บทความพิเศษ/ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่นถือว่าเป็นสมบัติของท้องถิ่นมาช้านาน แต่หน่วยงานที่สนใจดูแลเพียงเป็นงานอีเวนต์หนึ่งของโครงการพัฒนาต่าง ๆ ไม่ได้ส่งเสริมเศรษฐกิจรากหญ้า โดยเฉพาะอาชีพ และสร้าง “อัตลักษณ์ชุมชน” ให้แก่ท้องถิ่น เป็นประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับภารกิจทางด้านการศึกษาของท้องถิ่น เพราะ การศึกษาที่สองรูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ (โรงเรียนฯ) และ การศึกษาตามอัธยาศัย ในเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่นถือเป็นการศึกษาตามอัธยาศัยได้ แม้แต่โบราณจะเป็น “การศึกษาหลักในวัด” (ตามระบบการศึกษา) ที่ได้แปรเปลี่ยนรูปแบบมาเป็น “การศึกษาในระบบโรงเรียน” แต่วัดก็ยังคงทำหน้าที่สอนการศาสนาอยู่เช่นเดิม เรียก “การศึกษาปริยัติธรรม” ทำให้การศึกษาแบบภูมิปัญญาท้องถิ่นถูกทอดทิ้งไปนาน การคงอยู่ของภูมิปัญญาท้องถิ่นจากรุ่นสู่รุ่น แม้จะยังคงมีอยู่ แต่ก็อ่อนล้าไปมากตามกระแสโลกาภิวัตน์ และ การแสเศรษฐกิจโลกใหม่ที่มีทุนนิยมเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในหลาย ๆ อย่างแทบจะสูญหายไปเลย ลักษณะของภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย ดังนี้ (1) ภูมิปัญญาไทยมีลักษณะเป็นทั้งความรู้ ทักษะ ความเชื่อ และพฤติกรรม (2) ภูมิปัญญาไทยแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ (3) ภูมิปัญญาไทยเป็นองค์รวมหรือกิจกรรมทุกอย่างในวิถีชีวิตของคน (4) ภูมิปัญญาไทยเป็นเรื่องของการแก้ปัญหา การจัดการ การปรับตัว และการเรียนรู้ เพื่อความอยู่รอดของบุคคล ชุมชน และสังคม (5) ภูมิปัญญาไทยเป็นพื้นฐานสำคัญในการมองชีวิต เป็นพื้นฐานความรู้ในเรื่องต่างๆ (6) ภูมิปัญญาไทยมีลักษณะเฉพาะ หรือมีเอกลักษณ์ในตัวเอง (7) ภูมิปัญญาไทยมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อการปรับสมดุลในพัฒนาการทางสังคม ในภารกิจของ อปท. นั้น มีบัญญัติไว้ชัดเจนในกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่า อปท. มีอำนาจหน้าที่ "การบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น" โดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ได้บัญญัติรับรองไว้ว่า “บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิอนุรักษ์ ฟื้นฟู หรือส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามทั้งของท้องถิ่นและของชาติ” อันเป็นหน้าที่ในการพัฒนาท้องถิ่นของ อปท. นั่นเอง สาขาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านวัฒนธรรม ในการคัดเลือกและเชิดชูเกียรติผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม 5 สาขา ดังนี้ (1) ภูมิปัญญาชาวบ้านด้านการเกษตร เช่น การทำการเกษตรแบบผสมผสาน การแก้ปัญหาการเกษตรด้านการตลาด การแก้ปัญหาด้านการผลิต (เช่น การแก้ไขโรคและแมลง) และรู้จักปรับใช้เทคโนโลยี ฯลฯ (2) ภูมิปัญญาชาวบ้านด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การอนุรักษ์ป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร การรักษาการถ่ายทอดความรู้ดั้งเดิมเพื่อการอนุรักษ์เช่น การเคารพแม่น้ำ แผ่นดิน พืชพันธุ์ธัญญาหาร และโบราณสถานโบราณวัตถุ ฯลฯ (3) ภูมิปัญญาชาวบ้านด้านการจัดการ สวัสดิการและธุรกิจชุมชน ได้แก่ (3.1) กองทุนต่าง ๆ ในชุมชน เช่น สหบาลข้าว (ธนาคารข้าว) สหกรณ์ ร้านค้า กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ฯลฯ (3.2) กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มเยาวชน ฯลฯ (4) ภูมิปัญญาชาวบ้านด้านการรักษาโรค และการป้องกัน เช่น หมอพื้นบ้าน หมอธรรม และผู้รอบรู้เรื่องสมุนไพร (5) ภูมิปัญญาชาวบ้านด้านการผลิตและการบริโภค เช่น การแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรให้สามารถบริโภคได้โดยตรง ได้แก่การใช้เครื่องสีมือ และครกตำข้าว การรู้จักประยุกต์เทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้แปรรูปผลผลิตเพื่อชะลอการนำเข้าตลาด จิตอาสาเสียสละสำนึกรักบ้านเกิด ภารกิจการกู้พลังภูมิปัญญาท้องถิ่นให้กลับคืนถือเป็นภารกิจสำคัญในอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่น ข้อเสนอให้นำ (1) “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” (Wisdom) (2) “แนวทางพอเพียงตามศาสตร์พระราชา” (Sufficiency Philosophy) และผนวก (3) “จิตอาสา” (Volunteer Mind) ที่เน้นความอุทิศร่วมมือเสียสละ สำนึกรักในชุมชนบ้านเกิด ผสมผสานกันทั้งสามแนวทางเพื่อกอบกู้วิกฤติของคนท้องถิ่นที่ไม่ยาก เพราะเป็นเรื่องปากเรื่องท้องของชาวบ้าน ที่สะท้อนแสดงถึง “ความเป็นท้องถิ่นนิยม” (Localism) เป็นเอกลักษณ์หรือ อัตลักษณ์ชุมชน หรือ สัญลักษณ์ของท้องถิ่นที่มีบริบทแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ประกอบกับโลกปัจจุบันที่ไร้พรมแดนด้วย “ระบบเศรษฐกิจแบบเสรี” ต้องมีการใช้มาตรการทางกฎหมายในการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วย เช่น เรื่องลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้าเพื่อให้การคงอยู่ของภูมิปัญญาท้องถิ่นพัฒนาและยั่งยืน เพราะ ภูมิปัญญาท้องถิ่นไม่ควรถูกปิดกั้นด้วยลิขสิทธิ์ เช่น เพลงลูกทุ่ง หรือ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พันธุ์พืชเฉพาะ (ข้าวหอมมะลิ) ฯลฯ เป็นต้น ควรมีการพัฒนปรับปรุง ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่ให้เหมาะสมเข้ากับยุคสมัยใหม่ด้วย และสามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน หรือ ในทางธุรกิจการค้า อาทิ การผลิตของใช้แบบญี่ปุ่น การเลี้ยงหอยมุก การผลิตตลับลูกปืนใช้กับเครื่องจักรกล การทำเครื่องประดับ เครื่องเงิน เครื่องเขิน งานปั้น งานเซรามิก ผลิตภัณฑ์จากไม้ (การแกะสลัก) ผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ พืชผักอาหารสมุนไพร (การผลิตอาหารแห้งอาหารสำเร็จรูปพื้นถิ่น) เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ไม่ใช่แค่สีสัน ลวดลาย แต่มีการพัฒนากระบวนการผลิตด้วย ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เน้นที่ผลผลิตหรือตัวผลิตภัณฑ์ ไม่ได้เน้นว่าใครมีอำนาจเข้ามาบริหารจัดการควบคุม ข้อจำกัดในกระบวนการ “จิตอาสา” ที่ภาคราชการนำมาใช้ ณ เวลานี้ ไม่อยากให้เป็นเพียงการสร้างภาพที่มีการใช้งบประมาณจำนวนมากจากราชการ รวมทั้งงบประมาณจาก อปท.และชาวบ้าน คืออยากให้มีความคุ้มค่า เชิงประสิทธิภาพ และความยั่งยืน เพราะ จิตอาสา คือตัวเชื่อม และชี้วัดว่า คนชาวบ้าน “รักชาติจริง ๆ “ หรือไม่ มีการดำเนินกิจกรรมจริง ๆ หรือไม่ ที่สามารถวัดประเมินค่าและผลงานได้อย่างเป็นรูปธรรม มิใช่เลื่อนลอย วัดไม่ได้ หรือเพียงผ่านไปชั่วครั้งชั่วคราววูบวาบ เหมือนไฟไหม้ฟาง ที่ขาดความต่อเนื่องยั่งยืน ลิขสิทธิ์ปิดกั้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยหรือไม่ "ผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่น” ถือเป็น “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” ที่เป็น “ทรัพย์สินทางปัญญา” (Intelectual Property) ที่ได้รับความคุ้มครองภายใต้ระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา เนื่องจากภูมิปัญญาท้องถิ่นเกิดจากองค์ความรู้ที่นำมาปฏิบัติจนกลายเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการสร้างสรรค์งานใหม่ ๆ ขึ้น ผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่นแยกเป็น 2 ส่วน คือ (1) ผลิตโดยชุมชน (2) ผลิตจากผู้ประกอบรายเดียว แต่มีเป้าหมายเดียวกันคือ การสร้างรายได้และกำไรแก่ชุมชน ซึ่งต้องนำศักยภาพทาง “การตลาด” มาเป็นตัวนำด้วย ยกตัวอย่างสินค้าจีนเสรีจนสินค้าล้นตลาดไทยทั้งของเลียนแบบ ของแท้มากมาย จึงตีตลาดไปทั่วภูมิภาคอาเซียน แต่การเอาผลงานสร้างสรรค์ของคนอื่นมาหาประโยชน์ โดยคนอื่นไม่ยินยอมย่อมกระทบไม่เป็นธรรมกับเจ้าของผลงานได้ แม้บางกรณีมันดูเหมือนเรื่องเล็กน้อย.