เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2562 งานปักกิ่งเอ็กซ์โป 2019 (หรือที่เรียกว่า งานพืชสวนโลกปักกิ่ง) ได้จัดขึ้นอย่างเป็นทางการที่กรุงปักกิ่ง โดยจัดต่อเนื่องจากการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road for International Cooperation - BRF) ครั้งที่สอง ซึ่งนับเป็นงานพืชสวนโลกประเภท A1 ระดับสุดยอดระหว่างประเทศ โดยมีจีนเป็นเจ้าภาพ หลังจากที่เคยเป็นเจ้าภาพจัดงานพืชสวนโลกที่เมืองคุนหมิง ในปี พ.ศ. 2542 นายสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนได้กล่าวคำสุนทรพจน์ในพิธีเปิดงาน เรียกร้องให้มนุษยชาติรักษาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมเสมือนรักษาดวงตาของตนเอง ปฏิบัติต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมเสมือนปฏิบัติต่อสิ่งมีชีวิต ร่วมกันสร้างรากฐานแห่งอารยธรรมระบบนิเวศ และร่วมกันเดินไปในเส้นทางการพัฒนาแบบสีเขียว (อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม) “การพัฒนาแบบสีเขียว” แนวความคิดที่อยู่ในกระแสความสนใจจากทั่วโลก ภายใต้ความต้องการการพัฒนาแบบสีเขียวที่เหมือนกันของประชาคมโลก งานพืชสวนโลกปักกิ่งจึงได้เชิญหน่วยงานต่างๆ ประกอบด้วย 110 ประเทศทั่วโลก องค์กรระหว่างประเทศ ตลอดจนมณฑล เมือง และเขตต่างๆของจีน รวมถึงฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน รวม 31 แห่ง องค์กรที่ไม่ใช่องค์กรของรัฐกว่า 120 องค์กร และบริษัทเอกชนในประเทศอีก 17 บริษัท เข้าร่วมจัดนิทรรศการบนพื้นที่ 503 เฮกตาร์ 100 สวนจัดแสดง โดยได้คงต้นไม้ดั้งเดิมชนิดต่างๆไว้ ราว 5 หมื่นต้น และปลูกใหม่เพิ่มเติมเป็นไม้ยืนต้น 5 หมื่นต้นและไม้พุ่มต่างๆอีกราว 1 แสน 2 หมื่นต้น โดยคาดว่าตลอดช่วงเวลาจัดงาน 162 วัน ตั้งแต่วันที่ 29 เมษายนถึงวันที่ 7 ตุลาคมจะมีผู้เยี่ยมชมจากทั้งในและต่างประเทศ 16 ล้านคน จึงทำให้งานพืชสวนโลกปักกิ่ง กลายเป็นงานพืชสวนโลกที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด และมีการสนับสนุนระหว่างประเทศมากที่สุดของจีน ภาพโดย กั๋ว ฮองซ่ง หัวข้อหลักในการจัดงานพืชสวนโลกปักกิ่งครั้งนี้คือ “LIVE GREEN, LIVE BETTER” (ใช้ชีวิตแบบสีเขียว เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น) “LIVE GREEN”คือ ใช้พืชสวนเป็นสื่อกลาง ผู้คนเคารพธรรมชาติ อนุรักษ์ธรรมชาติ กลมกลืนเข้ากับธรรมชาติ สร้างพื้นที่สีเขียว ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมีแนวคิดการผลิตและการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม “LIVE BETTER” คือ ใช้แนวคิดการพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ให้ครอบคลุมในทุกด้าน เร่งสร้างสังคมประหยัดทรัพยากรและแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมพืชสวน สร้างความเจริญรุ่งเรืองและร่วมกันสร้างโลกให้งดงาม สี่อาคารนิทรรศการหลักภายในงาน งานพืชสวนโลกปักกิ่ง มีอาคารนิทรรศการหลัก 4 หลัง ได้แก่ อาคารนิทรรศการประเทศจีน อาคารนิทรรศการระหว่างประเทศ อาคารนิทรรศการพฤกษศาสตร์ และ อาคารนิทรรศการประสบการณ์ชีวิต ซึ่งทุกอาคารเต็มไปด้วยเนื้อหาการนำเสนอที่เน้นวิถีการดำเนินชีวิต การผลิต การอนุรักษ์ระบบนิเวศที่เชื่อมโยงกัน การผสมผสานกันระหว่าง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับอารยธรรมมนุษย์ ยกตัวอย่างเช่น อาคารนิทรรศการประเทศจีน ได้เน้นการจัดแสดงวัฒนธรรมเชิงนิเวศของจีน โดยนำเสนอศิลปะการจัดดอกไม้และมรดกทางวัฒนธรรมของจีนที่ไม่ใช่วัตถุ อาคารนิทรรศการระหว่างประเทศบอกเล่าเรื่องราววัฒนธรรมพืชสวน เอกลักษณ์และวัฒนธรรมพืชสวนในแต่ละภูมิภาคทั่วโลก ผ่านการนำเสนอแบบหลายมิติ (กายภาพ+มัลติมีเดีย+ความสัมพันธ์+บรรยากาศ) อาคารนิทรรศการพฤกษศาสตร์ มีการจัดแสดงกลุ่มพืชเขตร้อนในระบบนิเวศจริง ทำให้นักท่องเที่ยวได้เห็นรูปแบบกลุ่มพืชป่าชายเลนตลอดจนพืชโซนร้อนอื่นๆ อย่างใกล้ชิด อาคารนิทรรศการประสบการณ์ชีวิต จัดให้นักท่องเที่ยวได้มีปฏิสัมพันธ์กับมรดกทางวัฒนธรรมที่ไม่ใช่วัตถุ แสดงให้เห็นเสน่ห์ของวัฒนธรรมจีนโบราณอย่างเต็มที่ อาคารนิทรรศการประเทศจีนรูปทรงโค้งพระจันทร์เสี้ยว ดูโดดเด่นเป็นพิเศษในฐานะอาคารประธานของงานพืชสวนโลกปักกิ่ง ซึ่งมีนายชุยข่าย เป็นผู้ออกแบบ ได้นำศิลปกรรมแบบท้องทุ่งมาผสมผสานในอาคารหลังนี้ ด้านบนของอาคารใช้วิธี “คลุมหลังคาเพิงกระท่อม” ของชาวนาเป็นต้นแบบ โดยใช้วิธีการค้ำหลังคาเป็นสามเหลี่ยมอย่างเรียบง่าย สร้างความกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมดั้งเดิมและยังเป็นรูปแบบการสร้างบ้านของมนุษย์ที่เก่าแก่ที่สุดรูปแบบหนึ่งด้วย แต่อย่างไรก็ตามอาคารนี้ได้เลือกใช้สีแบบเดียวกับกระเบื้องเคลือบของพระราชวังต้องห้ามเข้ามาตกแต่งโครงสร้างหลังคาซึ่งทำให้สะท้อนแสงอย่างแวววาวภายใต้แสงแดดในวันที่อากาศสดใส แสดงออกถึงลักษณะทางวัฒนธรรมของจีนและเป็นสัญลักษณ์แทนชั้นเชิงศิลปกรรมชั้นสูงด้านการก่อสร้างของจีน ตัวอาคารนิทรรศการประเทศจีนได้ใช้เทคโนโลยีการถ่ายเทอากาศเพื่อประหยัดพลังงาน โดยลมที่ผ่านเข้ามาจะถูกกรองเพื่อลดอุณหภูมิและทำหน้าที่ถ่ายเทอากาศภายในโถงนิทรรศการ ผ่านช่องระบายลมหลายสิบช่องและทางระบายลมหลายทางตั้งแต่ชั้นใต้ดินถึงบนดิน