ปัจจุบันสัดส่วนประชากรสตรีในอาเซียนมีสูงกว่า 50% และมีแนวโน้มเข้าสู่ภาคธุรกิจและสังคมแรงงานมากขึ้น หากแต่การพัฒนาศักยภาพของสตรีในแต่ละระดับเหล่านี้ ยังไม่ได้ออกแบบให้มีความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วอย่างเหมาะสม ดังนั้น ในวาระที่ประเทศไทยได้เป็นประธานอาเซียนปี 2562 เครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน (ASEAN Women Entrepreneurs Network: AWEN) จึงได้ริเริ่มให้มีการจัดการประชุมสุดยอดผู้นำสตรีนักบริหาร เครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน 2019 (AWEN Women CEOs Summit) ในหัวข้อ “การกำหนดทิศทาง ธุรกิจสตรี ก้าวล้ำ สหัสวรรษ 4.0” (Globalization 4.0 and Beyond: Shaping the Future for Women Enterprises) ขึ้นเป็นครั้งแรก คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธานเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน สากล วาระปี 2561-2563 เปิดเผยว่า การประชุมสุดยอดผู้นำสตรีนักบริหารฯ ครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และพันธมิตรอื่น ๆ โดยมีเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน ประเทศไทย (AWEN Thailand) เป็นผู้จัดงานในฐานะประธาน AWEN นับเป็นการจัดประชุมผู้นำสตรีด้านธุรกิจครั้งแรกในอาเซียน ที่มีผู้เข้าร่วมประชุมจากองค์กรธุรกิจและองค์กรนานาชาติชั้นนำเข้าร่วมกว่า 350 คน การประชุมสุดยอดผู้นำสตรีนักบริหาร เครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน 2019 จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นเวทีสำหรับผู้นำจากหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน รวมทั้งด้านสังคม ได้ร่วมกันออกแบบอนาคตให้กับสตรีภาคธุรกิจ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล โดยการประชุมนี้ได้เชิญผู้นำระดับโลก ผู้สร้างพลังการเปลี่ยนแปลงให้กับสตรีทั่วโลก รวมถึงผู้นำด้านธุรกิจ (CEO) จากประเทศในกลุ่มอาเซียนมาเป็นผู้จุดประกายความคิดสร้างสรรค์และแนวคิดให้แก่ผู้นำในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพภาวะผู้นำให้กับสตรีภาคธุรกิจ พร้อมสร้างเครือข่ายขยายความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งในกลุ่มอาเซียนและนอกกลุ่มประเทศอาเซียน อาทิ สาธารณรัฐประชาชนจีน อินเดีย และนิวซีแลนด์ เป็นต้น คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธานเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน สากล วาระปี 2561-2563 การนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดในวันที่ 30 ตุลาคม 2562 โดยมี คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธานเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน พร้อมด้วย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมด้วยผู้แทนจากกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เฝ้าฯ รับเสด็จ จากนั้น คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธานเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน สากล A) WEN) กราบบังคมทูลถวายรายงานถึงที่มาและวัตถุประสงค์ของการจัดประชุม และทูลเชิญทอดพระเนตรวีดิทัศน์ กิจกรรมและผลงานของเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กราบทูลเบิกผู้เข้ารับพระราชทานของที่ระลึก จำนวน 100 ราย จากนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา องค์ประธานทรงกล่าวเปิดงานประชุมผู้นำสตรีนักบริหาร โดยความตอนหนึ่งว่า...
"สตรีจะมีบทบาทในฐานะผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการพัฒนาได้โดยการทำหน้าที่ต่าง ๆ ของตนอย่างดีที่สุด เมื่อท่านต้องเป็นที่พึ่งของครอบครัว จงทำให้เต็มกำลังความสามารถ เมื่อท่านทำงานในหน้าที่พนักงานหรือ ผู้นำสตรีนักบริหาร จงทำหน้าที่ของท่านอย่างดีที่สุด โดยช่วยเหลือผู้อื่นรวมทั้งผู้ที่มาทีหลังท่าน...ในฐานะองค์กรสตรีในวิชาชีพ เครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียนนับว่ามีบทบาทพิเศษ ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาได้ ในฐานะสตรีในวิชาชีพ แต่ละท่านมีบทบาทพิเศษ ท่านสามารถนำมุมมอง ความต้องการ และความสนใจของสตรีเข้าสู่วาระได้ในหลายระดับ ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ และในชุมชน เพื่อเพิ่มความตระหนัก ระดมการสนับสนุนเพื่อรับมือกับความท้าทาย ต่าง ๆ และนำทางสู่อนาคตที่ยั่งยืนยิ่งขึ้นสำหรับผู้คนทั้งมวล..."
