คุยเฟื่องเรื่องต่างประเทศ / ดร.วิวัฒน์ เศรษฐช่วย ประเด็นการเมืองที่กำลังร้อนแรงแบบสุดๆของสหรัฐอเมริกาในขณะนี้ที่กำลังเกิดขึ้นพร้อมๆกันก็คือ ขบวนการถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ออกจากตำแหน่ง และการที่สหรัฐฯถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกข้อตกลงโลกร้อนปารีสแล้วอย่างเป็นทางการ และยังมีเรื่องการเลือกเฟ้นตัวแทนของพรรคเดโมแครตที่จะเข้าไปแข่งขันในปีหน้า โดยมีประเด็นคำถามยอดนิยมที่ว่า ใครจะเข้าไปเป็นม้ามืดของพรรคเดโมแครต เป็นต้น ประเด็นเรื่องการถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ออกจากตำแหน่งได้กลายเป็นเรื่องยอดฮิตติดชาร์ต โดยขณะนี้คณะกรรมาธิการสามชุดของสภาผู้แทนราษฎรเริ่มปล่อยถ้อยสำเนาคำให้การของเหล่าบรรดาพยาน (Transcripts) ออกมาแล้วตั้งแต่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาเพื่อเผยแพร่ออกมาสู่สายตาของสาธารณชน!!! อย่างไรก็ตามในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการสามชุดของสภาผู้แทนราษฎรได้ทำการสอบปากคำเร่งมือสัมภาษณ์พยาน โดยไม่อนุญาตให้ประชาชนทั่วไปรู้เห็นหรือที่เรียกกันว่า “Closed Door Depositions” เพราะว่าพยานบางคนไม่ต้องการให้ตนเองตกเป็นข่าว ทั้งยังหวั่นเกรงเรื่องความปลอดภัยอีกด้วย!!! เนื่องจากพยานบางคนทำงานอยู่ในทำเนียบขาว และถึงแม้ว่าจะถูกเรียกตัวให้ไปให้ปากคำก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าพวกเขาต่างพากันปฏิเสธไม่ยอมให้ความร่วมมือ เพราะพวกเขาถูกกดดันจากประธานาธิบดีทรัมป์ที่ออกคำสั่งไม่ให้ไปให้ปากคำ และเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา จากคำให้การของ “อดีตเอกอัครราชทูต แมรี โยวาโนวิช” ซึ่งสำเนาคำให้การมีความยาวถึง 317 หน้าโดยเธอให้ปากคำตอนหนึ่งว่า “เนื่องจากข้าพเจ้าต้องการรักษาผลประโยชน์ของสหรัฐฯ มิใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตัวของประธานาธิบดีทรัมป์ จึงเป็นผลให้ข้าพเจ้าต้องถูกนายรูดี้ เกียเลียนี ทนายส่วนตัวของประธานาธิบดีทรัมป์ผลักดันให้กระทรวงการต่างประเทศเรียกตัวกลับ” ส่วน “ไมเคิล แม็คคินเลย์” นักการทูตมืออาชีพยาวนานมากว่า 37 ปี ขณะนี้ดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาอาวุโสของรัฐมนตรีการต่างประเทศไมค์ ปอมพิโอ ก็ได้ให้การว่า เขารู้สึกอึดอัดและกังวลใจที่กระทรวงการต่างประเทศเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองของยูเครน โดยมิยอมกางปีกปกป้องเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศแต่อย่างใด ซึ่งเรื่องนี้เขาชี้ว่า การสั่งย้ายเอกอัครราชทูตแมรี โยวาโนวิช ไม่เป็นธรรม!!! สำหรับคำให้การของ “เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำอียู กอร์ดอน แซนด์แลนด์” ซึ่งมีความยาวถึง 375 หน้า โดยเขาชี้ถึง การที่ประธานาธิบดีทรัมป์ตั้งเงื่อนไขว่าจะไม่ยอมปล่อยเงิน 391 ล้านเหรียญ ที่สภาคองเกรสอนุมัติเรียบร้อยแล้วให้กับประธานาธิบดียูเครน หากไม่ออกมาแถลงอย่างเป็นทางการว่า “ยูเครนตรวจสอบพฤติกรรมของอดีตรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน และลูกชาย” ซึ่งเขายืนยันว่าเป็นการยื่นหมูยื่นแมวแลกเปลี่ยน (Quid Pro Quo) โดยประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการจะนำเอาไปใช้เป็นผลประโยชน์ทางการเมือง เพื่อใช้ป้ายสีในทางลบต่อโจ ไบเดน ซึ่งถือว่าขณะนี้คือศัตรูทางการเมืองหมายเลขหนึ่ง!!! จากคำให้การของเอกอัครราชทูตกอร์ดอน แซนด์แลนด์ นับเป็นภาพลักษณ์ด้านลบสร้างความเสียหายให้แก่ประธานาธิบดีทรัมป์สูงมากทีเดียว เนื่องมาจากทูตท่านนี้ได้โยงใยเรื่องราวไปถึง รูดี เกียเลียนี ทนายความส่วนตัวของประธานาธิบดีทรัมป์ว่าคือ “ละครตัวเอก” สำหรับคำให้การของ “อดีตทูตพิเศษของสหรัฐฯประจำยูเครน เคิร์ท โวลเกอร์” ที่ได้ออกมาให้ปากคำเช่นกันว่า “การที่ประธานาธิบดีทรัมป์ผลักดันให้ประธานาธิบดียูเครนตรวจสอบพฤติกรรมของโจ ไบเดนนั้น ไม่ถูกต้องและยังถือว่าเป็นการเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของประเทศยูเครนอีกด้วย” นอกจากนั้นแล้วท่านทูตโวลเกอร์ ยังได้ชี้ว่ารูดี