ความคืบหน้าการจัดสร้างท่อนฟื้นไม้จันทน์ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นายยิ่งพันธุ์ ปิยาเล่ห์ธนกาญจน์ นักวิชาการช่างศิลป์ปฏิบัติการ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กล่าวว่า ขณะนี้ตนและนายธราธร แก้วสโนด นายช่างศิลปกรรม สำนักช่างสิบหมู่ กำลังดำเนินการเขียนลายลงบนท่อนฟืนไม้จันทน์ ที่ใช้ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งออกแบบโดยนายสมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร นายช่างศิลปกรรมอาวุโส กลุ่มงานศิลปประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา สำนักช่างสิบหมู่ โดยเขียนเป็นลายทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ และลงรักปิดทองตามแบบศิลปะลายรดน้ำ ซึ่งถือว่าต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมาที่เป็นการฉลุลายลงบนแผ่นพลาสติกแล้วนำมาพันรอบท่อนฟืนและปิดทอง ทั้งนี้ตนได้ใช้น้ำยาหรดาน ในการเขียนลาย ซึ่งเกิดจากการนำของโบราณ ได้แก่ กาวกระถิน หินหรดาน ฝักส้มป่อย และลูกประคบ มาผสมกัน “ท่อนฟืนไม้จันทน์ที่นำมาเขียนลายแปรรูปมาจากไม้จันทน์หอมให้มีขนาดหน้ากว้าง 2นิ้ว ยาว 60 เซนติเมตร จัดทำทั้งหมดจำนวน 24 ท่อน โดยใช้เทคนิคตามแบบศิลปะลายรดน้ำ ถือเป็นงานประณีตศิลป์ชั้นสูง ที่วิจิตรงดงามสะท้อนถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัวของจิตรกรรมไทย สมพระเกียรติสูงสุด ดังนั้นในการทำค่อนข้างละเอียดอ่อน ต้องใช้เวลาในการเขียนลายลงบนท่อนฟืนพอสมควร เฉลี่ยสัปดาห์ละ1ท่อนเท่านั้น คาดว่าทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในสิงหาคมนี้ โดยท่อนฟืนไม้จันทน์จะถูกนำไปวางไว้บนจิตกาธานซ้อนกันอย่างเป็นระเบียบทั้ง 24 ท่อน” นายยิ่งพันธุ์ กล่าว