ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวศรีสะเกษค้นพบแหล่งท่องเที่ยวเชิงศาสนาแห่งใหม่ที่อำเภอราษีไศล เมื่อวันที่ 5 พ.ย.62 ที่วัดบ้านด่าน ตำบลสร้างปี่ อำเภอราษีไศล ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวศรีสะเกษและนายกสมาคมส่งเสริมเครือข่ายการท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษได้เดินทางไปกับคณะสื่อมวลชนจังหวัดศรีสะเกษเพื่อสำรวจแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำที่อำเภอราษีไศล ได้ค้นพบวัดระหว่างทาง ที่กำลังประดิษฐ์ประดอยลวดลายบนอารามปรับปรุงตกแต่งโดยชาวบ้านรวมพลังกันเพื่อต้องการสร้างเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป จึงแวะเข้าไปกราบนมัสการพระครูวิจิตร กาญจนเขต เจ้าคณะตำบลสร้างปี่ เจ้าอาวาสวัดบ้านด่าน ถึงควบคุมดูแลการก่อสร้างด้วยตนเองดร กัลยาณี ธรรมจารีย์ กล่าวว่า หลังจากได้คุยกับหลวงพ่อทราบว่าท่านสร้างอารามหลวงตามรูปแบบที่ได้นิมิตรในฝัน เพื่อต้องการเป็นฐานที่ตั้งของพระพุทธรูปองค์ทองสำริดที่ศักดิ์สิทธิ์ ทราบว่ามีอภินิหารมากเพราะพระพุทธรูปองค์นี้เคยถูกขโมยไปสองครั้งแต่ผู้ที่ขโมยก็เอาไปไม่ได้และมีอันเป็นไป ทำให้ปัจจุบันพระพุทธรูปองค์ทองถูกเก็บไว้ในห้องที่ใส่กุญแจไว้อย่างแน่นหนาเพราะกรมศิลป์มาตรวจลงทะเบียนไว้แล้ว ทราบว่าเก่าแก่หลายร้อยปีและมีความศักดิ์สิทธิ์มาก จึงมีชาวบ้านและคนกรุงเทพมากราบขอพรและได้รับความสำเร็จสมประสงค์ หลวงพ่อได้สร้างอารามหลังนี้มาเก้าปีแล้วด้วยเงินบริจาคของชาวบ้าน ซึ่งวัดบ้านด่านที่เห็นนี้มีสถานที่น่าสนใจหลายอย่างสามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่เชิงศาสนาของอำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ได้เป็นอย่างดี ลวดลายที่ตกแต่งสวยงาม เป็นศิลปะผสมผสานความเชื่อตามตำราพญานาคราช และศิลปะโบราณภาคอีสานซึ่งท่านต้องการใช้เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อทอง พระพุทธรูปสมัยขอมโบราณ ที่มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปประทับยืนปางห้ามสมุทร และเป็นที่นับถือบูชาของชาวตำบลสร้างปี่ มาก อยากจะสนับสนุนและเชิญชวนให้ผู้มีจิตศรัทธาได้เดินทางมาที่วัดแห่งนี้เพื่อจะได้ร่วมพัฒนาอารามให้สำเร็จในเร็ววันจึงขอเชิญชวนและถือเป็นการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของอำเภอราษีไศล ให้เป็นที่รู้จักทั่วไป พระครูวิจิตร กาญจนเขต เจ้าคณะตำบลสร้างปี่ เจ้าอาวาสวัดบ้านด่าน กล่าวว่า เดิมหลวงพ่อทอง ประดิษฐานอยู่ที่วัดขอม ตำบลจระแม อำเภอพระโขนง กรุงเทพฯ ในช่วงนั้นเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ทางวัดขอมได้ประกาศว่าหากวัดใดยังไม่มีพระประธานประจำวัด สามารถที่จะบูชาพระพุทธรูปเพื่อไปกราบไหว้บูชาเป็นศูนย์รวมจิตใจชาวบ้านได้ ชาวบ้านด่าน จึงร่วมใจกันทั้งหมู่บ้านบริจาคปัจจัยเพื่อเป็นทุนส่งตัวแทนชาวบ้านด่านไปอัญเชิญพระพุทธรูปจากวัดขอม โดยมีคุณพ่อใหญ่ธรรมพิมพ์ นำคณะเดินทางไปเลือกพระพุทธรูปเนื่องจากมีพระพุทธรูปมากมายหลายองค์ จึงใช้วิธีการเลือกด้วยการส่องธรรมตามวิธีทางธรรมในสมัยนั้น และได้จับต้ององค์ที่แปลกลักษณะเคลือบด้วยสีดำ เป็นพระพุทธรูปประทับยืนปางห้ามสมุทร รู้ถึงความศักดิ์สิทธิ์ทางภาษาธรรม จึงตกลงเลือกพระพุทธรูปองค์นี้และนำองค์หลวงพ่อที่ได้เลือกกลับมาประดิษฐานที่บ้านด่านในปี 2495 เป็นพระประธานให้ชาวบ้านด่านได้กราบไหว้บูชา เมื่อปี 2514 และ 2516 ได้มีมารศาสนาขโมยพระพุทธรูปหลวงพ่อทอง 2 ครั้งและถูกจับได้ทุกครั้ง เนื่องจากเป็นเพราะความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อทองทำให้มารศาสนาต้องพ่ายแพ้ทุกครั้งไป ตั้งแต่นั้นมาชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุขตลอดมาเรื่องราวความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อทองทำให้พุทธศาสนิกชนทั่วไป เดินทางมากราบไหว้ขอพรหลวงพ่อทองที่วัดบ้านด่านมิได้ขาด และในปี 2553 สำนักศิลปากรที่ 11 กลุ่มโบราณคดีจังหวัดอุบลราชธานี ได้ทำการตรวจสอบพระพุทธรูปหลวงพ่อทอง จึงได้สันนิษฐานว่าหลวงพ่อทองเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้นหรือประมาณ 150 -200 ปีมาแล้ว แต่ที่น่าเสียดายก็คือส่วนบนสุดของพระเศียรซึ่งเป็นเปลวรัศมีนั้นได้หายไปตั้งแต่มารศาสนาขโมยพระพุทธรูปหลวงพ่อทองไป แต่พระพุทธรูปนี้ดลบันดาลให้ชุมชนในหมู่บ้านอยู่เย็นเป็นสุขดีมาก. น.ส.เพียงฤทัย เกียรติชนนาวี :รายงาน