จากนั้น เสด็จออกจากห้องแกรนด์ บอลรูม เพื่อไปทอดพระเนตรการแสดงนิทรรศการจาก 10 ประเทศสมาชิกเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน ซึ่งประกอบด้วย บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม ไทย และประเทศนอกกลุ่มอาเซียน เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน จากนั้นเสด็จกลับ ในการประชุมสุดยอดผู้นำสตรีอาเซียน ประกอบด้วยการจัดเสวนาและการบรรยายแลกเปลี่ยนมุมมองในประเด็นที่ท้าทายตลอดระยะเวลา 2 วันในการประชุม ครอบคลุมแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคม นำไปสู่การเสริมสร้างภาวะผู้นำเชิงบวกของสตรีนักธุรกิจให้สามารถนำธุรกิจข้ามช่วงการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่สหัสวรรษ 4.0 และเป็นส่วนหนึ่งในพลวัตรของเศรษฐกิจโลกโดยสามารถดึงดูดผู้บริหาร และผู้ประกอบการสตรีในภาคธุรกิจจากทั้งภายในและภายนอกอาเซียน มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ และสร้างเครือข่าย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนอาเซียนไปสู่อนาคต โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง การจัดประชุมสุดยอดผู้นำสตรีนักบริหาร เครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน 2019 เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงาน ของเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน ซึ่งมีภารกิจหลักในการส่งเสริมและดึงศักยภาพของผู้บริหารสตรีในธุรกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และธุรกิจขนาดใหญ่ทั่วอาเซียน ให้ออกมาเติมเต็มซึ่งกันและกัน ผ่านการผสานเครือข่าย การให้ความรู้ แลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิดเห็น นำไปสู่การยกระดับสถานภาพสตรีในทุก ๆ ด้าน ซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาในสังคมไทยและประเทศในกลุ่อาเซียนไปพร้อมกัน โดยเป็นการประชุมที่จัดขึ้นต่อจากการจัดการประชุม ASEAN Women’s Business Conference and Award Ceremony 2019 ซึ่งมุ่งเน้นการหารือถึงแผนการพัฒนาสตรีผู้ประกอบการร่วมกันของภาคองค์กรธุรกิจ และSMEs เมื่อวันที่ 20-22 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา คุณหญิงณัฐิกา กล่าวอีกว่า เพื่อให้การส่งเสริมสถานภาพสตรีอาเซียนมีความต่อเนื่องและเข้มแข็งยิ่งขึ้น โอกาสนี้เครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียนจึงได้มีปฏิญญาร่วมกัน ภายใต้ “AWEN DECLARATION BANGKOK 2019” ซึ่งประกอบด้วยยุทธศาสตร์สำคัญ 7 ประเด็น ได้แก่ การยกระดับภาวะผู้นำของสตรี การปรับทักษะแรงงานสตรี การสนับสนุนความรู้และสร้างวินัยทางการเงิน การเข้าถึงตลาดผ่านช่องทางดิจิทัล การพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาผู้ประกอบการสตรีอาเซียน การส่งเสริมแนวทางพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน และการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นแกนหลักและเป็นแนวการพัฒนารูปแบบต่าง ๆ ให้แต่ละประเทศนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศตนเอง โดยประเทศไทยจะเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างพลังเศรษฐกิจโดยสตรีให้กับภูมิภาคอาเซียน “ภายใต้ปฏิญญาร่วมกันของ AWEN DECLARATION BANGKOK 2019 เราจะสนับสนุนและส่งเสริมการฝึกอบรม การให้คำปรึกษาและการพัฒนา รวมถึงการยกระดับการฝึกทักษะและทักษะใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้สตรีอาเซียนก้าวสู่การเป็นผู้นำในองค์กรที่เปิดกว้างสำหรับผู้หญิงได้รวดเร็วขึ้น เช่น ทักษะด้านการเงิน การศึกษา การตลาดการค้า เป็นต้น รวมถึงสนับสนุนการริเริ่มโครงการที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ที่จะส่งเสริมสตรีในฐานะผู้มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกันในการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของอาเซียน และส่งเสริมให้ผู้หญิงมีภาวะผู้นำที่พร้อมจะเป็นผู้นำในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และเวทีระหว่างประเทศ ร่วมด้วยการส่งเสริมกิจกรรมเพื่อการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้จากผู้หญิง ที่ประสบความสำเร็จในภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงคนอื่นให้บรรลุการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว โดยประเทศไทยจะเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างพลังเศรษฐกิจสตรีให้กับภูมิภาคอาเซียน และการจัดประชุมนี้ถือเป็นงานสุดท้ายก่อนที่จะหมดวาระของการเป็นประธาน AWEN ในปีนี้ การประชุมนี้จึงเป็นทั้งการริเริ่มและเป็นการส่งมอบงานที่สำคัญให้กับประเทศในกลุ่มอาเซียนต่อไป” คุณหญิงณัฐิกา กล่าวในที่สุด สามารถเข้าศึกษาข้อมูลงาน AWEN Women CEOs Summit ได้ที่ http://womenceosummit2019.awenasean.org