ทำให้อากาศสามารถระบายออกไปได้เป็นชั้นๆ และหมุนเวียนกลับมาทำให้ผู้คนภายในได้สูดอากาศที่สดชื่นตลอดเวลา สามารถลดเวลาในการเปิดเครื่องปรับอากาศ และลดการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หน้าต่างด้านบนหลังคาสามารถเปิดได้ด้วยไฟฟ้าและปิดเมื่อถึงฤดูหนาว โดยอุปกรณ์ระบายลมและนำลมเข้าเหล่านั้น ต่างเป็น “เครื่องหายใจ” ที่สำคัญมาก ซึ่งทำให้อาคารนิทรรศการประเทศจีนกลายเป็นสิ่งก่อสร้างที่ “หายใจได้” ภาพโดย กั๋ว ฮองซ่ง ในส่วนอาคารนิทรรศการระหว่างประเทศ ออกแบบเป็น “ร่มเหล็ก” 94 คัน คอยปกป้องผลิตภัณฑ์พืชสวนที่มีคุณภาพจากทั่วโลกที่อยู่ภายใน “ร่มเหล็ก” เหล่านี้มีการออกแบบตามแนวคิดพิเศษอันเป็นเอกลักษณ์ โดยสามารถกันแสงแดดให้กับอาคารในฤดูร้อน และสามารถละลายหิมะด้วยสายเคเบิลละลายหิมะในฤดูหนาว ภายในเสาร่มเป็นท่อที่ใช้สำหรับรวบรวมน้ำฝนจากด้านบนของร่มและนำไปเก็บในบ่อน้ำเพื่อใช้ในการรดน้ำสวน ส่วนบนของร่มปูด้วยแผงกำเนิดไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ ซึ่งจะเก็บและแปลงพลังงานแสงอาทิตย์เป็นไฟฟ้าให้กับอาคาร ทุกค่ำคืนพอฟ้าเริ่มมืดใบร่มจะสะท้อนแสงเปลี่ยนเป็นสีสันต่างๆ จากไฟที่ถูกฉายขึ้นไป สร้างภาพอันงดงามตระการตาให้กับอาคารนิทรรศการพืชสวนโลก เทคโนโลยี 5G สร้าง “พืชสวนโลกอัจฉริยะ” ถ้าหากกล่าวว่า สิ่งปลูกสร้างในงานพืชสวนโลกปักกิ่งได้ผสมผสานเทคโนโลยีต่างๆ ไว้มากมายแล้ว การนำ “รถยนต์ไร้คนขับ” กับเทคโนโลยี 5G มาใช้ ยิ่งทำให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลายเป็นจุดเด่นที่สำคัญของงานพืชสวนโลกปักกิ่งในครั้งนี้ บริษัทไป่ตู้ (Baidu) ของจีนได้จัดหารถยนต์ไร้คนขับสามคันให้แก่งานพืชสวนโลกปักกิ่ง ประกอบด้วยรถมินิบัสไร้คนขับ 8 ที่นั่งสองคัน และรถเก๋งไร้คนขับ 4 ที่นั่งหนึ่งคัน ซึ่งรถยนต์ไร้คนขับเหล่านี้ได้ให้บริการแก่นักท่องเที่ยวที่เข้าไปชมภายในพื้นที่จัดงาน นับเป็นการประสานการทำงานกันอย่างลงตัวของเทคโนโลยี พืชสวน และวัฒนธรรม ด้วยมีการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ในปี พ.ศ. 2562 ปีนี้จึงได้รับการขนานนามจากชาวโลกว่าเป็นการเปิดศักราชแรกของเทคโนโลยี 5G งานพืชสวนโลกปักกิ่งจึงกลายเป็นงานพืชสวนโลกอัจฉริยะที่มีเทคโนโลยี 5G มาสนับสนุนเป็นครั้งแรกของโลก นักท่องเที่ยวสามารถค้นหาข้อมูลเส้นทางคมนาคม ร้านอาหารเครื่องดื่ม ที่พัก จุดชมวิวบริเวณโดยรอบ และสามารถศึกษาความรู้ทางด้านพฤกษศาสตร์ ดอกไม้ และศิลปะพืชสวนในคอลัมน์ “ห้องเรียนพฤกษศาสตร์” ผ่านแอปบนมือถือ “EXPO 2019” หัวข้อ “พืชสวนโลกอัจฉริยะ” อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Things: IoT) และเทคโนโลยี 5G เปรียบเหมือนเส้นประสาท Big Data และปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence: AI) เปรียบได้กับสมอง งานพืชสวนโลกปักกิ่งจึงได้จัดแสดงขั้นตอนพัฒนาการของพืชสวน ตั้งแต่เริ่มการทำสวนป่า จนกระทั่งถึงมีการผสมผสานระหว่างคน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ธรรมชาติและวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน นิทรรศการการสร้างสรรค์เมืองอัจฉริยะ พนักงานบริการหุ่นยนต์ การนำเที่ยวของไกด์อัจฉริยะ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสประสบการณ์อันแสนยอดเยี่ยมของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยตนเอง นอกจากนี้ งานพืชสวนโลกปักกิ่งยังได้สร้างกลไกความปลอดภัยทางสุขภาพแบบ 5G ขึ้นมาสามระดับ ได้แก่ การใช้เทคโนโลยี 5G สร้างระบบการปฐมพยาบาลด่วนจากระยะไกลร่วมกัน การวินิจฉัยโรคจากระยะไกล และระบบการผ่าตัดจากระยะไกลร่วมกัน ผ่านศูนย์บริการทางการแพทย์ภายในงาน ซึ่งได้เชื่อมต่อกับแหล่งผู้เชี่ยวชาญในสถาบันการแพทย์ที่สำคัญของปักกิ่ง ผ่านเทคโนโลยีอันทันสมัย เพื่อร่วมกันสร้างความปลอดภัยทางสุขภาพภายในงานพืชสวนโลกครั้งนี้ จีนกับไทยร่วมแบ่งปันแนวความคิด “การพัฒนาแบบสีเขียว” นอกเหนือจากการจัดนิทรรศการพืชสวนปกติแล้ว ตลอดช่วงระยะเวลาการจัดงานพืชสวนโลกปักกิ่ง ก็ยังมีการจัดกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมอีกเกือบ 2,500 ครั้ง ทั้งกิจกรรมที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ เช่น พิธีเปิดงาน กิจกรรมเปิดสวน วันประเทศจีน พิธีปิด เป็นต้น และกิจกรรมที่มีเอกลักษณ์พิเศษ เช่น วันประเทศ วันเกียรติภูมิ วันมณฑลเขตและเมือง การเดินพาเหรดดอกไม้ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมวิชาการพืชสวน เช่น การประชุมวิชาการ การประกวดสวนระหว่างประเทศ และยังมีการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมของ 60 กว่าประเทศและองค์กรระหว่างประเทศอีกด้วย งานพืชสวนโลกปักกิ่งจึงกลายเป็นเวทีผสมผสานระหว่างรูปแบบศิลปวัฒนธรรมและวัฒนธรรมระหว่างประเทศที่หลากหลาย ภาพโดย กั๋ว ฮองซ่ง ท่ามกลางกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมที่มีมากมาย กิจกรรมของประเทศไทยที่จัดขึ้นวันที่ 28 กรกฏาคม ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ทั้งในและรอบบริเวณอาคารนิทรรศการถูกประดับประดาสีสันสดใสเต็มไปด้วยดอกกล้วยไม้ไทย มีการนวดสมุนไพรไทย การทำขนมหวานแบบไทย การวาดลวดลายแบบไทยบนร่ม และกิจกรรมอื่นๆ ทำให้ผู้เข้าชมได้สัมผัสและดื่มด่ำไปกับวัฒนธรรมพืชสวนของไทยและวิถีชีวิตแบบไทยด้วยตนเอง ภายในงานยังได้จัดเจรจาธุรกิจและศูนย์บริการข้อมูลการท่องเที่ยว และมีกิจกรรมจับฉลากรางวัลตั๋วเครื่องบินไปกลับปักกิ่ง-กรุงเทพฯ ซึ่งได้มอบโอกาสให้แก่นักท่องเที่ยวจากทั้งจีนและต่างประเทศในเดินทางไปสัมผัสประเทศไทยด้วยตนเองต่อไป นายพิริยะ เข็มพล เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศจีนกล่าวขณะเข้าร่วมกิจกรรมว่า “สำหรับประเทศไทย การเข้าร่วมงานครั้งนี้ เป็นโอกาสสำคัญในการแสดงความเป็นไทยให้ประชาคมระหว่างประเทศเห็น เพิ่มความมั่นใจต่อคุณภาพผลิตภัณฑ์การเกษตรของไทย ตลอดจนการประชาสัมพันธ์จุดท่องเที่ยวและขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมของไทย” นายชาญยุทธ์ ภาณุทัต หัวหน้าสำนักงานโครงการ Beijing Expo 2019 กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้รับผิดชอบอาคารนิทรรศการประเทศไทยบรรยายสรุปกับผู้สื่อข่าวว่า อาคารนิทรรศการประเทศไทยแบ่งออกเป็นสองส่วนหลัก ได้แก่ สวนไทยและเรือนไทย โดยในสวนไทยได้เลือกปลูกพืชพรรณเพื่อใช้ประโยชน์แบบไทยที่มีความสวยงามและเหมาะสมในการปลูกในประเทศจีน ส่วนเรือนไทยใช้เป็นอาคารสำหรับแสดงวิถีชีวิต สังคมและวัฒนธรรมแบบไทย เปิดต้อนรับแขกและนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมอย่างอบอุ่น ภาพโดย หลี่ เซิ่งขุ่ย ไม่เพียงเท่านี้ การจัดงานพืชสวนโลกครั้งนี้ ยังได้เปิดโอกาสให้จีนและไทยสองประเทศได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความเข้าใจซึ่งกันและกันในการพัฒนาแบบสีเขียว การออกแบบและการจัดวางของอาคารนิทรรศการประเทศไทยในงานพืชสวนโลกครั้งนี้ ได้นำเสนอในแนวความคิด “THE GREEN WAY OF LIFE, THE THAI WAY OF SUFFICIENCY” ซึ่งไม่เพียงแต่สอดคล้องกับ “LIVE GREEN, LIVE BETTER” ซึ่งเป็นหัวข้อหลักของงานพืชสวนโลกปักกิ่ง ที่สะท้อนแนวความคิด “ให้ศิลปะพืชสวนกลมกลืนกับธรรมชาติ ให้ธรรมชาติประทับหัวใจ” เท่านั้น หากยังตรงกับแนวความคิด “ภูเขาเขียวน้ำใส มีค่าดั่งภูเขาเงินภูเขาทอง” ซึ่งเป็นแนวความคิดการพัฒนาแบบสีเขียวของจีนอีกด้วย “โลกจะมีความสมัครสมานสามัคคี หากผู้คนชื่นชมความงดงามของตนเองและผู้อื่น และทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความงดงามขึ้นบนโลก” งานพืชสวนโลกปักกิ่งได้ส่งสัญญาณแรงให้แก่ชาวโลกว่า ---- การพัฒนาแบบสีเขียวเป็นหนทางสู่ความมั่งคั่งร่วมกันของมนุษยชาติ โดย:หลี่ เจิงขุย,เหริน เผิง