การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในฐานะประธานอาเซียนได้เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย ก่อนที่จะส่งไม้ต่อให้เวียดนาม รับหน้าที่ประธาน และเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนในปี 2563 ซึ่งผลการประชุมมีบทสรุปเกิดขึ้นมากมาย ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย และประเทศสมาชิก โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจที่มีความชัดเจนเกิดขึ้นหลายด้าน อาทิ เรื่องความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพของประเทศสมาชิก และความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาค เพื่อนำไปต่อรองทางเศรษฐกิจกับภูมิภาคอื่นๆ ทั้งนี้ในการประชุมมีผู้นำชาติสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา มาเลเซีย ลาว บรูไน ฟิลิปปินส์ สิงค์โปร์ และอินโดนีเซีย พร้อมใจกันเข้าร่วมประชุม นอกจากนี้ ยังมีผู้นำและผู้แทนระดับสูงจากคู่ค้ารายสำคัญอีก 8 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ รัสเซีย ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา เพราะนอกเหนือจากการประชุมสุดยอดระหว่าง 10 ประเทศสมาชิกแล้ว อาเซียนยังได้จัดการประชุมสุดยอดกับประเทศคู่เจรจาต่างๆ อาทิ การประชุม 10+1 และการประชุม 10+3 รวมถึงการจัดประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกระหว่างอาเซียนและอีก 8 ประเทศ ซึ่งรวมถึงสหรัฐและรัสเซีย โดยจะเห็นว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความยินดีที่การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership – RCEP) มีความก้าวหน้า โดยประเทศสมาชิก RCEP 15 ประเทศ ได้แก่ ประเทศสมาชิกอาเซียนและพันธมิตรการค้าเสรี 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เห็นชอบต่อการเจรจาดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การดำเนินการทางด้านกฎหมาย และการปฏิบัติภายในปี 2563 ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จ ที่จะช่วยส่งเสริมและขยายโอกาสทางการค้าให้แก่ประเทศสมาชิก ซึ่งเมื่อเริ่มดำเนินการ RCEP จะกลายเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุม 32.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โลก และประชากร 3.5 พันล้านคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก โดยเศรษฐกิจของ RCEP คิดเป็นสัดส่วน 29.1% ของการค้าโลก และประมาณ 1 ใน 3 ของการลงทุนทั่วโลก แต่ถึงอย่างไรการเจรจา RCEP ในครั้งนี้อินเดียโดย “นเรนทรา โมดี” นายกรัฐมนตรีอินเดีย ตัดสินใจไม่ลงนามในความตกลงในครั้งนี้ เนื่องจากยังคงมีความเห็นต่างเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีศุลกากร การขาดดุลการค้าของอินเดีย และการตั้งกำแพงการค้าที่ไม่ใช่ภาษี โดยมีความวิตกกังวลว่า ความตกลง RCEP ซึ่งกำหนดให้ประเทศสมาชิกยกเลิกการจัดเก็บภาษีศุลกากร จะเปิดช่องให้สินค้าจากจีนไหลทะลักเข้าสู่อินเดีย รวมทั้งสินค้าด้านการเกษตรจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศ “ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม” แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเจรจาหลายรอบที่ผ่านมา จีนแสดงความจำนงที่จะผลักดันให้ RCEP เกิดขึ้นให้ได้ ในขณะที่อินเดียมักถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ที่ทำให้การเจรจาเกิดความล่าช้า อย่างไรก็ตามประเด็นที่อินเดียกังวลมากที่สุดคือ การเปิดตลาด ซึ่งอาจทำให้เกิดการไหลทะลักเข้ามาของสินค้าจีน ซึ่งอินเดียไม่สามารถควบคุมได้ และจะทำให้ตัวเลขการขาดดุลการค้าของอินเดียเลวร้ายมากยิ่งขึ้น โดยสินค้าจีนที่อินเดียกังวล ประกอบด้วย เหล็ก เหล็กกล้า, สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม, ยานยนต์และชิ้นส่วน ส่วนกรณีการเปิดตลาดสำหรับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์นั้น อินเดียกังวลในเรื่องนมและผลิตภัณฑ์จากนม ด้าน “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การเป็นประธานอาเซียนของไทยในปีนี้นอกจากที่ไทยจะมีบทบาทและเป็นที่สนใจในประชาคมโลก ไทยยังมีโอกาสที่จะผลักดันประเด็นต่างๆ ที่ไทยให้ความสำคัญ และอาเซียนจะได้ประโยชน์ร่วมกันให้ประสบความสำเร็จ เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอย่างยั่งยืน สำหรับประเด็นด้านเศรษฐกิจที่อาเซียนจะร่วมกันดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จในปี 2562 รวม 13 ประเด็น ซึ่งขณะนี้อาเซียนดำเนินการเสร็จแล้ว 10 ประเด็น ได้แก่ (1) แผนการดำเนินงานตามกรอบการบูรณาการด้านดิจิทัล (2) แนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (3) การส่งเสริมการใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยอาเซียน (4) หลักเกณฑ์กรอบการจัดตั้งกลไกการชำระเงินสกุลท้องถิ่น (5) การพัฒนากลไกการระดมทุนจากภาคเอกชนสำหรับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (6) แนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการประมงที่ยั่งยืน (7) แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของตลาดทุนอาเซียน (8) การจัดทำความบันทึกความเข้าใจระหว่างศูนย์พลังงานอาเซียนและสถาบันวิจัยในอาเซียน และความสำเร็จล่าสุดที่ผู้นำประกาศในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียนในครั้งนี้ ได้แก่ (9) การประกาศแถลงการณ์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมของอาเซียนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 และ (10) การสรุปผลการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ป และอีก 3 ประเด็นที่เหลือคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปีได้แก่ (1) การลงนามความตกลงการค้าบริการของอาเซียน (ATISA) (2) การลงนามพิธีสารฉบับที่ 4 เพื่อแก้ไขความตกลงการลงทุนของอาเซียน (ACIA) ที่ไม่ให้ประเทศสมาชิกอาเซียนกำหนดเงื่อนไขที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของนักลงทุน ซึ่งจะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในภูมิภาคมากขึ้น และ(3) การสรุปการเจรจาเพื่อให้ระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน (ASEAN-Wide Self-Certification) สามารถเริ่มใช้งานได้ ที่จะอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการสามารถดำเนินการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าได้ด้วยตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปขอรับใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าจากหน่วยงานภาครัฐอีกต่อไป ทั้งนี้อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนปี 2561 มีมูลค่าการค้ารวม 113,792 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 12.91 โดยไทยส่งออกไปอาเซียนในปี 2561 มูลค่า 68,545 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 45,247 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยไทยเกินดุล 23,298 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และการส่งออกของไทยไปอาเซียนในปัจจุบัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ท้ายที่สุดก็คงต้องติดตามบทสรุปของการเป็นประธานอาเซียนในครั้งนี้ จะส่งผลดี หรือไม่ต่อไทยอย่างไร? จะคุ้มค่าหรือเสียเปล่า?