความชั่วก็จะหมดไปได้ในที่สุด ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ท่านบอกว่า ท่านก็ประพฤติตัวอยู่ในแนวทางดังกล่าว คือท่านก็เหมือนผู้คนทั้งหลาย ที่มีดีบ้างชั่วบ้างเป็นธรรมดา แต่ท่านก็พยายามควบคุมไม่ให้ความชั่วนั้นมีมากจนคนอื่นเดือดร้อน ในขณะเดียวกันก็พยายามที่จะทำความดีให้สม่ำเสมอ อย่างน้อยก็พยายามทำตัวให้เป็นประโยชน์ ไม่เบียดเบียนใคร และถ้าเป็นไปได้ท่านก็จะเอื้อเฟื้อและสงเคราะห์ให้แก่ผู้อื่น อย่างน้อยที่สุดก็คือความเป็นมิตรและความเมตตา ที่ใครๆ เมื่อได้มารู้จักกับท่านก็จะทราบดีถึงทั้งสองสิ่งที่ท่านมีให้นี้ ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ยังสอนศาสนาพุทธให้กับคนรอบข้างอีกหลายเรื่อง โดยที่คนเหล่านั้นอาจจะรู้ตัวและไม่รู้ตัว แต่ที่ผมนำมาเสนอนี้ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งในส่วนที่ผมประทับใจ และถือเป็น “วิทยายุทธ์” ที่ผมพยายามจะลอกเลียนแบบ รวมทั้งที่มานำเสนอให้ท่านผู้อ่านได้ทราบ เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์บ้าง อย่างน้อยก็ปลอบใจเราว่า “เราก็เป็นคนธรรมดากับเขาเหมือนกัน”