ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต “โลกสร้างความรักให้เกิดแก่ใจของมนุษย์เสมอมันเป็นเหมือนบททดสอบแห่งแบบเรียนชีวิตที่โยงใยไปถึงความหมายอันลึกซึ้งในทางจิตวิญญาณที่ยากจะคาดคะเน แต่ก็มีอยู่หลายครั้งที่ความรักได้ดำเนินไปและจบลงอย่างขื่นขมด้วยความเศร้าอันเจ็บปวดล้ำลึกที่ติดตรึงอยู่กับกายร่างและตัวตนด้านในจนคล้ายดั่งหายนะ แต่ถึงกระนั้นนั่นอาจเป็นเพียงชะตากรรมของโชคชะตาที่ผันผ่านเข้ามาสู่ชีวิตอย่างเต็มใจและด้วยเจตนาของผู้กระทำ พลังแรงของนิยามแห่งความรักนั้นมันสูงส่งด้วยค่าความหมายที่เหนือคาดคิด...ดีงามจริงลวงเช่นไรนั้นขึ้นอยู่กับวิถีของการเผชิญหน้าและการตัดสินใจที่จะมีชีวิตอยู่...ณ ที่นั้นอาจเปี่ยมเต็มไปด้วยความสุขตามที่ใจปรารถนา...แต่ในหลายๆที่ทางนั้น อาจจมปลักอยู่กับความเศร้าอันยาวนานที่ถูกพิพากษาและลงทัณฑ์ให้เป็นดั่งตราบาปแห่งเวิ้งรู้ของจักรวาลก็มิปาน.......................” นัยของรักต้องห้าม...มักจะถูกขีดวงพิพากษาว่าเป็นสิ่งที่อัปลักษณ์และน่าเดียดฉันท์ในโลกของวรรณกรรมมาช้านาน...มันก่อความทุกข์สาหัสให้แก่ผู้ที่ตกอยู่ในบ่วงแห่งรักเช่นนี้...โดยเฉพาะผู้ที่วาดหวังตั้งใจว่าจะได้สัมผัสและรับมันมาครอบครอง...ว่ากันว่าผลลัพธ์ที่ได้รับตามวิถีนี้...ช่างไม่ได้ต่างไปจากสิ่งอันเป็นความทุกข์ระทมที่ได้เคยเกิดกับตัวละครโศกนาฏกรรมของกรีกโบราณที่ต้องถูกโบยตีและย่ำยีด้วยหายนะ...แม้ในเนื้อในของความรักนั้นจะเปี่ยมเต็มไปด้วยความบริสุทธิ์ใจต่อกันสักเพียงใดก็ตาม....สถานะของผู้ประสบชะตากรรมเช่นนี้.ต้องร่วงล้มจากชีวิตอันรุ่งโรจน์ เป็นการร่วงหล่นลงอย่างเฉียบพลันทันใดชั่วกะพริบตาจากตำแหน่งแห่งที่อันสูงสุด ปลิวร่วงลงสู่พื้นที่อันต่ำสุดอันเหลือคณา...กระทั่งต้องสูญเสียผู้คนและทุกสิ่งที่เคยรัก...รวมทั้งต้องพบกับความตายก่อนวัยอันสมควร.. “เบื้องหลังความสุขสันต์และเสียงหัวเราะ อาจมีอารมณ์อันหยาบกระด้าง เมินเฉย และเย็นชา แต่เบื้องหลังความเศร้ามีความเศร้าอยู่เสมอ ความเจ็บปวดนั้นต่างจาก...ความสุขสำราญเพราะมันไม่สวมหน้ากาก” “ที่ใดมีความเศร้า”(De Profundis)...เรื่องสั้นขนาดยาวของ..”ออสการ์ ไวลด์”(OSCAR WILDE)....บันทึกแห่งชีวิตอันเป็นความรักชิ้นสุดท้ายที่ถูกถ่ายทอดออกมาระหว่างชีวิตที่ถูกคุมขังด้วยเหตุผลแห่งการลิดรอนสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์อันหมายถึงภาวะแห่งเสรีภาพในทางเพศซึ่งถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตายในยุคสมัยนั้น... เขาเกิดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคมปี1854.../165 ปีมาแล้วในครอบครัวปัญญาชนที่มีสถานะมั่งคั่งและเป็นที่นับหน้าถือตาในนครดับลิน ได้รับการศึกษาที่บ้านจากครูผู้ดูแลหญิงชาวเยอรมันและฝรั่งเศส..