ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกรมเจ้าท่าที่อนุญาตใช้ท่าเรือขนถ่ายถ่านหินและสินค้าต่าง ๆ ที่มีระวางบรรทุกเกิน 500 ตันกรอส ย้อนหลังไปนับแต่วันที่อนุญาตตามที่นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน พร้อมด้วยชาวบ้านในอำเภอนครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา จำนวน 81 คน ฟ้องร้อง 8 หน่วยงานรัฐ เพื่อให้มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเพิกถอนใบอนุญาตท่าเรือที่ฝ่าฝืน ล่าสุดนายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า ได้ยื่นอุธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเรื่องนี้ว่า ที่ผ่านมาท่าเรือที่ขนส่งสินค้าในพื้นที่ริมแม่น้ำป่าสักในพื้นที่อ.นครหลวง และพื้นที่อื่นๆ ซึ่งปกติมีประมาณ 60-70 ท่าเรือ ในอดีต ซึ่งเรือขนส่งสินค้าไม่ได้มีขนาดมากกว่า 500 ตัน กรอส แต่เมื่อภาคการขนส่งสินค้าในประเทศนำไปสู่ภาคการนำเข้า-ส่งออกมีการเติบโตตามนโยบายรัฐ ส่งเสริมการขนส่งทางน้ำเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ ทำให้ผู้ประกอบการเพิ่มขนาดเรือ เพื่อลดจำนวนเที่ยวเดินเรือ และในสถานการณ์ปัจจุบันเรือทุกลำที่ขนส่งสินค้าล้วนมีขนาดใหญ่กว่า 500 ตัน กรอส เรื่องนี้ส่งผลให้ในปี 2557 เพื่อให้การประกอบการเดินเรือไม่มีปัญหา เนื่องจากในอดีต ท่าเรือในพื้นที่ อาจมีใบอนุญาตเรือเทียบไม่เกิน 500 ตันกรอส กรมเจ้าท่าได้ทำการให้ใบอนุญาตท่าเรือสามารถเทียบระวางเรือมากกว่า 500 ตันกรอส ได้ พร้อมทั้งจัดทำคู่มือในการดูแลสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ให้เป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการท่าเรือทุกแห่งปฏิบัติ หากมีท่าเรือใดฝ่าฝืนก็จะมีบทลงโทษตามกฎหมาย รวมทั้งได้มีการเพิ่มมาตรการ ให้ทุกท่าเรือติดตั้งกล้องทีวีวงจรปิด (CCTV) แล้ว เพื่อให้เจ้าหน้าที่ กรมเจ้าท่ามอนิเตอร์ว่ามีการปฏิบัติตามระเบียบคู่มือของผู้ประกอบการอย่างเคร่งครัดหรือไม่ “ ยืนยันว่า กรมเจ้าท่ามีมาตรการ ในคู่มือตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งตามข้อเท็จจริงเป็นการกำหนดแนวทางดูแลสิ่งแวดล้อม กับท่าเรือที่มีมาในอดีต ส่วนท่าเรือที่จะเปิดใหม่นั้น ก็จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการพัฒนาท่าเรือ ที่ต้องดูแลสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้น สำหรับรองรับเรือขนาดมากกว่า 500 ตันกรอส” นายวิทยา กล่าว นายปรีชา ประสพผล นายกสมาคมผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางน้ำ กล่าวว่า ในฐานะผู้ประกอบการยืนยันว่าในส่วนของท่าเรือเก่าที่เปิดให้บริการมานานนั้น สมาคมฯได้ดูแลการปฏิบัติตามคู่มือเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว ส่วนท่าเรือที่จะขออนุญาตใหม่ก็ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมายในการขออนุญาต อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ อยากให้ทุกหน่วยงาน ภาครัฐ ดูแล เพื่อให้การดำเนินการ ไม่กระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดนิ่ง เนื่องจากการขนส่งทางน้ำถือเป็นหัวใจของการขนส่งสินค้า รองรับการขนส่งสินค้าเกษตร สินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคต่อเนื่องถึงการขนส่งสินค้า เพื่อการนำเข้า-ส่งออกที่เป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจไทยขณะนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับคำสั่งศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 30 ก.ย.62 ได้มีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกรมเจ้าท่าที่อนุญาตให้ผู้ประกอบการท่าเรือขนถ่ายถ่านหินและสินค้าต่าง ๆ ที่มีระวางบรรทุกเกิน 500 ตันกรอสทั้งหมดโดยให้มีผลย้อนหลังไปนับแต่วันที่อนุญาต แต่หากจะใช้ท่าเรือดังกล่าวต่อไปต้องไปจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ให้ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสียก่อน และพิพากษาให้อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยาใช้อำนาจตาม ม.35 ประกอบ ม.37 แห่ง พรบ.โรงงาน 2535 แก้ไขเหตุเดือดร้อนรำคาญจากฝุ่นละออง และเสียงดังจากการประกอบกิจการต่างๆทั้งหมด และพิพากษาให้ อบต.ในพื้นที่ ใช้อำนาจตาม ม.44 ม.26 ประกอบ ม.28 แห่ง พรบ.การสาธารณสุข 2535 แก้ไขเหตุเดือดร้อนรำคาญจากฝุ่นละออง และเสียงดังจากการประกอบกิจการต่างๆทั้งหมดด้วยภายใน 90 วันนับแต่วันที่มีคำพิพากษา