ความเสียหายไม่มากก็ตาม ในโลกสมัยใหม่ จึงมีการคุ้มครองในเรื่องนี้ 3 อย่าง คือตาม (1) พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 (2) พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 (3) พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ตามข่าวที่มีการล่อซื้อจับเด็กสาววัยรุ่นที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดลิขสิทธิ์นำตัวการ์ตูนของต่างประเทศไปประดับกระทง (ในเทศกาลลอยกระทงที่กำลังจะถึงเร็วๆนี้) ทำให้ได้ฉุกคิดและได้หันมาทบทวนว่ากฎหมาย “ลิขสิทธิ์” มีความสำคัญ หรือจำเป็นเพียงใดในสภาพเศรษฐกิจสังคมไทยแบบทุนนิยมตลาดเสรี โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนท้องถิ่น อันเป็นความหมายของ “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” ที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้ ในเรื่องการบริหารจัดการภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับ “อำนาจ” เช่นกันเหมือนอำนาจการบริหารบ้านเมืองทั่วไปที่มีเส้นสายสืบทอดอำนาจกันมาช้านาน จึงเกิดการผูกขาด รวบอำนาจ โดยเฉพาะการผูกขาดตัดตอนครอบงำจากยักษ์ใหญ่ธุรกิจ หรือ “ทุนข้ามชาติ” จากต่างชาติ (Foreign Investment) เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดโครงสร้างความเหลื่อมล้ำอย่างมากในระบบทุนนิยมโลก โดยเฉพาะ “ระบบตลาดทุนนิยม” ของประเทศไทย ทำลายธุรกิจค้าปลีก การค้ารายย่อย การค้าชุมชนพื้นถิ่น ทำให้สูญเสียอัตลักษณ์ของท้องถิ่นไป อย่างไรก็ตาม หากย้อนไปดูอดีต เมื่อก่อนเด็กวัดบ้านนอกจะได้ทุนหลวงได้มีโอกาสจากการมีการศึกษา เพราะได้อาศัยอยู่วัด เป็นที่พำนักเล่าเรียน และส่งเสริมการศึกษาคนบ้านนอก แม้ช่วงหลังจะเปลี่ยนการศึกษาเป็นระบบโรงเรียนแล้วก็ตาม เด็กบ้านนอกเข้าเมืองมาศึกษาก็ต้องอาศัยวัดคนเก่งเติบโตเป็นถึงตุลาการ ข้าราชการระดับสูง การยอมรับภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้รับการพัฒนาให้เป็น “วิสาหกิจชุมชน ศิลปิน ปราชญ์ชาวบ้านฯ” ก็เหมือนยอมรับในระบบเจ้าของธุรกิจประจำถิ่นให้เติบใหญ่ได้ เติบใหญ่จนสามารถคานอำนาจกับทุนข้ามชาติได้ เป็นเป้าหมาย “ไทยมั่นคง” ไม่ถูกครอบงำ หรือถูกขายกิจการให้ต่างชาติ ดังเช่น คนญี่ปุ่นที่ไม่กลัวทุนข้ามชาติ เพราะญี่ปุ่นเขามีดี มีข้อสังเกตว่าระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาปัจจุบันรับรองและคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นรวมศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยได้อย่างเหมาะสมและเป็นธรรมแล้วหรือยัง เพราะ “องค์ความรู้พื้นบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น และทรัพยากรพันธุกรรม” ประจำถิ่นนั้นย่อมได้รับการคุ้มครอง “เป็นการเฉพาะเพื่อให้บุคคลมีสิทธิเหนือทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น” ที่ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ ฉะนั้น ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ท้องถิ่น และรัฐบาลต้องหันมาใส่ใจใน “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” กันให้มาก