สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ราชธานีเก่าแก่ของไทย มีศาสนสถานและศาสนวัตถุสำคัญมากมาย อันนับได้ว่าทรงคุณค่าทั้งทางประศาสตร์และโบราณคดี รวมทั้งพระเครื่องพระบูชา ที่สูงส่งทั้งด้านพุทธศิลปะและพุทธคุณ และเป็นที่นิยมสะสมอย่างสูงมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน หนึ่งในนั้นคือ พระขุนแผนเคลือบ วัดใหญ่ชัยมงคล ครับผม  พระเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล “วัดใหญ่ชัยมงคล” ตั้งอยู่บริเวณนอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตำบลไผ่ลิง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีประวัติความเป็นมาที่ล้วนเป็นหลักฐานสำคัญ อันได้แก่พงศาวดารหลายฉบับไปจนถึงตำนานเก่าแก่ สันนิษฐานได้ว่าสร้างมาตั้งแต่ในสมัยอโยธยาก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อว่า “วัดพญาไทย” สำหรับพระเอกของเรื่อง คือ “พระขุนแผนเคลือบ” นั้น นับเป็นพระเครื่องอันเลื่องชื่อของจังหวัด จะเรียกว่าอันดับหนึ่งก็น่าจะได้ ด้วยมูลเหตุการจัดสร้าง ความงดงามของพุทธศิลปะ พุทธลักษณะ รวมถึงพุทธคุณที่เป็นเลิศครบครัน พระขุนแผนเคลือบ พิมพ์เแขนอ่อน (พิมพ์เล็ก) มูลเหตุการสร้าง พระขุนแผนเคลือบ มาจากเมื่อคราวที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำสงครามยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชา พอเสด็จกลับมายังพระนครจึงทรงโปรดฯ ให้สร้างพระมหาเจดีย์ใหญ่ขึ้นไว้เป็นพุทธบูชาและเป็นอนุสรณ์แห่งการสงครามในครั้งนี้ที่วัดป่าแก้ว หรือที่เรียกเป็นทางการว่าวัดใหญ่ชัยมงคล และในการสร้างพระมหาเจดีย์ที่วัดป่าแก้วนี้ สมเด็จพระพนรัต พระอาจารย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายอรัญวาสี ผู้ถือปฏิบัติทางวิปัสสนาธุระ เป็นผู้รจนาคัมภีร์มหาศาสตราคม อักขระเลขยันต์ ตลอดจนตำรับตำราการสร้างพระพุทธรูป และตำราการสร้างพระกริ่งซึ่งเป็นที่แพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน ท่านได้สร้างพระพิมพ์บรรจุไว้ในพระมหาเจดีย์หลายพิมพ์ทรง แต่ที่เป็นรู้จักกันเป็นอย่างดี เป็นที่นิยมสะสมสูงในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่อง เรียกได้ว่าเป็นพระเครื่องอันดับหนึ่งของจังหวัดเลยทีเดียวคือ “พระขุนแผนเคลือบ” ซึ่งนอกเหนือจากความทรงคุณค่าขององค์พระ ที่สร้างเพื่อเป็นพุทธบูชาในคราวที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงชนะสงครามยุทธหัตถี และปลุกเสกโดยสมเด็จพระพนรัต พระอาจารย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อันนับได้ว่าเป็นพระเครื่องที่ทรงพุทธคุณครบครัน เป็นที่ปรากฏทั้งเมตตามหานิยม แคล้วคลาด คงกระพันชาตรีแล้ว ทั้งเนื้อและพุทธลักษณะขององค์พระยังมีความงดงามอย่างไม่มีที่ติอีกด้วย พระขุนแผนเคลือบ เป็นพระพิมพ์เนื้อดินละเอียด สีขาวนวล สันนิษฐานว่ากรรมวิธีการจัดสร้างตลอดจนขั้นตอนการเตรียมดิน ซึ่งแสดงให้เห็นพัฒนาการจากการทำเครื่องปั้นดินเผาของจีน เนื้อขององค์พระจึงละเอียดและขาวนวล นอกจากนั้น ยังมีการเคลือบด้วยน้ำยาเคลือบโดยใช้เทคนิคการเคลือบชั้นสูงของจีน น้ำยาเคลือบสีเหลืองทองหรืออมเขียวเล็กน้อย คล้ายกับการเคลือบโอ่งมังกรหรือถ้วยชามสังคโลก ในสมัยก่อน ถือเป็นพระกรุเพียงกรุเดียวที่มีการเคลือบด้วยน้ำยา ซึ่งเป็นการอนุรักษ์เนื้อพระได้เป็นอย่างดีแทนการลงรักปิดทอง อันเป็นวิทยาการสูงสุดในสมัยนั้น พระขุนแผนเคลือบ พิมพ์เแขนอ่อน (พิมพ์เล็ก) พระขุนแผนเคลือบ มีพุทธลักษณะพิมพ์ทรง 5 เหลี่ยม องค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย มีซุ้มเรือนแก้วเป็นปริมณฑล ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากพระพุทธชินราช แห่งเมืองพิษณุโลก นับเป็นปฏิมากรรมซึ่งแสดงให้เห็นศิลปะที่เน้นลายเส้นหนักเบา พลิ้วไหวแบบธรรมชาติ สร้างความสมดุลสวยงามตามหลักศิลปะแบบเดียวกับจิตรกรรมพู่กันจีน แต่คงความเป็นเอกลักษณ์แบบไทยไว้ได้อย่างสมบูรณ์ สามารถแบ่งพิมพ์ออกได้เป็น 3 พิมพ์ คือ - พิมพ์อกใหญ่ ฐานสูง - พิมพ์อกใหญ่ ฐานเตี้ย - พิมพ์อกเล็ก หรือที่เรียกว่า “พิมพ์แขนอ่อน” พระขุนแผนเคลือบ พิมพ์อกใหญ่ ฐานสูง การพิจารณาธรรมชาติของพระขุนแผนเคลือบ ให้สังเกตพื้นผิวขององค์พระจะมี “ผิวนวลกรุ” ขึ้นคลุมอยู่ชั้นนอกสุดของผิวน้ำยาที่เคลือบเอาไว้ และยังมองเห็น “คราบสารของน้ำยา” ที่หลงเหลือติดปนอยู่กับผิวนวลกรุ ซึ่งจะติดอยู่ตามซอกผนังของพระที่อยู่ลึกๆ อีกด้วย โดยจะมีลักษณะที่เป็น “ฝ้าขึ้นเงา” คล้ายกับผิวพรายของปรอท ส่วนลักษณะของ “การแตกลายงา” ของน้ำยาที่เคลือบนั้น นอกจากจะมองเห็นการแตกลายงาที่เป็นเส้นเล็กละเอียดยิบ มองดูคล้ายกับตาข่ายหรือใยของแมงมุมแล้ว ยังจะมีลายแตกที่ละเอียดเป็นเส้นเล็กๆ ซอยแยกกันออกไปอีกตามผิวทั่วๆ ไป คล้ายกับการแตกลายงาของชามสังคโลก นอกจากนี้ ให้สังเกตว่า ถ้ามีผิวของน้ำยาติดหนาอยู่ตรงไหน นอกจากจะมีสีเป็นน้ำตาลเข้มจนถึงอมดำแบบคราบของรักแล้ว ยังจะดูแห้งและเป็นคราบที่ดูเก่าจริงๆ พระขุนแผนเคลือบ วัดใหญ่ชัยมงคล จัดเป็นต้นแบบของพระพิมพ์ขุนแผนที่ได้จัดสร้างกันต่อๆ มาจนถึงปัจจุบัน นับเป็นพระเครื่องที่ค่อนข้างหายากมาก และสนนราคาค่อนข้างสูง ต่อมาภายหลัง ปรากฏพระขุนแผนเคลือบตามกรุอื่น อาทิ กรุโรงเหล้า กรุวัดเชิงท่า และกรุบางใหญ่ ซึ่งมีพุทธลักษณะเหมือนกับพระขุนแผนเคลือบ วัดใหญ่ชัยมงคล ทุกประการ จะต่างกันตรงความสวยงามสมบูรณ์ เคลือบหรือไม่เคลือบ ทำให้ค่าความนิยมและสนนราคาด้อยกว่าค่อนข้างมากครับผม