บทความพิเศษ/ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย โรงเรียนและวัดเป็นของคู่กัน โรงเรียนและวัดในท้องถิ่นเป็นของคู่กันมาแต่อดีตกาล ล้วนเกิดจากการผลักดันโดยคนท้องถิ่นทั้งนั้น เป็นแหล่งสร้างภูมิปัญญาท้องถิ่นมานานแล้ว ต่างกันที่ว่าคนในโรงเรียน คนในวัด และ คนใน อปท. ไม่ได้สวมมงกุฎหัวโขนอันเดียวกันเท่านั้น เพราะต่างคนอยู่ต่างสังกัด ต่างกติกา ต่างกฎระเบียบกันเท่านั้น จึงไม่แปลกใจว่า ปราชญ์ชาวบ้าน หมอสมุนไพรพื้นบ้าน ปราชญ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น เหล่านี้ต่างล้วนเกิดมาจากวัดที่ถือเป็นโรงเรียนของชุมชนมานั่นเอง ภูมิปัญญาเป็นส่วนประกอบของท้องถิ่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น (Wisdom) ถือ “เป็นส่วนประกอบ” เป็นภาพสำคัญส่วนหนึ่งของท้องถิ่น ในกรณีของไทยไม่ได้ถูกพัฒนาขึ้นไป “เป็นโครงสร้างหลัก” เป็นเศรษฐกิจใหญ่เหมือนเช่น ญี่ปุ่น อเมริกัน อิตาลี สวิส เยอรมัน หรือที่อื่นใด ที่เขาเอาภูมิปัญญาดี ๆ แบบนี้ไปผลิตเป็นสินค้าเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น เป็นยา เบียร์ ไวน์ วิสกี้ เครื่องมือเกษตร ยานยนต์ เสื้อผ้า เครื่องใช้สอย อาวุธ มีดพับ นาฬิกา เซรามิก ฯลฯ รวมวัฒนธรรมพื้นเมือง ส่งขายไปทั่วโลก เป็นความหลากหลายทางทักษะภูมิปัญญาที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น เช่น เยอรมันถึงมียี่ห้อเบียร์ถึง 200 กว่าแบรนด์ เป็นต้น ทางตันภูมิปัญญาไทย ศ.ศ.ป. กระทรวงพาณิชย์ หรือ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ผลักดันผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยเน้นการอนุรักษ์วัฒนธรรม วิถีชีวิตชุมชน เศรษฐกิจพอเพียง ทักษะภูมิปัญญา และความหลากหลายทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ธุรกิจ “ชุมชนหัตถกรรม” (Craft Communities) ให้เกิดความเข้มแข็งยั่งยืน และต่อยอดเชิงการตลาด อย่างไรก็ตาม ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยนั้นมีมากมาย ล้วนเจอวิกฤตปัญหาต่าง ๆ ที่ไม่เหมือนกัน ลองมาดูสภาพปัญหาที่พบ ความสามารถส่วนบุคคลก็เป็นภูมิปัญญาไทยได้ ตัวอย่างภูมิปัญญาไทยที่เห็นจะเป็นเรื่องของ “ความสามารถเชิงบุคคล” เช่น ศิลปินพื้นบ้าน ลำตัด หมอลำ ช่างซอ(ภาคเหนือ) ที่ขยับตัวไปเป็น เพลงลูกทุ่ง แต่ก็ถูกกีดกันด้วยระบบนายทุน และลิขสิทธิ์ ในส่วนของการผลิตสินค้าใหญ่ ยุทโธปกรณ์ เช่น เรือตรวจการณ์ รถหุ้มเกราะ คนไทยก็ผลิตได้ แต่ส่งขายให้แก่ต่างประเทศเพื่อนบ้าน ในผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน ยารักษาโรคพื้นบ้าน ยาสมุนไพร ยาปราบศัตรูพืช ก็พอมี แต่กว่าจะจดทะเบียนถูกต้องได้แสนยาก ดูเพียงแค่นี้เห็นว่ารัฐมาผิดทางเพราะไม่ส่งเสริมยึดติดชาวบ้านพื้นถิ่น กว่าจะหวนคิดกลับมาส่งเสริมภูมิปัญญาชาวบ้านได้ทัน หน่วยราชการต่างๆ ก็สูญเสียงบประมาณมากไปศึกษาวิจัยและดูงานต่างประเทศ เศรษฐกิจพอเพียงร้างๆ การนำปรัชญาเศรษฐิกิจพอเพียงมาใช้เมื่อหลายปีก่อน