บรรยากาศในแบบที่เรียกว่า “คอนเสิร์ต” เป็นความบันเทิงรูปแบบหนึ่งที่ช่วยสร้างอรรถรส ความ เพลิดเพลิน ความตื่นตาตื่นใจ ความรู้สึกหลากหลายอารมณ์ที่แตกต่างกันไป แต่ใครจะรู้บ้างว่ากว่าจะเป็นหนึ่งคอนเสิร์ตที่ให้เราได้ชมกัน...ใครนะช่างเป็นคนที่สร้างสรรค์ทำให้เราเพลิดเพลินได้ขนาดนั้น เรามักจะชื่นชมความสามารถของนักแสดงที่ปรากฎอยู่บนเวที ไม่ว่าจะเป็นนักดนตรี นักร้อง นักแสดงที่เราได้เห็นในการแสดงคอนเสิร์ต แต่ใครจะรู้บ้างว่า กว่าจะเป็นคอนเสิร์ต..ยังมีผู้ที่คอยส่งเสริมและสนับสนุนอีกหลายชีวิตที่ช่วยให้งานคอนเสิร์ตเหล่านั้นสำเร็จลุล่วงไปได้ หรือที่เรามักจะเรียกว่า “ผู้ที่อยู่เบื้องหลัง” นั่นเอง บทความนี้ จะขอนำประสบการณ์ความสำเร็จของผศ.ดร.เด่น อยู่ประสริฐ ศิลปินศิลปาธรและคณบดีวิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ประสบความสำเร็จในงานเบื้องหน้า ทั้งนักเปียโน วาทยากร ที่ได้รับการยอมรับจากคนในวงการดนตรีทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งยังทำงานอยู่เบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็นผู้ประพันธ์เพลง โปรดิวเซอร์ และควบคุมกำกับการแสดงคอนเสิร์ตร่วมกับทีมงานที่อยู่เบื้องหลังทุกฝ่าย “งานคอนเสิร์ตใหญ่ๆ ที่ประสบความสำเร็จ มักจะประกอบด้วยทีมงานหลายฝ่าย อาทิ ผู้กำกับศิลป์ ผู้กำกับดนตรี ผู้กำกับเวที ผู้ช่วยผู้กำกับเวที (หลายคน) ผู้ออกแบบฉาก/จัดองค์ประกอบเวที ผู้สร้างฉาก วิศวกรโครงสร้าง ฝ่ายมัลติมีเดียและแอนิเมชัน ฝ่ายวิชวลเอฟเฟค ผู้กำกับภาพ ช่างภาพวีดีโอ ผู้ออกแบบแสง ช่างจัดไฟ ช่างไฟ ผู้กำกับแสง ผู้ช่วยผู้กำกับแสง ผู้กำกับเสียง ผู้ช่วยผู้กำกับเสียง(หลายคน) ผู้ออกแบบเสื้อผ้า/ดูแลการแต่งกาย ช่างแต่งหน้า ช่างทำผม ผู้ดูแลศิลปิน ผู้ออกแบบท่าเต้น/ลีลา โค้ชดูแลการร้อง ผู้จัดการวง นักแต่งเพลง นักแยกและเรียบเรียงเสียงประสาน ผู้ดูแลโน้ตเพลง เป็นต้น ยังไม่นับรวมผู้ที่ต้องรับหน้าที่ปฏิบัติงานต่อ ฉะนั้น...ความสำเร็จของงานหรือคอนเสิร์ตนั้นเกิดขึ้นจากการร่วมมือของหลายฝ่าย ถ้าเราได้เจอผู้ร่วมงานที่รู้ใจกัน จงรักษาความสัมพันธ์นั้นไว้ให้ดี คุณอาจไม่เคยรู้ว่ามีผู้ที่ทำงานอยู่เบื้องหลังมากมาย บุคคลเหล่านั้นล้วนเป็นส่วนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของคอนเสิร์ต ผู้จัดบางคนไม่ทราบระบบการทำงาน บางครั้งตั้งงบประมาณที่ไม่เหมาะสม ซึ่งบางครั้งแทบจะเป็นไปไม่ได้ในการทำงาน บางคนเข้าใจเพียงว่า คงมีแค่ค่าเช่าสถานที่ ค่าตัวนักแสดงก็เพียงพอแล้ว ขาดความเข้าใจและไร้รสนิยม สุดท้ายมักลงเอยด้วยความไม่เป็นมืออาชีพ ดังนั้น...อยากให้เข้าใจว่า ถ้าอยากได้งานดีก็จำเป็นต้องมีทีมงานที่ดี เมื่อทีมงานดีแล้ว ต้องเก่งด้วย และคนเก่งย่อมมีค่าตัวที่สูงเป็นธรรมดา” ทั้งนี้ ในฐานะที่เป็นคณบดีวิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต ผศ.ดร.เด่น ได้วางรากฐานของเด็กที่จะเป็นศิลปินคนดนตรีโดยว่า ด้วยคณาจารย์ส่วนใหญ่ล้วนเป็นศิลปินมืออาชีพ นักดนตรี ศิลปินที่มีความ Professional เราคิดว่า เมื่อปล่อยให้เด็กได้ทำงานสร้างสรรค์โดยไม่ต้องไปกำหนดกฎเกณฑ์อะไรมากมาย คอยสนับสนุนอยู่ห่างๆ เด็กๆ อาจเจอปัญหาบ้าง แต่ก็จะได้เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาเอง ได้รู้ว่างานไม่สามารถทำสำเร็จได้ด้วยคนคนเดียว ได้เห็นรุ่นพี่ช่วยดูแลรุ่นน้อง เห็นการบริหารจัดการเวลาซ้อมที่มีอยู่น้อยนิด เห็นทีมงานเบื้องหลังที่เอาใจใส่ดูแลคุณภาพงานอย่างจริงจัง ผลลัพธ์อาจจะไม่ได้เป็นไปตามที่ผู้ใหญ่อย่างเราคิด แต่มันเป็นผลลัพธ์ที่ดีกว่า เป็นผลงานที่เขาภูมิใจเพราะเขาคิดเอง ถึงงานอาจไม่สมบูรณ์เท่ากับมือโปรอาจมีข้อผิดพลาด ก็ดี เราทุกคนทั้งอาจารย์ นักศึกษา และทีมงานจะได้เรียนรู้จากมัน ถ้ามันจะผิด ก็ให้มันผิดที่นี่ (ที่วิทยาลัยดนตรี ม.รังสิต) ตรงนี้เวทีของการซ้อมทำงานจริง จะได้ฝึกแก้ไข...เพื่อจะได้...ไม่ผิดพลาด เมื่อเราเป็นคนดนตรีที่เรียกว่า “มืออาชีพ” ในอนาคต