"จดหมายจากขั้วโลกใต้" เขียนโดย ดร.ประหยัด นันทศีล นักธรณีวิทยาและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เข้าร่วมคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกของประเทศญี่ปุ่นประจำปี 2559-2560 ได้รายงานความคืบหน้าการสำรวจจากขั้วโลกใต้ ก่อนเดินทางกลับเมืองไทย 22 มี.ค.นี้ พบภาวะโลกร้อนส่งผลต่อเพนกวินและหมีขาว ------------------ สวัสดีครับ วันนี้เป็นวันรองสุดท้ายที่ผมจะอยู่ที่สถานีโชวะ ของญี่ปุ่น ซึ่งอยู่บนเกาะอองกูลตะวันออก และเกาะนี้อยู่ในอ่าว Lützow-Holm Bay ทางด้านตะวันออกของทวีปแอนตาร์กติก หรือหากจะเรียกให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือขั้วโลกใต้ นั่นเองครับ วันที่ 14 ก.พ.นี้ พวกเราก็จะออกเดินทางจากที่นี่ มุ่งหน้ากลับไปยังเมืองซีดนีย์ ของออสเตรเลีย เราจะถึงที่นั่นวันที่ 20 มี.ค.60 แล้วผมจะกลับถึงประเทศไทยวันที่ 22 มี.ค.60 จนถึงขณะนี้พวกเราเก็บข้อมูล และตัวอย่างหินจากพื้นที่เป้าหมายได้เกือบครบทุกแห่ง มีเพียงแห่งเดียวที่ต้องยกเลิกไปเพราะสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ถึงแม้ผมจะมาทำวิจัยด้านธรณีวิทยา และตัวอย่างที่ผมเก็บกลับมาคราวนี้ก็บันทึกแต่เรื่องราวที่เกิดมานานแล้วไม่น้อยกว่า 500 ล้านปี แต่สิ่งที่ผมอยากเขียนให้คนไทยได้อ่าน เป็นเรื่องของนกเพนกวินที่ขั้วโลกใต้ หมีขาวที่ขั้วโลกเหนือ และเรื่องของเราทุกคน คือ "ภาวะโลกร้อน" ครับ หลายท่านอาจสงสัยว่า ผมเป็นนักธรณีวิทยา แล้วไปยุ่งอะไรกับเรื่องโลกร้อน มันไม่น่าจะใช่ธุระของนักธรณีวิทยานะ ผมขอเรียนว่าท่านคิดผิดแล้วครับ ไว้ตอนท้ายผมจะเล่าให้ฟังว่าทำไม??? มาเริ่มกันด้วยเรื่องของนกเพนกวินที่น่ารักกันครับ ผมได้คุยกับนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น ซึ่งเขามาศึกษาเรื่องเพนกวินในพื้นที่เดิมทุกปี เขาเล่าให้ฟังว่า ช่วงหน้าร้อนของทุกปี คือช่วงปลายเดือน ธ.ค. ถึงต้น ม.ค. นั้นเป็นเวลาที่นกเพนกวินจะตกไข่ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แม่นกเพนกวิน จะตกไข่ทีละสองฟอง...พอไข่ฟักออกมาพ่อแม่ก็จะสังเกตว่าลูกนกตัวไหนแข็งแรงกว่า ก็จะดูแลเอาใจใส่เฉพาะตัวนั้น ส่วนลูกนกตัวที่อ่อนแอก็จะปล่อยให้อดตายหรือไม่ก็ปล่อยให้นก Skua ที่ชอบกินลูกนกเพนกวินมาฉกไปกินเป็นอาหารอันโอชะ เพราะการเลี้ยงลูกทีละสองตัวเป็นเรื่องยากมากครับ ดังนั้นลูกนกเพนกวินแต่ละรุ่นจะรอดตายเพียงครึ่งหนึ่ง หรือมากว่าครึ่งเพียงนิดหน่อย อาจฟังดูเป็นเรื่องโหดร้ายแต่นั่นเป็นกลไกทางนิเวศวิทยาที่มีอยู่ในธรรมชาติ เพราะฉะนั้นพวกเขาก็จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว ทำได้เพียงสังเกตและเก็บข้อมูลตามปกติ แต่ปีนี้มีสิ่งที่แปลกไปจากทุกปี คือแผ่นน้ำแข็งในทะเลได้ละลายหายไปจากชายฝั่งบริเวณนั้น...ทำให้พ่อแม่นกเพนกวินไม่ต้องเดินบนแผ่นน้ำแข็งเพื่อออกไปหาอาหารเป็นระยะทางหลายสิบกิโลเมตร...เหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว พวกมันเพียงเดินไปที่ชายฝั่งซึ่งก็อยู่ห่างจากรังเพียงไม่เกินหนึ่งกิโลเมตรก็สามารถกระโจนลงน้ำแล้วมีอาหารมากมายให้กิน แล้วก็เดินกลับมาป้อนลูกที่รัง ด้วยเหตุนี้ลูกนกเพนกวินที่เกิดในปีนี้จึงมีอัตราการรอดตายสูงมากเป็นประวัติการณ์คือเกือบ 100% และมีอัตราการเจริญเติบโตที่เร็วมาก เพียงแค่สามถึงสี่สัปดาห์ ก็สามารถโตเต็มวัยและผลัดขนได้แล้ว นั่นแปลว่ามันก็จะอยู่รอดในหน้าหนาวที่กำลังมาถึงได้แล้ว ฟังดูเป็นเรื่องน่ายินดีนะครับ ผมเองก็ยินดีมากที่ทราบอย่างนี้ แล้วนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นคนนี้ก็เล่าต่อว่า...