เพื่อไม่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา แนะเลือกกระทงให้เหมาะกับแหล่งน้ำ ใช้วัสดุธรรมชาติ เลือกย่อยสลายง่าย ลอยออนไลน์ ลดขนาด และลดจำนวนกระทง นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในทุกๆ ปี เมื่อผ่านคืนวันลอยกระทงสิ่งที่ตามมาคือ ซากกระทงจำนวนมากที่ลอยอยู่ในแม่น้ำลำคลองหลายแห่ง จากสถิติของศูนย์ข้อมูลกทม.พบว่า ปริมาณกระทงที่เก็บได้ในปี 61 เฉพาะในกทม. รวมทั้งหมด 841,327 ใบ แบ่งเป็นกระทงจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ต้นกล้วย ใบตอง 796,444 ใบ หรือร้อยละ 94.7 และกระทงจากโฟม 44,883 ใบ หรือร้อยละ 5.3 แม้ปริมาณกระทงจะเพิ่มขึ้นจากปี 60 ร้อยละ 3.62 แต่สัดส่วนของกระทงโฟมลดลง เนื่องจากมีการรณรงค์ให้ประชาชนใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ทำให้ลอยกระทงจากวัสดุธรรมชาติมากขึ้น อย่างไรก็ตาม กระทงที่ถูกนำมาลอยตามจุดต่างๆ สุดท้ายจะถูกเก็บขนขึ้นมาเพื่อนำไปกำจัดต่อไป ทั้งนี้ ในวันลอยกระทงที่จะถึงนี้ ขอความร่วมมือทุกคน ร่วมใจกันลอยกระทงอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสืบสานประเพณีที่ดีงาม โดยใช้หลัก 4 เลือก 2 ลด คือ 1. เลือกกระทงให้เหมาะกับแหล่งน้ำ เช่น กระทงขนมปัง ขนมข้าวโพด ควรลอยในแหล่งน้ำที่มีปลากิน กระทงหยวกกล้วยควรลอยในแหล่งน้ำที่มีเจ้าหน้าที่เก็บขนขึ้นมา 2. เลือกกระทงที่ทำจากวัสดุจากธรรมชาติ ไม่มีสารก่อมลพิษต่อแหล่งน้ำ เช่น ทำจากต้นกล้วย หยวกกล้วย ใบตอง 3. เลือกกระทงที่ไม่ใช้วัสดุหลากหลายเกินไป เลี่ยงกระทงที่มีเข็มหมุด พลาสติก โฟม เพราะย่อยสลายยากและเป็นขยะในแหล่งน้ำได้ 4. เลือกลอยกระทงออนไลน์ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ไม่ได้ไปลอยนอกสถานที่ 5. ลดขนาดกระทง ลอยขนาดเล็กแทนขนาดใหญ่ เพราะใช้วัสดุน้อยกว่า ขยะน้อยกว่า 6. ลดจำนวนเหลือ 1 กระทงลอยร่วมกัน ช่วยลดขยะและประหยัดเงิน เช่น มากันเป็นครอบครัวๆ ละ 1 ใบ มาเป็นกลุ่มเพื่อน กลุ่มละ 1 ใบ มากับแฟน ลอยกระทงร่วมกัน 1 ใบ เป็นการสานสัมพันธ์ที่ดี ขอบคุณภาพกระทงน้ำแข็ง จาก liekr.com