“ศีลคือปกติ แต่ละคนก็มีศีลแตกต่างกันไป” ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ชื่อว่าเป็น “ปราชญ์” คนหนึ่งของประเทศไทย แน่นอนว่าท่านต้องมีความรู้ที่ลึกซึ้ง รวมถึงความรู้ในเรื่องศาสนาพุทธ ซึ่งท่านได้เขียนและบรรยายไว้ในหลายที่หลายแห่ง แต่ที่ผมนำมาเล่าให้ฟังในคอลัมน์นี้ ไม่ได้เน้นในความรู้ที่ลึกซึ้งในเรื่องศาสนาพุทธตามที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เคยเขียนเคยบรรยายไว้แต่อย่างใด เพราะความรู้เหล่านั้นสามารถหาอ่านเอาได้ แต่ที่สำคัญก็คือผมเองไม่มีความรู้ที่ลึกซึ้งพอ ที่จะวิเคราะห์วิจารณ์ถึงความรู้ต่างๆเหล่านั้นได้ จึงขอแค่ว่าจะนำเสนอมุมมองส่วนตัวของผม จากการที่ได้ทำงานใกล้ชิดท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ เพื่อมาเล่าสู่กันฟังให้เพลินๆ นั้นมากกว่า ผมชอบสังเกตเวลาที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์พบเจอกับพระสงฆ์ เช่น เวลาที่ท่านไปวัดหรือเวลาที่มีงานบุญที่บ้าน หลายคนคงจะสังเกตเห็นเช่นเดียวกันกับผมว่า ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ชอบที่จะพูดคุยอย่างเป็นกันเองกับพระคุณเจ้าเหล่านั้น ทั้งที่บางรูปก็เพิ่งจะเคยเจอกันเป็นครั้งแรก แต่ท่านก็พูดคุยกับพระเหล่านั้นได้อย่างสนุกสนาน อย่างกับว่าได้เคยรู้จักกันมานานแล้ว โดยเฉพาะในเวลาที่พระท่านฉันภัตตาหาร ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็จะเข้าไปพูดคุยอย่างคุ้นเคย ซึ่งเท่าที่ผมไปนั่งฟังอยู่ใกล้ๆ ก็ไม่ได้คุยอะไรที่เป็นสาระลึกซึ้ง หรือคุยธรรมะอะไรแต่อย่างใดไม่ ส่วนใหญ่จะเป็นการถามสารทุกข์สุกดิบ การอยู่การฉันของพระ รวมถึง “ประวัติ” ของพระที่ท่านคุยด้วย ซึ่งก็เหมือนกับการสนทนากับผู้คนทั่วๆ ไปที่ไม่ใช่พระนั่นเอง ครั้งหนึ่งในการหาเสียงเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดหนึ่งในภาคอิสาน ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ได้ไปร่วมถวายอาหารเพล แล้วท่านก็นั่ง “ปรนนิบัติ” คือพูดคุยกับหลวงพ่อรูปแรกที่นั่งอยู่หัวแถวอย่างเป็นกันเอง ผมนั่งอยู่ใกล้ๆ แอบได้ยินหลวงพ่อท่านถามท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ว่า “ได้ข่าวว่าโยมกินเหล้าอยู่หรือ มันผิดศีลไม่ใช่หรือ” ผมได้ยินเสียงท่านอาจารย์คึกฤทธิ์หัวเราะฮ่าๆ แล้วก็พูดกับหลวงพ่อว่า “นั่นแหละครับคือศีลของผม ศีลแปลว่าปกติ ผมมีชีวิตเป็นปกติแบบนั้น” แล้วผมก็ได้ยินเสียงหลวงพ่อหัวเราะหึๆ ก่อนที่จะคุยกันในเรื่องอื่นๆ สองสามวันต่อมาในการขึ้นปราศัยบนเวทีที่ลานวัดแห่งหนึ่ง ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ซึ่งนั่งรอคิวปราศัยปิดท้ายอยู่ข้างๆ เวที คงสังเกตเห็นว่ามีกลุ่มชายฉกรรจ์สัก 4-5 คน ยืนส่งเสียงก่อกวนอยู่ใกล้ๆ เวที จึงถามว่าเกิดอะไรขึ้น ผมก็ออกไปดูแล้วกลับมาบอกท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ว่า คนเหล่านั้นไปดื่มเหล้ามาและอยากมาเชียร์พรรคกิจสังคมกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ แต่พวกเราเห็นท่าจะไม่ดีเลยเชิญให้ไปนอกวัด โดยมีผู้หวังดีคนหนึ่งพาออกไป เข้าใจว่าให้ไปดื่มต่อที่นอกวัด (ฮา) ครั้นพอท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ท่านขึ้นปราศัย ท่านก็เลยพูดถึงคนกลุ่มที่มาเมาอยู่ก่อนหน้านี้ว่า ต้องขออภัยพี่น้องที่ไม่ได้เข้ามาฟังปราศัยหลายๆคน เพราะถูกเชิญให้ไปดื่มต่อนอกวัด ซึ่งในเขตวัดนี้ท่านก็ห้ามดื่มห้ามเมา “แต่ว่าพี่น้องเหล่านี้ไม่ตกนรกหรอก เพราะท่านใช้ชีวิตของท่านเป็นปกติ” แล้วท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็วกเข้าเรื่องการเมือง โดยปราศัยว่า ชีวิตคนไทยก็มีสุขและมีทุกข์ปะปนกันอยู่เป็นปกติ บ้างก็ทุกข์มากสุขน้อย บ้านก็ทุกข์น้อยสุขมาก เวลาเรามีทุกข์เราก็หาเหล้ามาดับทุกข์ เวลาเรามีความสุขเราก็หาเหล้ามาเฉลิมฉลอง รัฐบาลนี้คงทำให้ประชาชนทุกข์มาก ประชาชนจึงต้องหาของมึนเมามาดื่มดับทุกข์ เหตุแห่งความึนเมาจึงไม่ได้เกิดจากพี่น้องประชาชน แต่เกิดจากรัฐบาลที่สร้างความทุกข์ให้กับประชาชน ประชาชนจึงต้องกินเหล้าดับทุกข์ ดังนั้นถ้าไหนดื่มเหล้ากันมาก ก็ขอให้รู้ไว้เลยว่าที่นั่นพี่น้องประชาชนกำลังมีความทุกข์ยากอย่างยิ่งนั่นเอง (ฮา) เรื่องของ “ศีลคือปกติ” นี้ ผมเคยได้ยินท่านอาจารย์อาจารย์คึกฤทธิ์คุยเรื่องนี้กับพระที่มาเยี่ยมท่านที่บ้านซอยสวนพลูในครั้งหนึ่งว่า การที่พระพุทธเจ้าท่านให้พุทธศาสนิกชนถือศีลห้า เพราะศีลห้านี้ก็เพียงพอแล้วที่จะครองชีวิตให้อยู่เป็นปกติ เพียงแค่เราไม่ฆ่าสัตว์ก็คือไม่เบียดเบียนชีวิต ทำอาชีพสุจริตก็คือมีชีวิตอยู่ได้ด้วยตนเอง ไม่ประพฤตินอกใจสามีภรรยาของตนก็เป็นผู้ที่ซื่อสัตย์น่าคบ รวมถึงที่ไม่พูดปดนั้นด้วย สุดท้ายคือไม่ดื่มของมึนเมาจนควบคุมตัวเองไม่ได้ ก็เพื่อให้มีสติและระลึกรู้ จะได้ไม่ไปกระทำผิดบาปใดๆ แต่ก็จะเห็นว่าในแต่ละสถานภาพ การถือศีลก็มีความแตกต่างกัน ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือหากเราจะไปอยู่ในสมณะเพศ แม้แต่เณร แม่ชี และพระ ก็จะมีศีลแตกต่างกัน ทั้งนี้ก็ด้วยพระพุทธเจ้าคงจะมองเห็นว่า การที่จะดำเนินชีวิตในแต่ละสถานะนั้นมีเป้าหมายที่ต่างกัน จึงต้องมีวัตรปฏิบัติที่ต่างกัน เป็นต้นว่า คนที่บวชเป็นพระ เป้าหมายคือการบรรลุอริยะมรรค เริ่มแต่ขั้นต้นคือการเข้าใจในคำสั่งสอนจนหมดจด ที่เรียกว่าโสดาบัน ไปจนถึงขั้นสูงสุดคือพระนิพพาน ที่หลุดพ้นจากวัฏฐะสงสารหมดสิ้นกิเสศทั้งปวง จึงต้องมีศีลควบคุมนับร้อยๆ ข้อ ก็เพื่อให้ผู้บวชเป็นพระนั้น ได้ทำในสิ่งเป็น “ปกติ” ของแต่ละสถานะของตน จนกว่าจะบรรลุในสถานะธรรมในแต่ละขั้นดังกล่าวนั้น ยิ่งไปกว่านั้นพระพุทธเจ้ายังได้แบ่งธรรมออกเป็น 2 อาณาเขต คือ ธรรมสำหรับพระหรือผู้ที่ต้องการความหลุดพ้น ที่เรียกว่า “โลกุตรธรรม” นั้นเขตหนึ่ง ซึ่งพระสงฆ์และผู้ที่ต้องการบรรลุนิพพานก็จะต้องเข้าไปอยู่ในเขตนี้และประพฤติธรรมที่ตามแบบที่เขากำหนดให้แก่ผู้คนในกลุ่มนี้ อีกเขตหนึ่งหนึ่งเรียกว่า “โลกียธรรม” คือธรรมสำหรับผู้ที่ยังต้องอยู่ในโลกนี้ ที่ยังต้องเวียนว่ายตายกาย และดิ้นรนต่อสู้ชีวิต ระดับของการถือศีลและข้อปฏิบัติต่างๆ ก็จะแตกต่างกัน เพียงเพื่อให้ทุกคนทุกสถานะดำรงอยู่ได้เป็น “ปกติ” นั่นเอง ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า ตัวท่านเองก็ถือศีลไม่ได้ครบทุกข้อ แต่บางทีก็ถือศีลข้ออื่นๆ ได้มากเกินไปเสียด้วยซ้ำ เช่น ต้องอดกลั้นอดทนต่อการติฉินนินทาว่าร้าย การให้อภัยโดยใม่มีข้อแม้ ต้องมีความเมตตาเป็นอย่างสูงแม้แต่แก่ศัตรูหรือผู้ที่คิดร้าย ฯลฯ นี่ก็เพราะท่านมีหลายบทบาทหลายสถานะ ถ้าเป็นคนแบบชาวบ้านทั่วไป มีทุกข์มีสุขก็ดื่มบ้างเมาบ้างเช่นชาวบ้านทั่วไป เคยเป็นนายกรัฐมนตรีก็ต้องอดทน มีเมตตา และให้อภัย และในฐานะที่เป็นครูก็ต้องครองตนให้น่าเคารพนับถือ และพัฒนาตนเองให้รอบรู้อยู่เสมอ “ถ้าเราทำตัวให้เป็นปกติ ไม่ว่าเราจะเป็นอะไร ก็ถือว่ามีศีลมีธรรมตามสมควรแล้ว”