ไทยกำลังเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี ส่งผลให้ในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า รัฐบาลมีความจำเป็นต้องขยายการลงทุนเพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานรองรับ เห็นได้จากการจัดวางงบประมาณรายจ่ายสูงถึง 3 ล้านล้านบาทของหน่วยงานราชการ สำหรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อส่งเสริมสังคมดิจิทัล และสร้างการเข้าถึงการใช้บริการสื่อสารอย่างเท่าเทียม ตามแผนการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจโดยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี(ประเทศไทย 4.0)และแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Digital Economy) โดยมุ่งเน้นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ขณะที่การลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของภาคเอกชนมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องเช่นกัน จากการเปลี่ยนแปลงจากระบบ 4G ไปสู่ 5G ซึ่งจะทำให้มีการลงทุนในด้านนี้มากขึ้น ดังนั้นจึงส่งผลบวกต่อการดำเนินธุรกิจของ TPSอันเป็นที่มาของการเข้าระดมทุนและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai)ของบริษัทเดอะแพรคทิเคิลโซลูชั่น จำกัด (มหาชน) (TPS)ซึ่งเตรียมจะขายหุ้นไอพีโอ 80 ล้านหุ้น คิดเป็น 28.57% นายบุญสม กิจเกษตรสถาพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TPSเปิดเผยว่า เงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ TPS เตรียมนำไปใช้ในการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเครือข่าย (Network Operation Center: NOC)การจัดตั้งศูนย์แสดงข้อมูลระบบรักษาความปลอดภัยและระบบการติดต่อสื่อสาร(DEMO Data Center,Security & Collaboration)ชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินจากการลงทุนซื้อที่ดินและก่อสร้างอาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ ทั้งนี้บริษัทมีแผนที่จะขยายการบริการเพื่อให้บริการครอบคลุมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมากขึ้น จึงมีแผนงานโครงการในอนาคต ดังนี้ การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเครือข่าย เพื่อรองรับการให้บริการดูแลและติดตามความเคลื่อนไหว (Monitor) ของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในองค์กรของลูกค้า,การจัดตั้งศูนย์แสดงข้อมูลระบบรักษาความปลอดภัยและระบบการติดต่อสื่อสาร เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการขาย เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัท โดยให้ลูกค้าเห็นถึงวิธีการทำงานของระบบจริงและประสิทธิภาพของระบบงานต่างๆ สำหรับTPS มีความโดดเด่นที่น่าสนใจในหลายด้าน โดยเฉพาะการเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของ CISCO ระดับ Gold Certified Partner ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยมีเพียง 11 รายเท่านั้น และบริษัทฯ ยังเป็นพันธมิตรกับผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายสารสนเทศชั้นนำระดับโลกรายอื่นๆอีกได้แก่ NetApp,Palo Alto Networks,Symantec, VMware และ FORTINET พร้อมกับมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์การทำงานซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าจนเป็นที่พึงพอใจ นอกจากนี้ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า และคู่ค้า และมีทางเลือกที่หลากหลายในการให้บริการ เช่น การให้บริการในรูปแบบสัญญาเช่าทางการเงิน มีการให้บริการดูแลและบำรุงรักษาระบบภายหลังการขาย และมีการส่งมอบงานที่ตรงต่อเวลา ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาได้รับการยอมรับจากลูกค้าชั้นนำทั้งภาครัฐ และเอกชนโดยมีกลุ่มลูกค้าในอุตสาหกรรมที่หลากหลายได้แก่ อุตสาหกรรมโทรคมนาคม อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมน้ำมันและโรงกลั่น อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ โรงพยาบาล สถาบันการเงิน สถาบันการศึกษา และโลจิสติกส์ เป็นต้น อีกทั้งได้มีการขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจด้านการออกแบบและพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ เพื่อขยายขอบเขตการให้บริการให้คลอบคลุมงานได้ครบวงจรมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ TPS มีสัดส่วนรายได้หลักมาจากธุรกิจจำหน่ายและวางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยคิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยในช่วงปี 2559–2561 เท่ากับ 77.39% ในขณะที่สัดส่วนรายได้ส่วนที่เหลือหลักๆมาจากรายได้จากการให้บริการดูแลและบำรุงรักษาระบบภายหลังการขาย คิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยในช่วงปี 2559–2561 เท่ากับ 19.70% ในขณะที่ 6 เดือนแรกของปี 2562 สัดส่วนรายได้ของธุรกิจจำหน่ายและวางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ต่อสัดส่วนรายได้จากการให้บริการดูแลและบำรุงรักษาระบบภายหลังการขายอยู่ที่ประมาณ 75% ต่อ 25% สำหรับผลการดำเนินงานย้อนหลังในปี 2559-2561 และงวด 6 เดือนแรกปี 2562 บริษัทมีรายได้จากการขายและให้บริการเท่ากับ 595.97 ล้านบาท 847.54 ล้านบาท 536.58 ล้านบาท และ 321.31 ล้านบาท ตามลำดับ และมีกำไรสุทธิเท่ากับ 61.18 ล้านบาท 54.04 ล้านบาท 42.01 ล้านบาท และในงวด 6 เดือนแรกปี 2562 เท่ากับ 22.15 ล้านบาท ตามลำดับ โดยอนาคตหลังจาก TPS เข้าระดมทุนและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai จะเป็นตัวเสริมเขี้ยวเล็บให้กับบริษัทจากฐานทุนที่สูงขึ้น ฐานะทางการเงินแข็งแกร่งกว่าเดิมช่วยเพิ่มศักยภาพในการเข้าประมูลงานขนาดใหญ่ของภาครัฐและเอกชน ยกระดับสู่ความเป็นผู้นำด้านโซลูชั่นแนวหน้าของเมืองไทยในอนาคต