แต่สิ่งที่ตรงกันข้ามกับนกเพนกวิน กำลังเกิดขึ้นกับหมีขาวที่ขั้วโลกเหนืออยู่ขณะนี้ครับ เพราะน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือละลายเป็นจำนวนมากกว่าปกติ ทำให้หมีขั้วโลกกำลังประสบปัญหาในการล่าเหยื่อ ...ปกติเหยื่อของหมีขาวขั้วโลกเหนือ คือพวกแมวน้ำ หรือลูกสิงโตทะเล และสภาพที่เอื้อให้หมีขาวล่าเหยื่อได้ดีที่สุดก็คือ การมีแผ่นน้ำแข็งที่กว้างใหญ่และแข็งแรงหนาพอให้มันเดินได้ เพราะมันวิ่งเร็วกว่าเหยื่อถ้าเป็นแผ่นน้ำแข็ง แต่ถ้าแข่งกันว่ายน้ำละก็หมีขาวไม่มีทางไล่ทันพวกแมวน้ำ หรือสิงห์โตทะเลหรอกครับ เหตุนี้เลยทำให้ปีนี้หมีขาวที่ขั้วโลกเหนือ กำลังอดอยากและตายเป็นจำนวนมาก ทั้งเรื่องของเพนกวินที่ขั้วโลกใต้ และเรื่องของหมีขาวที่ขั้วโลกเหนือ เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน แม้จะอยู่กันคนละขั้วของโลกแต่มันเป็นเรื่องเดียวกัน ...เป็นเรื่องของน้ำแข็งที่ละลายมากกว่าปกติ แล้วสาเหตุที่น้ำแข็งขั้วโลกละลายมากกว่าปกติเพราะโลกร้อนขึ้นครับ เราๆท่านๆ อาจได้ยินได้ฟังเรื่องของโลกร้อนมามาก จนเริ่มชินเหมือนเป็นเรื่องปกติและเหมือนจะไม่ใช่ธุระของเราไปซะแล้ว วันนี้ผมอยากเรียนให้ท่านผู้อ่านทราบว่าโลกร้อนไม่ใช่เรื่องของเพนกวินกับหมีขาวเท่านั้น แต่มันคือเรื่องของพวกเราทุกคน มันเป็นธุระของมนุษย์ทุกคนที่อยู่บนโลกนี้ หลายท่านอาจคิดว่าเราไม่ได้เดือดร้อนอะไรกับหมีขาวด้วยไม่เห็นต้องสนใจปัญหาโลกร้อนเลย แต่ผมอยากเรียนให้ทุกท่านทราบว่า ท่านคิดผิดครับ ...ถ้าท่านคิดว่าท่านไม่เดือดร้อน แสดงว่าท่านหลอกตัวเองหรือไม่ก็ "ไม่ทันรู้ตัว" เท่านั้น ไม่ต้องดูไหนอื่นไกลครับ ดูประเทศไทยเรานี่แหละ ...เดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา เราเพิ่งประสบภัยน้ำท่วม และอีกไม่กี่เดือนที่จะถึงนี้ เราก็จะได้เห็นภัยแล้ง เวลาน้ำฟ้าไม่มา..ก็ไม่มาซักที..แต่พอบทจะมา..ก็เทลงมาจนท่วมเป็นอย่างนี้ทุกปี อย่างนี้เราเรียกว่าไม่เดือดร้อนหรือเปล่าครับ ขอยกอีกตัวอย่างที่ใกล้ตัวพวกเราเหมือนกันคือ น้ำทะเลมีระดับสูงขึ้น ปัญหาที่ตามมาคืออะไร น้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง เป็นตัวอย่างที่พี่น้องคนไทยที่อยู่ตามชายฝั่งทราบดีที่สุด เมื่อก่อนเรามีส้มบางมด เดี๋ยวนี้หายไปแล้ว เพราะน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น และแน่นอนแผ่นดินเราก็ทรุดลงด้วย เราเสียหายปีละหลายร้อยล้านเพราะโลกร้อนขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องเดียวกันกับเรื่องของเพนกวินและหมีขาวครับ สุดท้ายนี้ ผมอยากบอกคนไทยทุกคนว่า เรื่องโลกร้อนไม่ใช่เรื่องของนักสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของมนุษย์ทุกคนที่อยู่บนโลกนี้ วันนี้เราจะไม่สนใจเรื่องโลกร้อนไม่ได้อีกแล้วครับ แล้วเราควรทำอย่างไร ผมคงจะไม่กล่าวในที่นี้ เพราะคงจะยาวเกินไป และทางการก็รณรงค์กันสารพัดอยู่เป็นประจำแล้ว ผมเชื่อว่าทุกคนรับทราบ และวันนี้ ก็ถึงวันที่แต่ละคนต้องลงมือทำ สิ่งที่ทางการรณรงค์แล้วครับ เพราะเรากำลังเดือดร้อนไม่ต่างจากหมีขาวที่ขั้วโลกเหนือ ...หากเราละเลยไม่สนใจ รุ่นลูกรุ่นหลานของเราคงต้องย้ายเมืองหลวงกันในสักวัน สวัสดีครับ ------------------ (** ขอบคุณข้อมูลจาก ม.เกษตรศาสตร์)