เริ่ม 100 เครื่อง ในที่ว่าการอำเภอ-เขต ศูนย์วันสต็อปเซอร์วิส ให้ปชช.ได้เข้าถึง หากรู้ว่าเป็นจะได้รีบรักษา-ดูแลตัวเองให้เหมาะสม ป้องกันโรคแทรกซ้อน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการส่งเสริมประชาชนให้เข้าถึงการวัดความดันโลหิต ระหว่างกรมควบคุมโรค กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกทม. โดยกล่าวว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะความดันโลหิตสูงเนื่องจากช่วงแรกมักจะไม่แสดงอาการใดๆ จึงไม่ได้เข้ารับการรักษาหรือปฏิบัติตนอย่างเหมาะสม ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ อาทิ โรคหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ โรคไต สำหรับประเทศไทยมีผู้ป่วยความดันโลหิตสูงถึงร้อยละ 24.7 หรือประมาณ 13 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือผู้ป่วยร้อยละ 45 ไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะความดันโลหิตสูง จึงร่วมกับกรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกทม. จัดเครื่องวัดความดันโลหิตแบบอัตโนมัติใช้งานง่าย สามารถตรวจวัดได้ด้วยตนเอง พร้อมสื่อให้ความรู้ในการประเมินและปฏิบัติตน โดยให้บริการประชาชนในสถานที่ติดต่อราชการ เช่น ที่ว่าการอำเภอ/ที่ว่าการเขต ศูนย์บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการวัดความดันโลหิตในสถานที่สาธารณะ และทำให้ประชาชนตระหนักรู้สุขภาวะของตนเองนำไปสู่การลดพฤติกรรมเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ อ้วน เครียดสะสม ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยจะเริ่มในช่วงแรกกทม. และ 3 จังหวัดปริมณฑล คือ ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ 100 เครื่อง นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดก.สาธารณสุข กล่าวว่า ก.สาธารณสุข มีมาตรการเร่งด่วนในการขับเคลื่อนการสร้างความตระหนักสุขภาพ Know Your Number, Know Your Risk โดยให้มีเครื่องวัดความดันโลหิตในโรงพยาบาล สถานที่ราชการ สถานที่ทำงานทั่วประเทศ และจัดหลักสูตรอบรมอาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นหมอประจำบ้าน เพื่อดูแลสร้างเสริมสุขภาพประชาชน นอกจากนี้ ได้สำรวจพฤติกรรมเสี่ยงโรคไม่ติดต่อและการบาดเจ็บโดยกรมควบคุมโรค พบว่าในปี 61 คนไทยอายุ 15-79 ปี ร้อยละ 68.4 ได้รับการตรวจวัดความดันโลหิต ซึ่งร้อยละ 16.52 ทราบว่าตนเองมีภาวะความดันโลหิตสูง ทั้งยังพบพฤติกรรมเสี่ยง อาทิ มีผู้สูบบุหรี่ร้อยละ 16.8 โดยเพศชายสูบมากกว่าเพศหญิง 16 เท่า ลดลงจากปี 57 ร้อยละ 19.5 สำหรับผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบร้อยละ 22.3 เป็นเพศชายร้อยละ 36.2 และหญิงร้อยละ 9.4 การรับประทานผักและผลไม้ได้เพียงพอร้อยละ 33.0 ทั้งเพศหญิงและเพศชาย การออกกำลังกายร้อยละ 42.3 มีน้ำหนักเกินและอ้วน 19 ล้านคน เพศหญิงมากกว่าเพศชาย จึงเชิญชวนประชาชนใส่ใจสุขภาพ ลด ละ เลิก บุหรี่ แอลกอฮอล์ เพิ่มกิจกรรมทางกาย ไม่รับประทานอาหารหวาน มัน เค็มจัด เพื่อลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง