นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Sarinee Achavanuntakul ระบุข้อความ...
ความเห็นสั้นๆ ต่อกรณีสหรัฐตัดสิทธิ GSP ไทย (ย้ำตัวโตๆ ว่านี่เป็น _ความเห็นสั้นๆ_ จากการอ่านข่าวเท่านั้นนะคะ กรุณาอย่าอ้างอิงว่าเป็นบทความ หรือหนักข้อกว่านั้นคือบ่นว่าไม่ใช่บทความทางวิชาการ 555)
.
1. อเมริกากำลังเข้าสู่ฤดูหาเสียงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้า (2020) ทรัมป์ซึ่งกำลังถูกกรณีอื้อฉาวรุมเร้าหลายเรื่อง (โดยเฉพาะการเริ่มกระบวนการถอดถอนหรือ impeachment ซึ่งต่อให้ถอดถอนไม่ได้จริง ระหว่างทางชื่อเสียงก็คงหายไปไม่น้อย) และได้ชื่อว่าเป็นคนโผงผางไม่เกรงใจใคร จึง "หาเสียง" ด้วยการทำตัวขึงขังนักเลงกับประเทศอื่นๆ ตามแนวนโยบาย "America First" (อเมริกาต้องมาก่อน) ที่โดนใจอเมริกันชนแนวชาตินิยม ในแง่หนึ่งการทำ "สงครามการค้า" กับจีนตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ก็มองได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญหาเสียงเช่นกัน ดังนั้น การออกมาประกาศตัดสิทธิ GSP ที่ให้กับไทย ก็มองได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการหาเสียงของทรัมป์เช่นกัน
.
2. อย่างไรก็ดี การตัดสิทธิ GSP ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ก็ทำได้ และไม่ใช่ว่าใครๆ ก็ทำได้ตามอำเภอใจโดยไม่ต้องให้เหตุผลอะไรเลย (ไม่อย่างนั้นคงเป็นคดีความฟ้ององค์กรการค้าโลกไปแล้ว) -- กรณีของไทย ก็มีวี่แววมานานแล้วว่าจะถูกตัดสิทธิ เหตุผลที่อ้างคือ "ไทยไม่เคารพสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐาน" นั้น ไม่ใช่ไม่มีมูลเลย เพราะรัฐบาลไทยไม่เคยลงนามในอนุสัญญาสากล ILO สองฉบับที่จัดว่าเป็นพื้นฐานมากๆ ของการคุ้มครองแรงงาน นั่นคือ ฉบับที่ 98 และ 87 (เสรีภาพในการสมาคม สิทธิในการรวมตัว และสิทธิในการเจรจาต่อรอง)
.
อนุสัญญาพื้นฐานสองฉบับนี้คุ้มครองแรงงาน _ทั้งหมด_ ไม่ใช่เฉพาะแรงงานต่างด้าวเหมือนกับที่นักธุรกิจและเจ้าหน้าที่รัฐหลายคนพยายามบิดเบือน ปัจจุบันกฎหมายแรงงานไทยชัดเจนว่ายังด้อยกว่าเนื้อหาในอนุสัญญาสองฉบับนี้อยู่หลายเรื่อง เช่น การจัดตั้งสหภาพแรงงานต้องแจ้งรัฐก่อน, รมต. แรงงานมีสิทธิสั่งให้คนงานที่นัดหยุดงานกลับไปทำงานต่อได้ ฯลฯ
.
