“สนธิรัตน์”แนะช่องเอสเอ็มอีร่วมพัฒนาต่อยอดนโยบายพลังงานชุมชน ทั้งกาญจนบุรีโมเดล-โรงไฟฟ้าชุมชนขับเคลื่อนทั่วประเทศ เพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจฐานราก-กระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม” นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน และประธานผู้ก่อตั้งสมาพันธ์ SME ไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่องทิศทางโลก ทิศทางประเทศไทย ทิศทาง SME ไทย จัดโดยสมาพันธ์ SME ไทยว่า เอสเอ็มอีเป็นคนตัวเล็กมีข้อจำกัดทั้งด้านทรัพยากร บริหารจัดการ เทคโนโลยีการสร้างแบรนด์ หัวใจเอสเอ็มอีที่อยู่รอดได้คือ ต้องผนึกกำลัง จับมือเป็นผนึกกำลังร่วมกันให้เข้มแข็ง อย่างเก่งคนเดียว ถึงจะมีอำนาจอยู่รอดและเติบโตต่อไปในอนาคตที่ดีได้ เอสเอ็มอีต้องมีวิธีคิดที่แตกต่างจากคนอื่นในการมองหาช่องทางการทำธุรกิจให้อยู่รอด ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ต้องเผชิญกับปัญหาดิสรัปชั่นที่อาจทำให้ธุรกิจเกิดการล้มสลายได้แม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีธุรกิจมาอย่างยาวนาน ทั้งนี้เอสเอ็มอีที่ดีจะต้องรู้จักสร้างการเชื่อมโยงกับ Start Up เพื่อให้เกิดการเกื้อกูลกัน จับมือพันธมิตรกัน ทำให้เกิดจุดแข็งเพื่อให้เกิดความสามารถเข้าไปเชื่อมโยง Value Chain กับบริษัทยักษ์ใหญ่ ฉีกตัวเองให้โดดเด่นจากบริษัทยักษ์ใหญ่หรือต่างจากที่คู่ต่อสู้ที่มีอยู่ บริษัทยักษ์ใหญ่ไม่มีและเป็นจุดอ่อนที่บริษัทยักษ์ใหญ่ไม่มีความคล่องตัวมากพอเหมือนกับเอสเอ็มอี ซึ่งจะเป็นช่องโอกาสที่ซ่อนอยู่ให้เอสเอ็มสามารถเติบโตและอยู่รอดและเติบโตต่อไปได้ “เอสเอ็มอีที่ดีจะต้องรู้จักและมองตัวเองให้ออกว่า ธุรกิจของตนอยู่ในกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมอย่างไร เป็นซันเซ็ท หรือซันไรส์ เอสเอ็มอีที่อยู่รอดได้ต้องอยู่ในธุรกิจซันไรส์ และใช้โอกาสนี้ในการสร้างความสามารถ ต้องมีความพยายามและแอคทีฟในการต่อสู้อย่างสูงเพื่อสร้างแต้มต่อ ฉีกตัวเองให้เร็วที่สุด จึงจะทำให้โอกาสเอ็มเอ็มอีคนตัวเล็กพลิกโอกาสขึ้นมาได้ท่ามกลางทิศทางดิสรับชันของเศรษฐกิจโลก” นอกจากนี้ทิศทางเอสเอ็มอีที่สามารถใช้โอกาสที่ดีที่สุดคือ ต้องมองและใช้ทิศทางของประเทศให้เป็นและมองให้ออกว่าทิศทางประเทศไปทางไหน จึงจะเป็นตัวตอบโจทก์เอสเอ็มอี เมื่อประเทศไทยมีจุดแข็งที่เป็นจุดศูนย์กลางของอาเซียนต้องมองประเทศไทยที่ไม่ใช่แค่ประเทศไทยให้พลิกมุมมองใหม่ มองเป็นอาเซียน เห็นเพื่อนบ้านเป็นโอกาสทางธุรกิจที่สามารถขยายพื้นที่เอสเอ็มอีให้ใหญ่ขึ้นโดยใช้โอกาสในเส้นทางเดินบนทิศทางและนโยบายประเทศไทย นายสนธิรัตน์กล่าวอีกว่า ธุรกิจพลังงานเป็นธุรกิจที่สร้างโอกาสธุรกิจให้มหาศาล