เหตุนี้จึงทำให้เขาเชี่ยวชาญภาษาทั้งสองตั้งแต่เยาว์วัย ก่อนที่จะเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนเป็นครั้งแรกในวัยเก้าขวบ และเริ่มพัฒนาความสนใจในงานคลาสสิกไปพร้อมๆกับการเรียนภาษากรีก ต่อมาเขาได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่ ทรินิตีคอลเลจในดับลิน...ระหว่างปีค.ศ.1871-1874...และมีผลการเรียนที่ยอดเยี่ยม....เขาเริ่มสร้างผลงานกวีนิพนธ์ที่ได้ลงตีพิมพ์ตามหน้านิตยสาร พร้อมกับเสียงตอบรับในแง่บวก ก่อนที่จะได้รับทุนเข้าศึกษาต่อที่ มอดรีนคอลเลจแห่งออกซฟอร์ด ที่ซึ่งเขาได้พิสูจน์ว่าเป็นนักเรียนที่มีความสามารถโดดเด่นด้านภาษาและความรู้ด้านการประพันธ์คลาสสิก....เขาอาจจัดได้ว่าเป็นทั้งกวีและนักเขียนชาวไอริช อาจจัดได้ว่าเป็น”เซเล็บ”คนแรกๆที่มีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นในสังคมลอนดอนยุควิกตอเรียน มีชื่อเสียงจากคนมีชื่อเสียง เป็นที่จับตามอง เพียงแค่จากการมีตัวตนและการปรากฏกายของเขา กระทั่งปัจจุบัน...เราก็จะประจักษ์ว่าสิ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเมื่อพูดถึงตัวเขาและเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้จักเขาดีก็คือทักษะการใช้ภาษาอันเปี่ยมไปด้วยไหวพริบอันคมคายที่ปรากฏในงานของเขา รวมทั้งภาพลักษณ์แบบหนุ่มสังคมนิยมทันสมัย บุคลิกภาพโดดเด่น และรสนิยมทางเพศ ตลอดจนความสัมพันธ์รักร่วมเพศอันอื้อฉาวที่นำมาซึ่งจุดจบอันน่าเศร้าสลดของชีวิต.... “เธอมาหาฉันเพื่อเรียนรู้ความสำราญของชีวิตและความสำราญของศิลปะ บางทีฉันอาจถูกเลือกให้เป็นผู้สอนให้เธอ รู้จักบางสิ่งที่มหัศจรรย์ยิ่งกว่า นั่นคือ...ความหมายของความเศร้า และความงามของมัน” ในตอนกลางปี 1891 ระยะเวลาเดียวกับที่นวนินยายเล่มแรกและเล่มเดียวของเขา “The Picture of Dorian Gray” ได้รับการตีพิมพ์...นวนิยายเรื่องนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักด้วยนัยที่บ่งถึงรักร่วมเพศ...แม้ในเวลาต่อมาไวลด์ได้แก้ไขเนื้อหาบางส่วนสำหรับฉบับรวมเล่ม พร้อมกับเพิ่มคำนำที่อธิบายจุดยืนของเขาที่มีต่อศิลปะว่า.. “หนังสือที่โลกตราว่าขัดต่อศีลธรรม คือหนังสือที่เผยให้โลกเห็นความอัปยศของมันเอง” หนังสือเล่มนี้ทั้งประสบความสำเร็จและเป็นที่โจษจันในเวลาเดียวกัน ส่งผลให้ชื่อเสียงของไวลด์ทะยานขึ้นสู่จุดสูงสุด....แต่ที่สุดแล้วชีวิตของไวลด์ก็ได้พบกับองค์ประกอบสุดท้ายในโศกนาฎกรรมของเขา...การได้พบกับ “ลอร์ด อัลเฟรด ดักลาส” หรือที่เรียกขานกันในหมู่ครอบครัวและมิตรสหายว่า”โบซี่”...ดักลาสซึ่งขณะนั้นกำลังศึกษาอยู่ที่ออกซฟอร์ด เป็นชายหนุ่มรูปงามวัย 23ปี ผู้ขี้นชื่อในหมู่คนใกล้ชิดว่าเป็นคนที่ทั้งเห็นแก่ตัวและเอาแต่ใจ ...