ดนตรี / ทิวา สาระจูฑะ ตอนนี้ Judy หนังชีวประวัติในช่วงท้ายชีวิตของ จูดี้ การ์แลนด์ กำลังฉายในเมืองไทย ดัดแปลงมาจากละครเวที End of the Rainbow กำกับโดย รูเพิร์ท กูลด์ และนำแสดงโดย เรเน่ เซลล์วีเกอร์ เซลล์วีเกอร์ ได้รับคำชื่นชมถึงการแสดงบทบาทของ การ์แลนด์ ในหนังอย่างท่วมท้นจากบรรดานักวิจารณ์และผู้ชมทั่วไป ถึงกับคาดหวังกันว่า เธอจะได้เข้าชิงรางวัล ออสการ์ และรางวัลด้านภาพยนตร์ของสถาบันอื่นๆ จูดี้ การ์แลนด์ เสียชีวิตเมื่อปี 1969 ตอนอายุเพียง 47 ปี ด้วยสาเหตุที่ประกาศเป็นทางการคือ อุบัติเหตุจากการใช้ยานอนหลับเกินขนาด ไม่ใช่ฆ่าตัวตาย แต่ช่วงหลัง นอกจากอาชีพของเธอก็เริ่มเสื่อมถอยลง และพยายามจะตั้งต้นใหม่ในอังกฤษ เธอยังมีปัญหาด้านสุขภาพและอารมณ์ที่ปรวนแปร การ์แลนด์ มีสถานะเป็นทั้งนักร้องและนักแสดง เธอเริ่มร้องเพลงในกลุ่ม 3 พี่น้อง พวกเธอทัวร์ร่วมกันระหว่างปี 1928-1935 ตอนแรกใช้ชื่อตามนามสกุลของพวกเธอว่า เดอะ กัมม์ ซิสเตอร์ส ต่อมาเปลี่ยนเป็น เดอะ การ์แลนด์ ซิสเตอร์ส ในช่วงสั้นๆก่อนแยกวง เพราะพี่สาวคนหนึ่งไปแต่งงาน อาชีพทางการแสดงของ การ์แลนด์ ก็ต้องอาศัยความสามารถทางการร้องเพลงของเธอเช่นกัน เพราะเป็นหนังเพลงจำนวนมาก และหนึ่งในนั้นก็ทำให้เธอได้ร้องเพลง "Over the Rainbow" "Over the Rainbow" เป็นเพลงที่ การ์แลนด์ ในบท โดโรธี เกล ร้องไว้ในช่วงแรกของหนัง The Wizard of Oz เมื่อปี 1939 แต่เป็นเพลงสุดท้ายที่ถูกแต่งขึ้นมาสำหรับหนังเรื่องนี้ และเพลงนี้ก็ได้รางวัล ออสการ์ สาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม "Over the Rainbow" เป็นหนึ่งในสุดยอดเพลงที่ให้ความหวังกำลังใจผู้คน แต่งทำนองโดย ฮาโรลด์ อาร์เลน และเนื้อร้องเขียนโดย ยิป ฮาร์เบิร์ก อาร์เลน เคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาคิดท่วงทำนองได้ตอนที่กำลังนั่งรถอยู่ โดยมีภรรยาเป็นผู้ขับ ทันทีนั้นเขาก็บอกให้เธอจอดรถตรงหน้าร้านขายยาแห่งหนึ่งในฮอลลีวูด เพื่อเขาจะได้รีบจดโน้ตก่อนจะเลือนหายไป ตอนฟังดนตรีที่ อาร์เลน ทำมาครั้งแรก ฮาร์เบิร์ก ผู้รับหน้าที่แต่งเนื้อไม่ค่อยชอบนัก เพราะคิดว่าเพลงช้าเกินไป หลังจาก อาร์เลน ไปปรึกษา ไอร่า เกิร์ชวิน เขาก็เพิ่มอัตราส่วนจังหวะให้เร็วขึ้น และ ฮาร์เบิร์ก ก็นำไปเขียนเนื้อใส่ เดิมนั้นตั้งชื่อเพลงว่า "Over the Rainbow is Where I Want to Be" และอีกสองสามชื่อ แต่ในที่สุดก็มาลงเอยที่ “Over the Rainbow" การ์แลนด์ บันทึกเสียงเพลง "Over the Rainbow" โดยการร้องสดกับวงออร์เคสตร้าในช่วงต้นเดือนตุลาคม 1938 และในเดือนกันยายนปีต่อมา บริษัทแผ่นเสียง เด็คค่า ให้เธอมาบันทึกในสตูดิโอเพื่อตัดออกมาเป็นซิงเกิ้ลเหมือนเพลงป๊อปทั่วไปอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง แต่กว่าเพลงที่อยู่ในหนังทั้งหมด (ร้องโดยผู้แสดงหลายคน) มาออกขายในแบบอัลบั้มซาวนด์แทร็กก็เป็นปี 1956 เข้าไปแล้ว หลังจากนั้นก็นำมาออกอีกหลายครั้ง รวมถึงดีลักซ์เอดิชั่นที่ออกโดยสังกัด ไรห์โน่ ในปี 1995 “Over the Rainbow” กลายเป็นเพลงที่ถูกนำไปใช้งานมากที่สุดเพลงหนึ่งของโลก ทั้งศิลปินต่างๆนำไปบันทึกเสียงใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า, ใช้ประกอบภาพยนตร์, รายการโทรทัศน์, หนังโฆษณา, การประกวดร้องเพลงเวทีต่างๆ, ใช้ในกิจกรรมต่างๆ ฯลฯ แต่ก็น่าแปลกที่ต้นฉบับของ จูดี้ การ์แลนด์ ไม่เคยเข้าไปติดบนตารางอันดับเพลง ฮอต 100 ของ บิลล์บอร์ด ขณะที่เมื่อไม่นานมานี้ ฉบับของนักร้องรุ่นใหม่ อย่าง แคธารีน แม็คฟี ติดอันดับ 12 ในปี 2006 และ นิโคลาส เดวิด ติดอันดับ 96 ในปี 2012 รวมถึงอีกเวอร์ชั่นหนึ่งที่โด่งดังสุดๆจากการบันทึกเสียงของ อิสราเอล คามาคาวิโว นักร้องร่างยักษ์ชาวฮาวาย แต่พอเข้าสู่ยุคดิจิทอล "Over the Rainbow" กลับมาขายดีอย่างน่าอัศจรรย์ ถึงเดือนตุลาคม 2014 เฉพาะในอเมริกา ขายในแบบดิจิทอลไปได้กว่า 4.2 ล้านก๊อบปี้ และแผ่นเสียง/ซีดีก็กลับมาขายอย่างมากมายด้วยเช่นกัน แต่เพราะความแข็งแรงในทำนองที่ขึ้นคำแรกของเพลงและด้วยเสียงร้องของ การ์แลนด์ เป็นที่จดจำได้ง่าย การบันทึกเสียงของศิลปินมากมายในเวลาต่อมาจึงใช้ชื่อว่า “Somewhere Over the Rainbow” มากกว่าชื่อเดิม ที่สำคัญ ในช่วงเปลี่ยนผ่านศตวรรษ สองสถาบันใหญ่ทรงอิทธิพล คือ เรคอร์ดิ้ง อินดัสทรี่ แอสโซซิเอชั่น อ็อฟ อเมริกา (RIAA) และ เนชั่นแนล เอ็นดาวเม้นท์ ฟอร์ ดิ อาร์ทส์ (NEA) ประกาศให้ "Over the Rainbow" เป็นเพลงอันดับ 1 ในรายชื่อ 500 เพลงแห่งศตวรรษ, ห้องสมุดสภาคองเกรสคัดเลือกเข้าสู่รายชื่อเพลงสำคัญที่มีการบันทึกเสียงของประเทศ, สถาบันภาพยนตร์อเมริกัน (AFI) ยกให้เป็นเพลงประกอบหนังที่ดีที่สุดในรายชื่อ 100 Years...100 Songs list และได้รับรางวัล Towering Song Award จาก หอเกียรติยศแห่งนักแต่งเพลง แต่เกียรติยศเหล่านี้ จูดี้ การ์แลนด์ ไม่ทันได้รับรู้ เช่นเดียวกับ ฮาโรลด์ อาร์เลน และ ยิป ฮาร์เบิร์ก สองผู้แต่ง