ปกิณกภาพ วัดป่าเป้า สถาปัตยกรรมไทใหญ่ วัดป่าเป้า ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยประมาณสถานที่นี้เคยเป็นคุ้มเก่า (วังเก่า) ของพญากือนาธรรมมิการาช เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่สมัยนั้น ภายหลังพญากือนาได้สวรรคตลง ได้ทำพิธีแต่งการฌาปนกิจพระศพเสร็จแล้ว ภายหลังไม่ได้มีการดูแลคุ้มเก่าทางนอกกำแพงเมือง เพราะติดพันอยู่กับสงครามด้านอื่นๆ อยู่ จึงเป็นอันชำรุดทรุดโทรมลงกลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่า มีหมู่ไม้นานาพันธ์ชนิดขึ้นเต็มไปหมด โดยเฉพาะ ต้นเป้า(ต้นเป้านี้เป็นยาสมุนไพร) มีมากกว่าหมู่ไม้ทั้งหลาย ภายหลังมีชาวเงี้ยว(ไทใหญ่) ที่มีอยู่เก่ารวมกันขออนุญาตต่อเจ้าผู้ครองนครในสมัยนั้น สร้างวัด จึงอนุญาตให้ไปแพ้วถางป่าไม้เป้าที่คุ้มเก่า(วังเก่า) นอกกำแพงเมือง ทำการสร้างวัดเป็นสถาปัตยกรรมแบบศิลปะของชาวเงี้ยว(ไทยใหญ่) หลังคาซ้อนกันเป็นชั้นๆ เรียกชื่อว่าเชตวันวิหารบ้าง เวฬุวันวิหารบ้าง มีการบูรณะซ่อมแซมมาหลายครั้ง ลุมาถึงสมัยพระเจ้ากาวีละเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ มีการปรับปรุงทำนุบำรุงบ้านเมือง มีการกวาดต้อนผู้คนในหัวเมืองทิศต่างๆ เข้ามา ดังนั้น ชาวเงี้ยวมาสมทบพวกเก่าๆ จนมีมากขึ้น จึงได้มีการรวมกันบูรณะซ่อมแซมวัดวาอารามที่มีอยู่เก่าขึ้นเรื่อยมาอีก จนถึงสมัยพ่อเจ้าอินทรวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 7 (พ.ศ.2413-2440) แม่หม่อมบัวใหล (ชายาชาวไทใหญ่) รวมกับชาวเงี้ยว(ไทใหญ่) ทำการขออนุญาตบูรณะซ่อมแซมวัดป่าเป้าเป็นการใหญ่ (พ.ศ.2426) และ “ในปี 2434 เจ้าอินทรวิชยานนท์เป็นองค์ประธานร่วมกับแม่หม่อมบัวใหล ได้สร้างพระเจดีย์และวิหารไม้ ที่มีสถาปัตยกรรมแบบไทใหญ่” (ข้อมูลเพิ่มเติมแผ่นป้ายวัดป่าเป้า) ปัจจุบันวัดป่าเป้าเป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา (องค์ความรู้ฉบับย่อ : ข้อมูลสำนักศิลปากรที่ 7 (8 เดิม) เชียงใหม่)