เพราะพลังงานเป็นสิ่งจำเป็นต้องการดำรงชีวิตที่อยู่รายล้อมรอบตัว จึงเป็นโอกาสที่ดีให้กับเอสเอ็มอีคนตัวเล็ก โดยรัฐมีนโยบายที่สนับสนุนให้เอสเอ็มอีต่อยอดโอกาสธุรกิจ ด้วยการทำโรงไฟฟ้าชุมชนใช้จุดแข็งจากภาคธุรกิจการเกษตรที่มีอยู่เช่น นำฟางข้าว เศษไม้ หรือวัสดุต่างๆให้เกิดประโยชน์มาผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ขึ้นเองภายในชุมชนที่เป็นนโยบายเพื่อเปิดโอกาสให้กับเอสเอ็มอีคนตัวเล็กได้สร้างโอกาสทางธุรกิจ เนื่องจากบริษัทใหญ่ แม้แต่การไฟฟ้าเอง มีข้อจำกัดไม่คล่องตัวในการเข้าไปจัดทำเองได้ การเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาพีพีเอยังติดขัดไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้มากนัก “ชุมชนแต่ละชุมชนเองมีความต้องการที่ยกระดับชีวิตที่สูงขึ้น โรงไฟฟ้าชุมชน จึงเป็นมิติช่วยหนุนเศรษฐกิจฐานรากทีดีให้เกิดการเติบโตด้วยพลังงาน ตัวอย่างที่ดี ได้แก่ การทำโซล่าร์เซลล์ชุมชนของกาญจนบุรีโมเดลบนหลังคาที่สามารถผลิตระบบไฟฟ้าใช้ได้เป็นของตนเอง ได้ใช้ไฟฟ้าในราคาถูก และยังเป็นการสอดรับกับนโยบายรัฐได้เป็นอย่างดีเช่น การผลิตน้ำแข็งขายเองภายในชุมชน การผลิตไฟฟ้าใช้เองเพื่อปลูกผักปลอดสารขายตรงให้กับโรงพยาบาลภายในชุมชน เป็นต้น โรงไฟฟ้าชุมชนและโซล่าร์ชุมชนจึงเป็นโอกาสที่ดีของเอสเอ็มอีคนตัวเล็กให้ทำได้” ทั้งนี้ในฐานะที่ดูแลกระทรวงพลังงานมี 2 นโยบายหลักที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะเข้า มาร่วมโครงการได้ทั้งในฐานะผู้รวบรวมวัตถุดิบเชื้อเพลิง และรับต่อสินค้าเกษตรและอื่นๆจากชุมชนไปจำหน่ายได้แก่ 1.โครงการพลังงานชุมชนที่จะนำแนวคิดกาญจนบุรีโมเดลของเครือข่ายกสิกรรมผักปลอดสารพิษไปต่อยอดทั่วประเทศที่ชุมชนผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ลงทุนประมาณ 500,000 บาทสามารถใช้พลังงานลดต้นทุนทำห้องเย็นเก็บผักและทำระบบน้ำ RO น้ำที่ได้ส่วนหนึ่งร้อยละ 70 ผลิตน้ำแข็ง ส่วนหนึ่งร้อยละ 30 นำไปรดน้ำต้นไม้ ทำประโยชน์แก่ชุมชนได้ถึง 100 ครัวเรือน 2.โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนทั่วประเทศ 1,000 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าชุมชนละไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ คาดมีเงินลงทุนประมาณ 200,000 ล้านบาท “ธุรกิจพลังงานมีโอกาสเยอะมาก เพราะเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตทุกคนตั้งแต่ตื่นจนหลับ ใครเข้ามาจับถูกทางก็รวยได้ โดย 10 ปีที่ผ่านมาเศรษฐีที่โตเร็วคือ นักธุรกิจพลังงาน และยังกระตุ้นตลาดหุ้น ซึ่งนโยบายพลังงานเพื่อทุกคนที่ทำจะสร้างประโยชน์ทั้งเศรษฐกิจฐานราก เอสเอ็มอี และกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม”