เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 4 พ.ย.62 ที่ห้องประชุมสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต.หนองบัวศาลา อ.เมือง นครราชสีมา. นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา พร้อมนายศารุมภ์ โหม่งสูงเนิน พาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา ,นายวรวุฒิ บุญพิมพ์ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา และนายภาสกร สุรมูล เลขาธิการสมาคม ฯ ทำพิธีลงนามความร่วมมือซื้อขายผลผลิตหัวมันสำปะหลังสด ปีการผลิต 2562/63 ร่วมกับผู้ประกอบการโรงแป้งมันสำปะหลังในพื้นที่ จำนวน 6 ราย ได้แก่ บริษัท เยนเนรัล สตาร์ช จำกัด ,บริษัท ราชสีมา กรีน เอ็นเนอร์ยี จำกัด ,บริษัท แป้งไทย จำกัด ,บริษัท เอี่ยมเฮงอุตสาหกรรม จำกัด ,บริษัท เอี่ยมธงชัยอุตสาหกรรม จำกัด ,บริษัท ชัยภูมิพืชผล จำกัด และกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่มันสำปะหลัง 24 กลุ่ม ผลผลิตรวม 136,143 ตัน เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาสินค้ามันสำปะหลังในจังหวัดนครราชสีมา เป็นทางเลือกสำหรับกลุ่มแปลงใหญ่มันสำปะหลังด้วยการเชื่อมโยงตลาดซื้อขายล่วงหน้า ให้เกษตรกรทราบสถานที่จำหน่าย ช่วงเวลา และราคา จำหน่ายขั้นต่ำ ไม่ต้องรีบเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงต้นฤดู ส่วนโรงงานฯ รับซื้อสามารถนำข้อมูลไป วางแผนการบริหารจัดการวัตถุดิบในกระบวนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ปัญหาผลผลิตล้นตลาดลดลง ทำให้การแก้ไขปัญหาการตลาดมันสำปะหลัง เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นายวิเชียร ผวจ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า สถานการณ์การผลิตมันสำปะหลัง ปี 2562/63 จ.นครราชสีมา มีพื้นที่เพาะปลูก 1,436,075 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 4.04 ตันต่อไร่ ผลผลิตรวม 5,801,743 ตัน ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 24 หรือประมาณ 1,832,576 ตัน เนื่องมาจากสถานการณ์ภัยแล้งและภาวการณ์เกิดโรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง และผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือน พฤศจิกายน 2562 ถึง มีนาคม 2563 อย่างก็ตามพฤติกรรมทางการค้าโดยทั่วไป ราคารับซื้อผลผลิตจะปรับ ลดลงในช่วงต้นฤดูการเก็บเกี่ยวเนื่องจากจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก เกินกำลังการผลิตของ ผู้ประกอบการในพื้นที่ ส่งผลให้ผลผลิตการเกษตรต้องไปติดคิวที่หน้าโรงงาน รอการจำหน่าย ทำให้คุณภาพผลผลิตลดลงและมีต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ด้านนายศารุมภ์ พาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา เผยว่า การลงนามความร่วมมือซื้อขายผลผลิตหัวมันสำปะหลังสด เป็นการสร้างความเข้มแข็งทาง เศรษฐกิจการค้าภายในประเทศ มูลค่าทางเศรษฐกิจของท้องถิ่นภูมิภาคและประเทศ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.2 เกษตรกร วิสาหกิจ ชุมชนและประชาชน มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งยุทธศาสตร์ พัฒนาจังหวัดนครราชสีมา มีแผนการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันเศรษฐกิจ ส่งเสริมการสร้าง มูลค่าสินค้าและบริการภาคการเกษตรในทุกมิติ ตามแผนยุทธศาสตร์กระทรวงพาณิชย์