พบว่าท้องถิ่นบ้านนอกปัจจุบันหลายแห่ง มีโครงการกิจกรรมของชุมชน เช่น โรงสีข้าวหลวงร้าง เครื่องผลิตปุ๋ยชีวภาพชุมชนร้าง เครื่องทำอาหารสัตว์ชุมชน กลายเป็นเศษเหล็ก ทิ้งร้าง มากมาย หมาด ๆ ก็คือ “ตลาดชุมชน” ที่สร้างเสร็จแล้วร้างไม่มีชาวบ้านมาขายสินค้า สาเหตุหลักสำคัญคือ สู้ระบบทุนที่มาจากต่างชาติไม่ได้ และสินค้าจากนายทุนยังจำเป็นต่อเกษตรกรท้องถิ่น เช่น ปุ๋ยเคมี เคมีปราบศัตรูพืช ยาแผนปัจจุบัน ฯลฯ รวมถึงสินค้าจำเป็นใหญ่ เช่น เครื่องมือแพทย์ เครื่องจักรกล อาวุธยุทโธปกรณ์ ก็สั่งนำเข้าทั้งสิ้น เมื่อคราวยุคฟองสบู่แตก รัฐบาลมีความพยายามหันมาหาท้องถิ่นช่วงปี พ.ศ. 2539 – 2541 เริ่มมีการกระจายอำนาจทะยอยเกิด อปท.ขึ้นทั่วประเทศ แต่แล้วต่อมาท้องถิ่นกลับถูกดึง “อำนาจไปรวมศูนย์” ดังเดิม สภาพท้องถิ่นบ้านนอกจึงเป็นดังที่เห็น สินค้าขยะมากขึ้นสินค้าใหม่ไม่มี ในบรรดา “สินค้าขยะ” ที่ประเทศอุตสาหกรรมเขาใช้แล้วทิ้ง ไทยจึงเป็นแหล่งรวมของสินค้าวัสดุอุปกรณ์มือสอง (Second hand) ที่คนประเทศอุตสาหกรรมเขาทิ้งไม่ใช้แล้ว แต่ยังพอมีสภาพที่ใช้ได้ในประเทศอย่างเรา เป็นสินค้าที่ใช้แล้ว รวมทั้ง อาวุธยุทโธปกรณ์มือสอง เครื่องจักรกลรถยนต์มือสอง เสื้อผ้ามือสอง (สินค้าโรงเกลือ ตลาดคลองถมฯ) สินค้าเหล่านี้ทำได้แค่การซ่อม ดัดแปลงฯ ไม่สามารถคิดใหม่ทำสินค้าขึ้นใหม่แบบจีนได้ ทุกอย่างต้องกินแบ่ง คน อปท.เจอสภาพแบบ “กินแบ่ง” เฉพาะในครั้งแรกเท่านั้น ที่เหลือต่อมาถูก “กินรวบ” คนท้องถิ่นถูกโจษขานว่าทุจริต ยักหัวคิว ซิกแซกผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่น่าเชื่อถือไว้วางใจ แถมหลายคนมีบาปชนักติดตัว เพราะคดีทุจริตถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง และสิทธิทางราชการหมดแล้ว แต่ ณ เวลานี้ ทุกอย่างที่อยู่ตรงข้ามกันได้เดินทางมาชนกันแล้ว ไม่ว่าจะโดยบังเอิญหรือจงใจก็ตาม เช่น สูงมาชนต่ำ ดำมาชนขาว ศีลธรรมมาชนบาป เมกกะโปรเจกต์มาชนรากหญ้า กฎหมายมาชนกฎหมู่ ชนชั้นมาชนรากหญ้า เศรษฐีมาชนยาจก รวมศูนย์มาชนพื้นบ้าน สูงมาชนต่ำ ฟ้ามาชนเหว หนังโรงมาชนหนังตะลุงพื้นบ้าน ชาวฟ้าชนชาวดอย ฯลฯ เป็นความหมายว่า สิ่งที่ตรงข้ามกันได้โคจรมาพบกันเสมือนมาปรองดองกัน “ภูมิความรู้ระดับปรัชญาที่มีอยู่มากมายในท้องถิ่นจะนำพาชาติให้รอดวิกฤติได้” มันคงไม่ใช่การเฝ้ารอโชคลาภ หรือรออิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ สังกรณีตรีชวา ยาอายุวัฒนะ ที่เกิดตามซอกผาในวรรณคดี นิยาย การ์ตูน แต่ต้องเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง พลังสามสิ่ง “ศาสตร์พระราชา-ภูมิปัญญาท้องถิ่น-จิตอาสา” ข้อเสนอการนำ “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” (Wisdom) มาพัฒนาเป็น “วิสาหกิจชุมชน” (Small and Micro community Enterprise-SMCE) จนถึง สามารถเป็นผลิตภัณฑ์มวลรวม ที่มีปริมาณมากพอ ตาม “แนวทางพอเพียงตามศาสตร์พระราชา” (Sufficiency Philosophy) และผนวก “จิตอาสา” (Volunteer Mind) ที่เน้นความอุทิศร่วมมือเสียสละ สำนึกรักในชุมชนบ้านเกิด ผสมผสานกันไป โดยทั้งสามแนวทางนี้น่าจะกอบกู้วิกฤติของคนท้องถิ่นได้ในระดับที่ค่อยเป็นค่อยไปอย่างไม่ยาก เพราะ มวลชนชาวบ้านในพื้นที่หากเขาเห็นเป็นเรื่องปากเรื่องท้อง และ รัฐบาลมีความจริงใจช่วยเหลือ ชาวบ้านต้องตอบรับแน่นอน ข้อจำกัดการตรวจสอบของ อปท. ข้อเสนอให้มี “การตรวจสอบของภาคประชาชน” แทน สตง. และ ป.ป.ช. ฟังดูดี มีข้อแย้งว่า (1) การมีส่วนร่วมของประชาชน มีการเลือกตัวแทนจากที่ประชุมหมู่บ้าน/ชุมชนเป็นเรื่องดี แต่ในเรื่องงบประมาณ อปท.และงบหมู่บ้านที่ผ่านมา บางแห่งยังมี “รั่วซึม” เพราะการซิกแซกในผลประโยชน์ทับซ้อน การพบว่ามีความผิดพลาดก็ต่อเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว (2) การมีส่วนร่วมควรมีเฉพาะ “ระดับการตัดสินใจเลือกโครงการและกิจกรรม” แต่ไม่ควรให้มีส่วนร่วมใน “ระดับการบริหารจัดการ” เช่น เรื่องการจัดซื้อจ้างและการเบิกจ่ายเงิน เพราะอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น ขายเอง ซื้อเอง ตรวจรับเอง (3) อิทธิพลอำนาจมืด การชี้นำ เกิดความรู้สึกพวกมากลากไป ไม่คำนึงถึงเรื่องความถูกผิด หรือความเหมาะสม ยังคงมีอยู่มาก (4) ผู้มีหน้าที่ควบคุมระเบียบ กำกับดูแล ต้องมีความรับผิดชอบ และสามารถตรวจสอบได้ โดยประชาชน (5) การวัดความโปร่งใส คุ้มค่า ตรวจสอบได้ มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ควรวัดแยกกลุ่มวัดตามช่วงเวลาของ “การมีส่วนร่วมรับผิดชอบของประชาชน” ตามข้อ 2 ควรมีการประกาศผลการติดตามภาคประชาชนเผยแพร่เป็นประกาศในเว็บไซต์ / ประกาศในชุมชนและหน่วยงาน โดยเฉพาะห้วงเวลาหลังจากการดำเนินการโครงการเสร็จสิ้น เพราะ มักเกิดอาคารร้าง ตลาดร้าง กิจกรรมโครงการขาดความต่อเนื่อง โครงการล้มเหลว ฯลฯ เป็นต้น ท้องถิ่นต้องมีสมรรถนะสูงด้วย ที่ต้องกล่าวก็คือ ในเป้าหมายการปฏิรูปราชการนั้น “องค์กรสมรรถนะสูง” ที่จัดบริการสาธารณะแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ต้องคัดสรรเอา “นักการเมืองน้ำดี” เป็นคนดีมีฝีมือมีความรู้ความสามารถ คนกล้าตัดสินใจในความถูกต้อง มีความมุ่งมั่น มิใช่พวกนักเลงหัวไม้ พวกโกงกิน หากมาเพราะการซื้อเสียง เล่ห์เหลี่ยม อิทธิพล หลอกลวง ฯลฯ ผลเสียก็ตกแก่คนท้องถิ่น เกิดปัญหาทางตัน มีความสับสนของชาวบ้านว่า จะคัดสรรคนดีได้อย่างไร ในช่วงบรรยากาศทางการเมืองระดับชาติที่ไม่ค่อยเป็นใจนัก หากได้กลุ่มคนมีอุดมการณ์ตรงกันข้ามกับที่ชาวบ้านคาดหวัง ก็ไม่อยากคาดเดาว่าบ้านเมืองจะเกิดอะไรขึ้น หรือว่า ยังไม่ต้องไปใส่ใจในเรื่อง “คุณภาพหรือสมรรถนะสูง” ใด ๆ เลย เลือกคัดสรรไปตามทางตามอารมณ์ไปก่อน ฉะนั้น เราต้องมาพิจารณาเรื่องสำคัญ องค์ประกอบคุณสมบัติบุคคลก่อนการเข้าสู่ตำแหน่งว่าควรเป็นอย่างไร องค์ประกอบคุณสมบัติระหว่างการดำรงตำแหน่ง ว่าควรเป็นอย่างไรบ้าง ข้อสำคัญปัจจุบันทุกองค์กรทุกสังกัดต้องมีระบบ “การคัดกรองเอาคนเข้าสู่ตำแหน่ง” ต้องได้คนดี มีความรู้ความสามารถ มีคุณธรรมจริยธรรม