(น่าสังเกตว่า กฎหมายแรงงานใหม่ๆ เช่น กฎหมายคุ้มครองแรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมประมง ถูกเข็นออกมาเพราะไทยโดนโจมตีหนักจนขึ้น blacklist ขายของไม่ได้ เช่น เรื่องแรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมง ไม่ใช่ว่าเกิดจาก "วิสัยทัศน์" หรือ "เจตจำนง" ที่ชัดเจนของภาครัฐที่จะสนับสนุนสิทธิแรงงานแต่อย่างใด)
ในยุคที่ "สิทธิมนุษยชน" ซึ่งรวมสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐาน ถูกยกระดับเป็น "จริยธรรมสากล" ในการดำเนินธุรกิจไปแล้ว (อันนี้มุมมองของตัวเอง แต่คิดว่าจริงค่ะ) และประเทศอาเซียนอื่นๆ อาทิ เวียดนาม ก็ทยอยรับรองอนุสัญญาสองฉบับนี้ไปแล้ว การที่ไทยยังประวิงเวลาไม่ยอมทำ ก็จะยิ่งเป็นจุดอ่อน และเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดข้ออ้างให้ประเทศอื่นๆ ตัดสิทธิทางการค้าหรือเลิกค้าขายกับไทยมากขึ้นเรื่อยๆ
.
3. GSP เปรียบเป็น "แต้มต่อ" ที่ประเทศพัฒนาแล้วให้กับประเทศกำลังพัฒนา เริ่มต้นหลังสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อหลายประเทศทั่วโลกตกอยู่ในภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจอย่างหนัก แน่นอนว่าเมื่อประเทศกำลังพัฒนาค่อยๆ เติบโต รายได้เริ่มเข้าใกล้ประเทศพัฒนาแล้ว "เหตุผล" ในการให้ "แต้มต่อ" นี้ก็ย่อมลดลง ทุกประเทศจึงต้องเร่งพัฒนา "ความสามารถในการแข่งขัน" ของตัวเอง จะได้สามารถแข่งขันได้จริงๆ โดยไม่ต้องพึ่งกลไกเทียมอย่าง GSP (และนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่ไทยถูกตัดสิทธิ GSP ก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นก็ตัดไปแล้วด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาระดับ "รายได้ปานกลาง" แล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่เขาควรให้สิทธิพิเศษกับไทยอีก ไปให้ประเทศอื่นที่ยากจนกว่าดีกว่า)
.
4. ฉะนั้นคำถามหลักคือ ที่ผ่านมาภาคธุรกิจไทยพัฒนา "ความสามารถในการแข่งขัน" ได้มากแค่ไหน ปรับตัวให้ทันกับโลกใหม่ของการแข่งขันได้หรือไม่ (โลกที่จีน เวียดนาม และอีกหลายประเทศมีแรงงานถูกกว่าไทย + โลกที่ "สิทธิมนุษยชน" กำลังเป็น "จริยธรรมสากล" เป็นกติกาสำคัญในการทำธุรกิจ) แล้วรัฐกับเอกชนควรทำอะไรต่อไปเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันระยะยาว (ไม่ใช่ร้องเรียกแต่ GSP, ค่าเงินราคาถูก ฯลฯ)
.
5. เห็นหลายคนรณรงค์ให้คนไทยบอยคอตสินค้าอเมริกัน โดยเฉพาะในเฟซบุ๊ก โซเชียลมีเดียอเมริกัน แล้วก็รู้สึกว่า อืม ใครทำได้นี่สงสัยต้องกลับไปอยู่ถ้ำ ถถถ และอยากจะบอกว่า สินค้าอเมริกันจำนวนมากกกก ใช้วัตถุดิบไทย แรงงานไทย หรือมีผู้ประกอบการไทยเป็นส่วนหนึ่งใน supply chain ดังนั้นการบอยคอตจะทำให้คนไทยเดือดร้อนด้วย ถ้าอยากบอยคอตสินค้าอเมริกันที่จะไม่กระทบคนไทย แนะนำว่าควรไปเรียกร้องให้กองทัพไทยเลิกสั่งซื้ออาวุธของอเมริกาค่ะ :3 /ยิ้มหวาน
.
(นี่พิมพ์จากสนามบิน คืนนี้กลับถึงไทยแล้วค่ะ ไว้จะเขียนสั้นๆ ถึงฮอกไกโด :))