อย่างไรก็ตาม ไวลด์ในวัย37ปี หลงใหลในตัวเด็กหนุ่มคนนี้ทันที ขณะที่ดักลาสเองก็ปลาบปลื้มไปกับความสนใจที่ได้รับจากบุคคลที่ ณ เวลานั้นได้ชื่อว่าเป็นอัจฉริยะแห่งโลกวรรณกรรม ความสัมพันธ์ของพวกเขาดำเนินไปอย่างรวดเร็ว เป็นความสัมพันธ์ที่มีธรรมชาติสอดคล้องกับคำพรรณนาถึงความรักทางปัญญาที่ปราชญ์และกวีชาวกรีกได้บันทึกไว้ตั้งแต่อดีตกาล ....และในช่วงเวลาที่ทุกอย่างราบรื่น ทั้งคู่เพลิดเพลินกับบทสนทนาที่พวกเขามีร่วมกัน พวกเขาเป็นทั้งมิตรสหายและชู้รัก ไวลด์คอยให้คำแนะนำแก่ดักลาสผู้ตั้งเป้าจะเป็นกวี พร้อมทั้งปรนเปรอเขาในสิ่งที่เขาร้องขอ ไม่ว่าจะเป็นเงิน เวลา หรือความรัก/...ความสัมพันธ์ของทั้งคู่เต็มไปด้วยกลเกมของการเอารัดเอาเปรียบจากดักลาส...มันฉุดไวลด์ให้ตกลงสู่หุบเหวอันมืดมนแห่งชีวิต ด้วยนิสัยอันเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ หยิ่งยะโส สุรุ่ยสุร่าย.และขาดความยั้งคิด/กระทั่งการถูกคัดค้านจาก พ่อของดักลาสซึ่งเป็น มาควิสแห่ง ควีนสเบอร์รี...ผู้ซึ่งรวบรวมหลักฐานมากพอที่จะใช้พิสูจน์ถึงรสนิยมทางเพศของไวลด์ซึ่งถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรงในยุคนั้น/ จนเดือนเมษายนปี1895 หลังจากข้อพิพากษาในชั้นศาล ระหว่างไวลด์กับมาร์ควิสแห่งควีนสเบอรี/...ไวลด์ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานกระทำลามกอนาจาร และถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลาสองปี..ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในคุกไวลด์ต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานทั้งทางกายและใจ สุขภาพของเขาเสื่อมทรุดลงอย่างรวดเร็ว พร้อมกับกำลังใจที่แทบจะหมดสิ้นเมื่อการติดต่อกับดักลาสได้ขาดหายไป...ในความเศร้าและความโดดเดี่ยวที่เขาต้องเผชิญ ไวลด์ใช้เวลาว่างจากหน้าที่ที่เขาได้รับมอบหมายระหว่างอยู่ในเรือนจำไปกับการอ่าน คิด และเขียน เท่าที่จะได้รับอนุญาต และไม่นานก่อนที่ไวลด์จะได้รับการปล่อยตัว เขาใช้เวลาสามเดือนในเรือนจำ...ระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม1897...ไปกับการเขียนจดหมายขนาดยาวฉบับหนึ่งถึงดักลาส...เนื้อหาในจดหมายกึ่งอัตชีวประวัติฉบับนี้ ส่วนหนึ่งว่าด้วยความสัมพันธ์ของเขากับดักลาส อีกส่วนหนึ่งว่าด้วยเคราะห์กรรมที่เขาได้ประสบ และบทเรียนที่เขาได้รับ ทันทีที่เขาออกจากเรือนจำ..ไวลด์ได้มอบต้นฉบับนี้ให้แก่โรเบิร์ต รอส พร้อมกำชับให้ทำสำเนาขึ้นมาสองฉบับ ฉบับหนึ่งส่งให้ดักลาส และอีกฉบับหนึ่งส่งให้แก่ตัวเขาเอง... “ ชีวิตในเรือนจำทำให้เรามองเห็นผู้คนและสิ่งต่างๆอย่างที่มันเป็น คนที่อยู่ข้างนอกต่างหากที่หลงเชื่อในภาพลวงตาของชีวิตที่เคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง พวกเขาเคลื่อนที่ไม่ไหวติงต่างกับมองเห็นและหยั่งรู้...ความทุกข์นั้นยืนยง หมองหม่น มืดมัว และมีธรรมชาติเป็นอนันต์/....