เรียกว่า “เข้ายาก ออกง่าย” โดยเฉพาะการปลดบุคลากรที่เสื่อมเสียคุณธรรมจริยธรรม หรือ เสื่อมคุณภาพ (กำลังพลเสื่อม) ที่การคัดกรองนี้ หมายรวมทั้งฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำด้วย ในอำนาจทางการเมืองในท้องถิ่นเมื่อมีกลุ่มเกิดขึ้นหลากหลายกลุ่ม สิ่งติดตามมาหนีไม่พ้นก็คือ ต้องมีกลุ่มอำนาจจากข้างนอกติดตามมาด้วย ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องของท้องถิ่นที่ต้องมาแยกแยะดู “เนื้องานของ อปท.ที่แท้จริง” ที่ควรต้องดำเนินต่อไปมีงานสำคัญใดบ้าง การบริหารจัดการ 4 M ในพื้นที่ อปท. จึงจำเป็น รวมทั้งการใช้เงินบริจาค เสียสละ “จิตอาสา” ร่วมกันของคนท้องถิ่นที่มีมาแต่อดีตแล้ว ในชั้นนี้ “ชุมชนชาวบ้าน” ควรจะได้เป็นเจ้าของโรงเรียน สถานีอนามัย (รพ.สต.) ตัวจริงเสียที เพราะ เชื่อว่า เนื้องานในหน้าที่นี้ คือ การศึกษา และ การดูแลสุขภาพอนามัยเบื้องต้น ต้องเป็นหน้าที่ร่วมกันของคนชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งก็คือ ภารกิจสำคัญของ อปท. นั่นเอง จุดอ่อนภายในของ อปท. ด้านการศึกษา ข่าวการยุบ โรงเรียนขนาดเล็ก ในภารกิจการปฏิรูปประเทศสำคัญตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 คือ ด้านการศึกษาในการถ่ายโอนภารกิจการศึกษาให้แก่ อปท. การเสนอให้มีการยุบรวมโรงเรียน สพฐ. ขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน เพื่อไปรวมกับโรงใหญ่ข้างเคียง ด้วยจำนวนทื่มากถึง 1.5 หมื่นแห่ง เกิดคำถามว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพจริงหรือ มีเสียงต่อต้านว่าไม่จำเป็น แต่อีกฝ่ายเห็นว่าหากไปไม่ไหว ก็ควรยุบและถ่ายโอนภารกิจทรัพย์สินฯ โรงเรียนเหล่านี้ลงสู่ อปท. หรือ การนำโรงเรียนมาให้ อปท.ไปบริหารได้หรือยัง ภารกิจการศึกษาที่สอดรับกับภารกิจเดิมของวัดก็คือโรงเรียน การหันกลับมาของท้องถิ่นจะส่งผลไปถึง “องค์ความรู้เดิมๆของชาวบ้าน” มีจุดอ่อนปัญหากระทบต่อการจัดการศึกษาที่ควรคำนึง เป็นปัญหาดังเช่นองค์กรอื่น บางกรณีเป็นเพียงพฤติกรรมส่วนบุคคล แต่หากเป็นข่าวจากท้องถิ่นแล้วจะดังขึ้นข่าวหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ หรือข่าวออนไลน์ไปนาน อาทิปัญหาเรื่อง (1) คุณภาพของฝ่ายการเมืองผู้บริหารท้องถิ่น (2) คุณภาพของฝ่ายประจำข้าราชการที่มากำกับดูแลโรงเรียน ที่มีระบบอุปถัมภ์มาก และที่ขาดคุณธรรมจริยธรรม มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่อการศึกษา (3) การคัดเลือกครูท้องถิ่นขาดมาตรฐาน เป็นที่ครหาของหน่วยงานข้างเคียง อาจไม่ได้คนดีมีความสามารถมากพอ (4) ข่าวคราวบุคลากรท้องถิ่นมีพฤติกรรมไปในทางทุจริต มีประโยชน์ทับซ้อน เหล่านี้เป็นปัญหาที่มีผลต่อ “คุณภาพการศึกษา” ได้ ที่กล่าวมาตั้งใจจะพูดถึง “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” ว่ายังสามารถพัฒนานำมากู้วิกฤตเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นได้ แต่ส่วนกลางรัฐบาลต้องให้ความสำคัญแก่ท้องถิ่นด้วย