พบเศียรพระพุทธรูปโบราณ-ถ้วย-ชาม- ไห-แจกัน และใบเสมา โบราณอายุกว่า 2,500 ปี ใจกลางเมืองขอนแก่น นายเล็กฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบ พร้อมประสานกรมศิลปากรเปิดหลุมขุดค้นเพื่อรวมรวบประวัติศาสตร์ดั้งเดิมของเขตชุมชนเมืองล่าสุดพบแนวกำแพงดินอายุกว่า 200ปี ห่างจากจุดขุดค้นไม่ถึง 800 เมตร
เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 10 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่โบราณคดี จากสำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น และชาวชุมชนศรีฐาน ทั้ง 4 ชุมชน ต่างช่วยกันขุดค้นหาโบราณสถานและโบราณวัตถุเก่าแก่ อยู่ภายในวัดจอมศรี ชุมชนศรีฐาน 1 เขตเทศบาลนครขอนแกน หลังจากก่อนหน้านี้คนในชุมชนได้ขุดค้นพบเศียรพระพุทธรูปโบราณ,แจกัน,ใบเสมา และของใช้โบราณประเภทถ้วย ชาม และไห จำนวนมาก ซึ่งบางส่วนได้ถูกนำไปเก็บรักษาไว้ภายในพระอุโบสถของทางวัดเพื่อรอให้เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาทำการตรวจสอบ ขณะที่บางส่วนยังคงถูกเก็บรักษาไว้ในบ้านเรือนของประชาชน หลังมีการขุดค้นพบสิ่งของโบราณลำค่าอย่างต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
โดยเมื่อทีมข่าวเดินทางไปถึงพบเจ้าหน้าที่และคนในชุมชน ได้ร่วมกันเปิดหลุมขุดค้น โบราณคดีวัดจอมศรี เมืองโบราณศรีฐาน 1 บริเวณด้านซ้ายของศาลาการเปรียญ โดยมีการนำเต็นท์มาตั้งและกั้นห้ามไม่ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาภายในบริเวณ ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะทำการขุดหลุมลงลึกไปแล้วประมาณ 60 ซม. ทำการขุดทุก 10 ซม.ด้วยอุปกรณ์การขุดขนาดเบา โดยในช่วงของการขุดนั้นพบเศษภาชนะโบราณเก่าแก่ล้ำค่าอยู่อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภายในพระอุโบสถของวัดยังคงมีการเก็บรักษาสิ่งของโบราณล้ำค่าที่ถูกขุดค้นพบในชุมชนและภายในวัด ซึ่งประกอบด้วย ใบเสมาหินทรายโบราณ สูงประมาณ 3 เมตร กว้าง ประมาณ 80 ซม. สภาพสมบูรณ์ แกะสลักเป็นรูปเจเดีย์สมัยเก่า นอกจากนี้ยังคงพบแจกันขนาดเต็มใบ เศียรพระพุทธรูป และพระพุธรูปปางต่างๆที่ชาวบ้านที่ต่างพากันขุดค้นพบในช่วงก่อนห้านี้ส่งมอบให้กับทางวัดได้เก็บรักษาไว้ เนื่องจากเกรงว่าจะถูกกลุ่มมิจฉาชีพเข้ามาโจรกรรมและนำไปจำหน่ายให้กับตลาดรับซื้อของเก่า
นายบุญบาล อนุศรี ประธานชุมชนศรีฐาน 1 เขตเทศบาลนครขอนแก่น กล่าวว่า เมืองศรีฐาน เดิมชื่อเมืองสี่ฐาน เป็นที่ตั้งของชุมชนเมืองขอนแก่นเก่าแก่ในอดีต และเฉพาะบ้านสี่ฐานนั้นเป็นที่ตั้งของกองทัพของเมืองขอนแกน ที่ผ่านมามีการขุดค้นพบสิ่งของโบราณมีค่าอย่างต่อเนื่องเนื่องจากปัจจุบันชุมชนศรีฐานเป็นหนึ่งในพื้นที่ชุนเมืองที่มีการขยายของเมืองเข้ามาอย่างมาก มีการก่อสร้างบ้านจัดสรร ที่พักอาศัยและสิ่งสาธารณูปโภคต่างๆ ทำให้เมื่อมีการปรับพื้นที่ก็จะพบของเก่าแก่ล้ำค่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ถ้าไม่เก็บไว้ที่บ้านของตนเองก็ส่งมอบให้กับวัด ซึ่งล่าสุดมีการขุดค้นพบของมีค่าเก่าแก่โดยเฉพาะใบเสมากหินทราบ ที่มีอายุกว่า 2,500 ปี ถ้วย ชาม ไห แจกัน พระพุทธรูปโบราณ โดยเฉพาะภายในวัดจอมศรี ที่มีการขุดค้นพบอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีการประสานงานไปยังเทศบาลนครขอนแกนเพื่อดำเนินโครงการขุดค้นสิ่งของมีค่าดังกล่าวให้ถูกต้อง พร้อมทั้งประสานงานเจ้าหน้าที่โบราณคดีเข้ามากำกับและควบคุมการขุดค้นจนพบสิ่งของโบราณเก่าแก่ล้ำค่าอย่างต่อเนื่อง
“ขณะนี้การขุดค้นได้จำกัดพื้นที่ลงเหลือเพียงหลุมขุดค้นที่ 1 ภายในวัดแห่งนี้ ซึ่งจะขุดลึกประมาณ 3 เมตร ขณะนี้ขุดลงได้ประมาณ 60 ซม. โดยเจ้าหน้าทีจะขุดทุก 10 ซม.เพื่อตรวจค้นหาโบราณวัตถุล้ำค่าต่างๆอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การสำรวจทางโบราณคดีโดบกรมศิลปากรด้วยระบบดาวเทียม ยังคงแนวกำแพงดินดั้งเดิมหลงเหลืออยู่ซึ่งขณะนี้ได้มีการเดินสำรวจและพบแนวแพดินของเมืองสี่ฐาน ที่ยังคงสมบูรณ์แบบอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองขอนแก่ติดกับหนองบอน โดยเหลือความยาวเพียง 100 เมตร กว้าง 30 เมตร เป็นแนวกำแพงดินที่มีอายุกว่า 200 ปี อันสุดท้ายที่ชุมชนจะต้องร่วมกันอนุรักษ์ไว้”
นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวว่า ของโบราณล้ำค่าสมัยทวาราวดี ที่มีอายุกว่า 2,500 ปีตามการสำรวจและตรวจสอบของเจ้าหน้าที่โบราณคดีที่ไดลงพื้นที่เข้ามาตรวจสอบนั้น ขณะนี้บางส่วนยังคงเก็บรักษาไว้ภายในวัดโดยมีการเก็บรักษาอย่างมิดชิด บางส่วนยังคงเก็บอยู่ตามบ้านเรือนของประชาชน และบางส่วนถูกขโมยไปแล้ว เทศบาลฯ จึงได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานในการพัฒนาของดีมีในชุมชน ขึ้นในจุดแรกคือการเชื่อมโยงเมืองโบราณขอนแก่นเข้าไว้ด้วยกัน เริ่มต้นจากชุมชนศรีฐาน และจะขยายแนวเขตตามการตรวจสอบของกรมศิลปากร ก่อนกำหนดพื้นที่สำรวจเพื่อขุดหาของมีค่าที่มีอยู่ในชุมชน ซึ่งขณะนี้ทราบมาว่าหลายชุมชนมีการเก็บของโบราณต่างๆไว้ ดังนั้นเมื่อมีการขุดค้นของมีค่าดังกล่าวได้แล้ว เทศบาลฯเตรียมจัดทำพิพิธภัณฑ์ชุมชนขึ้นเพื่อรวมเอาความเป็นขอนแก่นมาถ่ายทอดผ่านสิ่งของต่างๆที่ค้นพบ ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต อย่างไรก็ตามขณะนี้ทุกชุมชนเริ่มมีการตื่นตัวกับการค้นพบโบราณวัตถุและโบราณสถานล้ำค่าที่มีอยู่ และร่วมเป็นคณะทำงานร่วมกันในทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันขุดค้นและป้องกันกลุ่มมิจฉาชีพที่อาจจะเข้ามาลักลอบขุดค้นและนำไปจำหน่ายอย่างเข้มงวด อย่างไรก็ตามสำหรับหลุมขุดที่ 1 ภายในวัดจอมศรี แห่งนี้ จะดำเนินการสิ้นสุดระยะที่ 1 ในเดือน พ.ค.เพื่อที่จะนำข้อมูลและสิ่งของที่ได้ไปทำการตรวจสอบเพื่อเป็นการยืนยันทางหลักวิชาการของสิ่งของต่างๆที่ถูกค้นพบภายในชุมชนแห่งนี้