แม้จะมีบางเวลาที่ผมดื่มด่ำกับความคิดที่ว่า ความทุกข์ของผมจะไม่มีวันสิ้นสุด แต่ผมก็ยังไม่อาจทนให้ความทุกข์เหล่านั้นไร้ความหมายได้ ผมพบบางสิ่งซึ่งซุกซ่อนอยู่ในธรรมชาติของผม บางสิ่งที่บอกผมว่าไม่มีอะไรไร้ความหมายในโลกใบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความทุกข์ และสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวตนของผมราวกับหีบสมบัติในทุ่งกว้าง คือ การอ่อนน้อมถ่อมตน....นี่คือสิ่งสุดท้ายที่หลงเหลืออยู่ในตัวผม เป็นสิ่งที่ดีที่สุดและอยู่เหนือสิ่งอื่นทั้งปวงที่ผมได้ค้นพบ เป็นจุดเริ่มต้นของพัฒนาการอันสดใหม่ มันปรากฏขึ้นจากภายในของผมเอง” “De Profundis”ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1905 โดย โรเบิร์ต รอส บรรณาธิการส่วนตัวและสหายคนสนิทของออสการ์ ไวลด์..ซึ่งถือเป็นงานเขียนเพียงชิ้นเดียวที่เขาเขียนขึ้นระหว่างอยู่ในคุก และเป็นความเรียงชิ้นสุดท้ายของเขา.. “สำหรับศิลปินแล้ว การถ่ายทอดความนึกคิดคือภาวะสูงสุดเพียงหนึ่งเดียวของชีวิต เราดำรงอยู่ได้ด้วยการเปล่งเสียง ในบรรดาหลายสิ่งที่ผมต้องขอบคุณพัศดีเรือนจำ...ก็คือไม่มีสิ่งใดที่ทำให้ผมซาบซึ้งได้มากกว่าการที่เขาอนุญาตให้ผมเขียนจดหมายหาคุณ...อีกฟากหนึ่งของกำแพงเรือนจำมีต้นไม้สีดำที่เปรอะไปด้วยคราบเขม่าควัน กำลังแตกหน่อสีเขียวสด ผมรู้ดีทีเดียวว่าพวกมันกำลังทำอะไร...พวกมันกำลังหาวิธีที่จะเผยตัวเองออกมา” “ออสการ์ ไวลด์”เสียชีวิตด้วยโรคเยื่อสมองอักเสบในวันที่30พฤศจิกายน1900...หลังจากออกจากเรือนจำมาได้สามปี...และมีชีวิตอยู่ด้วยเงินอันน้อยนิด และเข้าไปผูกพันข้องเกี่ยวกับแอลกอฮอล์..ณ ขณะนั้นเขาได้ยอมรับกับตัวเองอย่างเปิดเปลือยว่าได้”สูญเสียความสำราญจากการเขียนไปจนหมดสิ้นแล้ว” หากมีการนับเนื่องถึงหนังสือแปลในบ้านเราในวันนี้...”ที่ใดมีความเศร้า”คือผลงานแห่งชีวิตที่เป็นประหนึ่ง”แรกใบในผลิบาน”ของความงามและความหมายที่มีคุณค่าต่อทั้งความทรงจำและก้าวย่างอันนุ่มนวลและมั่นคงของหัวใจที่จักยืนยันถึงรูปรอยแห่งชีวิตอันเปี่ยมเต็มไปด้วยผัสสะแห่งรสชาติในความอิ่มเอมของศิลปะ...ซึ่ง”รติพร ชัยปิยะพร”ได้รังสรรค์ผลงานการแปลความของเธอออกมาได้อย่างถี่ถ้วนและถ่องแท้...ต่อการเข้าใจในหัวใจแห่งตัวตนของตัวเองและเนื้องานที่เธอรับผิดชอบอย่างรื่นรมย์แท้จริง นั่นคือ...ไม่ว่าจะต้องเจ็บปวดและขมขื่นกับสังคมสักแค่ไหน ไวลด์กลับไม่กล่าวโทษสังคมที่ตัดสินและลงโทษเขา แต่เลือกที่จะยอมรับมันและเปลี่ยนสิ่งที่เขาได้เผชิญหน้าอยู่ให้กลายเป็นประสบการณ์ทางศิลปะอันนำไปสู่การตระหนักรู้ในหัวใจตัวเอง...มันคือการช่วยยกระดับความเป็นโศกนาฏกรรมของเขา..ไปสู่การปลดปล่อยและชำระล้างทางอารมณ์ผ่านศิลปะอย่างแยบยลโดยแท้ “สำหรับศิลปิน...การแสดงออกเป็นเพียงสภาวะเดียวเท่านั้น ที่จะทำให้เขาสามารถเข้าใจชีวิตได้”