สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page ได้โพสต์เฟซบุ๊ก เผย สุดยอดภาพแสงเหนือ 2019 ที่ได้รับรางวัลช่างภาพดาราศาสตร์ โดยระบุ “ริ้วแสงสีเขียวที่พาดผ่านท้องฟ้าเป็นรูปครึ่งวงกลม ไล่ระดับลงมาเป็นชั้น ๆ สลับซับซ้อน เหนือหมู่เกาะโลฟอเทน (Lofoten) ประเทศนอร์เวย์ กลางดึกของคืนวันที่ 9 มี.ค.61 คือภาพแสงเหนือขนาดยักษ์ เกิดจากอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้าของลมสุริยะเข้ามากระทบกับชั้นบรรยากาศใกล้ขั้วสนามแม่เหล็กโลก อะตอมดูดซับพลังงานและเรืองแสงออกมา เรียกว่า “#แสงออโรรา” เนื่องจากดวงตามนุษย์รับแสงสีในตอนกลางคืนได้น้อย หากมองแสงออโรราด้วยตาเปล่าจะเห็นเป็นริ้วสีขาวจางๆ แต่เมื่อใช้กล้องถ่ายภาพโดยตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ให้ช้าลง จะสามารถเก็บแสงได้มากขึ้น มีสีสันมากขึ้น ดังนั้น ช่างภาพต้องไต่เขาลุยหิมะอันหนาวเหน็บขึ้นไปบนยอดเขาออฟเฟอรอยคามเมน (Offerøykammen) ในประเทศนอร์เวย์ เพื่อถ่ายภาพแสงเหนือที่ตระการตาแบบนี้ เขาหันหน้าไปทางเหนือ เฝ้ารอหลายชั่วโมงจนกระทั่งหลังเที่ยงคืนแสงเหนือปรากฏขึ้นสว่างที่สุด พร้อมกับฉากหลังเป็นทางช้างเผือกในกลุ่มดาวหงส์ (Cygnus) และตำแหน่งแสงไฟที่สาดส่องลงมาจากยอดเขาด้านซ้ายมือทำให้ภาพดูมีมิติมากขึ้น ภาพแสงเหนืองดงามเหนือหมู่เกาะโลฟอเทนนี้ ถ่ายโดย นิโคไล บรูกเกอร์ (Nicolai Brügger) ด้วยใช้กล้อง Nikon D600 (เลนส์ 15 มม. f/2.8, ISO 2000, ถ่ายทั้งหมด 12 ภาพ ภาพละ 13 วินาที ใช้เวลารวมทั้งสิ้น 156 วินาที) ได้รับรางวัลสูงสุดในหมวด “Aurorae” ของช่างภาพดาราศาสตร์ ในปี 2562 จากภาพที่ได้รับการบันทึกจำนวนกว่า 4,600 รายการ ภาพที่ได้รับรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศ จะจัดแสดงควบคู่ไปกับภาพที่คัดสรรมาแล้วจำนวน 68 ภาพ ในนิทรรศการจนถึงวันที่ 26 เมษายน 2563 สามารถเยี่ยมชมได้เว็บไซต์ของ “Royal Museums Greenwich” เรียบเรียง : วทัญญู แพทย์วงษ์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. อ้างอิง https://astronomynow.com/2019/10/01/the-watcher/ https://www.rmg.co.uk/…/astronomy-photographer-y…/exhibition” ขอบคุณภาพจาก https://www.rmg.co.uk/…/astronomy-photographer-y…/exhibition”