สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้รับรางวัล Recognition of Excellence Award ในงาน Thailand OpenGov leadership forum 2019 ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการผลักดันเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศให้เกิดการลงมือปฏิบัติในรูปแบบต่างๆ เพื่อทำให้อันดับดัชนีนวัตกรรมโลกของประเทศไทยขยับสู่อันดับที่ 30 ภายในปี 2030 สำหรับรางวัลดังกล่าวได้มีการคัดเลือกองค์กรภาครัฐทั่วประเทศไทยกว่า 250 แห่ง โดยคัดเลือกจากองค์กรที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ และมีเป้าหมายพัฒนาการบริการที่ตอบโจทย์ประชาชนใน เช่น การพัฒนาทรัพยากรบุคคลทั้งด้านทักษะและความคิด โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่มีการออกแบบอย่างครอบคลุม และมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามเพื่อผลักดันให้ระบบการทำงานของภาครัฐมีประสิทธิภาพมากขึ้น NIA ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมหน่วยงานภาครัฐและสตาร์ทอัพให้มีการทำงานร่วมกันด้วยโครงการ Government Procurement Transformation หรือ GPT เพื่อให้สตาร์ทอัพมีโอกาสนำเทคโนโลยีไปทดลองใช้กับหน่วยงานภาครัฐ และสนับสนุนในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างให้สะดวกขึ้น ทำให้ทั้งสตาร์ทอัพและหน่วยงานภาครัฐมีความเข้าใจในระบบการทำงานของกันและกันและพัฒนางานบริการต่างๆที่ดีต่อไป นางธีรีสา มัทวพันธุ์ รองผู้อำนวยการด้านยุทธศาสตร์องค์กร สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ล่าสุด NIA ได้รับรางวัล Recognition of Excellence Award ในงาน Thailand OpenGov leadership forum 2019 ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการผลักดันเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศให้เกิดการลงมือปฏิบัติในรูปแบบต่างๆ เพื่อทำให้อันดับดัชนีนวัตกรรมโลก(Global Innovation Index; GII)ของประเทศไทยขยับสู่อันดับที่ 30 ภายในปี 2030 ตั้งแต่การศึกษาปัจจัยที่เอื้อต่อการจัดอันดับ GII การวางแนวทางการพัฒนาและปรับปรุงดัชนี GII ของประเทศ การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญและกรอบแนวคิดดัชนี GII ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง การพัฒนารายงานบริบทนวัตกรรมด้านสุขภาพของประเทศไทย ตลอดจนการศึกษาแนวทางการปรับปรุงดัชนีนวัตกรรมระดับโลก โดยรางวัล Thailand Recognition of Excellence เป็นรางวัลที่จัดโดย OpenGov Asia ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Recognition of Excellence series ที่จัดขึ้นในหลายประเทศเช่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเชีย มอบให้กับหน่วยงานภาครัฐที่มีการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ในองค์กร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในหน่วยงานภาครัฐ การให้บริการประชาชน และผลักดันให้เกิดการริเริ่มโครงการใหม่ๆ ทั้งนี้รางวัลดังกล่าวได้มีการคัดเลือกองค์กรภาครัฐทั่วประเทศไทยกว่า 250 แห่ง โดยคัดเลือกจากองค์กรที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในหน่วยงาน และมีเป้าหมายพัฒนาการบริการที่ตอบโจทย์ประชาชนใน4 ด้านได้แก่ 1.การพัฒนาทรัพยากรบุคคลทั้งด้านทักษะและความคิด 2.โครงสร้างพื้นฐานดิจิตอลที่ต้องออกแบบให้ครอบคลุม และมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสม3.การรวบรวมข้อมูลที่ผ่านการออกแบบที่ดี และมีความร่วมมือจากทุกภาคส่วน 4.การสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรมในองค์กรด้วยการเปิดโอกาสให้ลองเรียนรู้และผิดพลาด เพิ่มมุมมองใหม่ในการสร้างสรรค์งาน ขณะเดียวกันการสร้างให้เกิดนวัตกรรมของประเทศ ต้องมาจากความร่วมมือกันของทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน แต่เนื่องจากระบบการทำงานของภาครัฐมีความซับซ้อน และเข้มงวด โดยเฉพาะระบบการจัดซื้อจัดจ้าง จึงทำให้ยากต่อการที่ภาคเอกชน โดยเฉพาะบริษัทสตาร์ทอัพใหม่ๆ จะนำนวัตกรรมเข้าไปขยายผลใช้ในระบบภาครัฐ NIA จึงทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมทั้ง 2 ฝั่งเข้าด้วยกัน โดยได้ริเริ่มโครงการที่มีชื่อว่า Government Procurement Transformation หรือที่เรียกว่า GPT ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อสตาร์ทอัพเข้ากับหน่วยงานภาครัฐ โดย NIA จะให้ทุนสตาร์ทอัพ เพื่อให้มีโอกาสนำเทคโนโลยีไปทดลองใช้กับหน่วยงานภาครัฐ และสนับสนุนในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างให้สะดวกขึ้น ทำให้ทั้งสตาร์ทอัพและหน่วยงานภาครัฐมีความเข้าใจในระบบการทำงานของกันและกันมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ NIA ยังมีการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ด้วยโครงการ STEAM4INNOVATOR และ Startup Thailand League ที่เริ่มพัฒนาตั้งแต่ระดับเยาวชน เพื่อให้มีความพร้อมสู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม โครงการนี้ทำให้เยาวชนหลายคนมีเป้าหมาย และมุ่งมั่นลงมือประกอบธุรกิจนวัตกรรมที่สร้างสรรค์มากมาย นอกจากนี้ NIA ยังมีโครงการ Startup Thailand ซึ่งผลักดันและสนับสนุนการเกิดสตาร์ทอัพด้วยการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมให้เอื้อต่อการเกิดสตาร์ทอัพ ตั้งเป้าให้เกิดกว่า 3,000 บริษัทธุรกิจนวัตกรรมจากต่างชาติที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนนวัตกรรม และลงทุนในประเทศไทย รวมไปถึงการส่งเสริมและสร้างประเทศไทยให้เป็น Innovation - hub ของภูมิภาค เพื่อนำไปสู่การขยับตัวของอันดับดัชนีนวัตกรรมให้ขึ้นสู่อันดับ 30 ภายในปี 2030 อีกด้วย