เกียเลียนีทนายความส่วนตัวของประธานาธิบดีทรัมป์เข้าไปมีบทบาทสำคัญในการแทรกแซงกิจการภายในของยูเครน และการตั้งเงื่อนไขเรื่องเงินช่วยเหลือด้านการทหารให้แก่ยูเครน 391 ล้านเหรียญนั้น ก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ดูเหมือนว่า คำให้การของพยานสี่คนแรกที่กล่าวมาข้างต้นนับเป็นตัวจุดประกายที่ทำให้การเมืองของสหรัฐฯร้อนระอุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่อย่างไรก็ตามประธานาธิบดีทรัมป์ก็มิได้นิ่งเฉยโดยเขาพยายามออกมาโจมตีดิสเครดิตพยานเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา!!! อนึ่ง “ศาสตราจารย์ลอเร็นซ์ ไทรบ์” นักกฎหมายชื่อดังแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้เขียนหนังสือออกมาเล่มหนึ่งชื่อว่า “The End A Presidency: the Power of Impeachment” โดยเขาได้ให้สัมภาษณ์ว่า หากอ่านบทสรุปของอัยการโรเบิร์ต มุลเลอร์ และคำให้การของเหล่าบรรดาพยานเหล่านี้แล้ว พอจะสรุปได้ว่า ประธานาธิบดีทรัมป์สร้างความเสียหายให้กับประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างมหาศาลและสมควรที่จะถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง!!! หากวิเคราะห์ดูแล้ว การที่จะถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ให้ออกจากตำแหน่งนั้น มิใช่เรื่องง่ายแต่อย่างใด เพราะจะต้องมี 67 เสียงจากจำนวนวุฒิสมาชิก 100 คน โดยขณะนี้วุฒิสมาชิกที่สังกัดพรรครีพับลิกันมี 53 และ พรรคเดโมแครตมีวุฒิสมาชิกเพียง 47 คน ฉะนั้นการที่จะถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ได้ ก็จำต้องมีวุฒิสมาชิกของพรรครีพับลิกันอย่างน้อย 20 คน ออกมายกมือสนับสนุนด้วย เพื่อให้ได้ 67 เสียง หรือสองในสามตามรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ขบวนการถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ จะเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้น ส่วนหนึ่งต้องขึ้นอยู่กับ “วุฒิสมาชิกมิทช์ แมคคอนเนล” ผู้นำของพรรครีพับลิกันในวุฒิสภา ซึ่งขณะนี้อยู่ในฐานะลำบากกลืนไม่เข้าคายไม่ออก และอย่าลืมว่าการเลือกผู้ว่าฯคนใหม่ของรัฐเคนทักกี เมื่อวันอังคารนี้ปรากฎว่า ผู้สมัครสังกัดพรรคเดโมแครตได้รับชัยชนะคว้าตำแหน่งผู้ว่าฯคนใหม่ไปครอบครอง โดยผู้ที่พ่ายแพ้การเลือกตั้งผู้ว่าฯนั้น เป็นอดีตผู้ว่าฯและเข้าลงแข่งขันเพื่อต้องการเป็นผู้ว่าฯในสมัยที่สอง โดยเมื่อปี 2016 ประธานาธิบดีทรัมป์เคยได้รับชัยชนะเหนือฮิลลารี คลินตันถึง 30% แต่ดูเหมือนว่าครั้งนี้แม้จะมีประธานาธิบดีทรัมป์ให้การสนับสนุนดั้นด้นออกไปช่วยหาเสียงด้วยตัวเองอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม แต่กลับต้องประสบกับความพ่ายแพ้ นับเป็นการวัดปรอททางการเมืองได้อย่างดีเลยทีเดียว อนึ่งวุฒิสมาชิกของพรรครีพับลิกันที่จะต้องแข่งขันเลือกตั้งในปีหน้าต่างกำลังครุ่นคิดกันอย่างหนักถึงอนาคตทางการเมืองของตนเอง เพราะดูเหมือนว่าบรรยากาศการเมืองในขณะนี้อึมครึมไม่แน่นอน แถมบางคนกำลังหาทางออกด้วยการเหยียบเรือสองแคม!!! ส่วนประธานาธิบดีทรัมป์เอง ขณะนี้กำลังโปรยหว่านทุ่มเทเม็ดเงินให้กับบรรดาวุฒิสมาชิกที่วางตัวเป็นมิตรที่ให้การสนับสนุนต่อเขา เพื่อให้ได้รับเลือกในปีหน้า และยังดูเหมือนว่ารอยร้าวได้เกิดขึ้นแล้วในพรรครีพับลิกันเนื่องจากมีแนวโน้มว่ามีวุฒิสมาชิกของค่ายพรรครีพับลิกันจะออกมาโหวตถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์หลายๆคนด้วยกันโดยมีวุฒิสมาชิก มิตต์ รอมนีย์ จากรัฐยูทาห์ เข้ามาเป็นแกนนำ นอกจากนั้นแล้วสำนักหยั่งเสียงสามแห่งอันได้แก่ NBC News/WSJ, Washington, Post-ABC News และ Fox News ต่างออกมาเปิดเผยทั้งสามสำนักว่า ขณะนี้คนอเมริกันถึง 49 % เห็นด้วยและสนับสนุนให้มีการถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ กล่าวโดยสรุปทั้งนี้และทั้งนั้นกระแสอเมริกันชนที่ต้องการจะถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกจากตำแหน่งนั้น มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆตามลำดับ แต่อย่างไรก็ตามต้องไม่ลืมว่าการเมืองเป็นเรื่องไม่แน่นอนที่ทุกๆอย่างอาจจะพลิกผันไม่ตรงตามล๊อค ซึ่งย่อมเกิดขึ้นได้ละครับ