หากเอ่ยถึง “ทวีปแอฟริกา” หรือที่บางคนเรียกในเชิงเหยียดว่า “กาฬทวีป” หนึ่งในทวีปของโลกเรา ณ ชั่วโมงนี้ ต้องบอกว่า มองข้าม ผ่านสายตาเลยไปมิได้อีกแล้ว เมื่อปรากฏว่า บรรดามหาอำนาจใหญ่น้อย ต่างทะยอยตบเท้าเข้าสู่ทวีปแห่งนั้น เพื่อหวังประชันชิงชัย สยายอิทธิพลเข้าไปในทวีปดังกล่าว อย่างชนิดที่กล่าวได้ว่า คึกคักกันอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ตลอดช่วงไม่กี่ขวบปีที่ผ่านมานี้ เรียกว่า คึกคักกันอีกครั้งหลังจากที่เมื่อหลายร้อยปีที่ผ่านมา บรรดามหาอำนาจโลก ได้เคยแข่งขันกันเข้าไปจนทำให้หลายๆ ประเทศของทวีปแอฟริกา ตกเป็นอาณานิคม พร้อมๆ กับเกิดโศกนาฏกรรมดำมืดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ในฐานะเป็นแหล่งกอบโกยผลประโยชน์ของพวกชาติมหาอำนาจในยุคนั้นจากกรณี “การค้าทาส” สำหรับ ทวีปแอฟริกายุคร่วมสมัยถึงยุคปัจจุบัน หลังเงียบหายกันไปพักหนึ่ง ก็ได้หวนกลับมาเป็นสังเวียนชิงชัยของเหล่ามหาอำนาจกันอีกคำรบ โดยชาติมหาอำนาจที่ทำให้ทวีปแอฟริกากลับมามีสีสันในการประชันกันอีกครั้ง ก็เห็นจะเป็น “พญามังกร - จีนแผ่นดินใหญ่” ที่สยายกรงเล็บ คือ อิทธิพลด้านต่างๆ เข้าไปในประเทศต่างๆ ของทวีปแอฟริกา จนไม่ผิดอะไรกับการกระตุกกระตุ้นเตือนให้มหาอำนาจชาติอื่นๆ ต้องจับตาจ้องมองกันเมื่อไม่กี่ขวบปีเป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจจากจีนแผ่นดินใหญ่ ข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามายังทวีปแอฟริกา ผ่านเม็ดเงินลงทุน และการกู้ยืม ทว่า สถานการณ์กลับกลายเป็นว่า นานาประเทศในทวีปแอฟริกาที่ได้รับความช่วยเหลือเหล่านั้น ตกอยู่ในสภาพเป็นลูกหนี้ ที่มีหนี้กองท่วมหัวกันถ้วนหน้า จนเป็นหนึ่งในที่มาของคำว่า “การทูตกับดักหนี้ (Debt-trap dipromacy)” และฮิตติดปากไปทั่วโลก มีรายงานเป็นตัวเลขออกมาด้วยว่า จีนแผ่นดินใหญ่ ที่ ณ เวลานี้เป็น “เสี่ยใหญ่” ได้ระดมเม็ดเงินหว่านไปในทวีปแอฟริกาแต่ละประเทศรวมแล้วปีละ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ก็ได้คืนกลับมาในแง่ของทรัพยากรธรรมชาติจากประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกาที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ อย่างไรก็ดี เม็ดเงินจำนวนมหาศาลข้างต้น ก็หาได้เกิดมรรคผลในด้านการพัฒนาบรรดาประเทศของทวีปแอฟริกากันสักเท่าไหร่ ส่งผลให้เป็นที่กังขาว่า เม็ดเงินจำนวนมหาศาลดังกล่าวไปไหลรวมอยู่ที่ใดกันแน่ นอกจากเรื่องเศรษฐกิจแล้ว พญามังกรจีนแผ่นดินใหญ่ ได้สยายกรงเล็บ คือ อิทธิพล ทางการทหาร เข้าไปในทวีปแอฟริกาด้วย โดยทางรัฐบาลปักกิ่ง ได้เปิดฐานทัพอย่างเป็นทางการในกรุงจิบูตี เมืองหลวงของบุรุนดี เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นฐานทัพนอกชายฝั่งของจีนแผ่นดินใหญ่แห่งแรก ทั้งนี้ จากปรากฏการณ์แห่งการขยายอิทธิพลของพญามังกรจีนข้างต้น ก็ส่งผลให้บรรดาชาติมหาอำนาจ ล้วนต่างตื่นตัว ในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ไล่ไปตั้งแต่ “สหรัฐอเมริกา - พญาอินทรี” ที่ถึงขนาดคณะที่ปรึกษาด้านความมั่นคง ซึ่งนำโดยนายจอห์น โบลตัน ในสมัยนั้น ต้องผลักดันแผนยุทธศาสตร์ให้ทางการวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อใช้รับมือกับการขยายอิทธิพลของพญามังกรจีนในทวีปแอฟริกา ล่าสุด ก็เป็นรายของ “พญาหมี - รัสเซีย” อีกหนึ่งชาติมหาอำนาจ ก็ได้เปิดเกมยุทธศาสตร์รุกเข้าไปในทวีปแอฟริกานี้ด้วยเช่นกัน ด้วยการจัดการประชุมระดับสุดยอดผู้นำ หรือซัมมิต ขึ้นมาเลยทีเดียว ซึ่งสถานที่จัดประชุม ทางการมอสโก ภายใต้การนำของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน คนดัง ก็ใช้ “โซชิ” เมืองรีสอร์ตสถานตากอากาศอันเลื่องชื่อ เป็นสถานที่จัดประชุม เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรากฏว่า มีบรรดาผู้นำประเทศในทวีปแอฟริกา ต่างพากันตบเท้าเข้าร่วมประชุมสุดยอดครั้งนี้กันอย่างคับคั่ง ชนิดตั้งแต่เหนือสุดของแอฟริกาอย่าง พล.อ.อับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซิซี ประธานาธิบดีอียิปต์ ไปจนถึงใต้สุดของทวีป คือ ประธานาธิบดีไซริล รามาโฟซา แห่งแอฟริกาใต้ ล้วนเดินทางมาเข้าร่วมอย่างถ้วนหน้า โดยในการประชุมฯ ปรากฏว่า ทางการรัสเซียของประธานาธิบดีปูติน ทั้งลด แลก แจก แถม ให้แก่บรรดาประเทศในทวีปแอฟริกาสารพัด ได้แก่ การให้คำมั่นสัญญาว่าจะเข้าไปช่วยพัฒนาสิ่งสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน หรืออินฟราสตรักเจอร์ ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาแล้วว่า เม็ดเงินทุนของจีนแผ่นดินใหญ่ ไม่ได้ช่วยพัฒนาด้านนี้ให้แก่นานาประเทศในทวีปแอฟริกาสักเท่าไหร่ ได้แต่เพียงตัวเลขจีดีพีหรูๆ ในบางประเทศเท่านั้น การให้ความช่วยเหลือด้านการทหาร อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้ เหล่านักวิเคราะห์ แสดงทรรศนะเชิงกังขาว่า รัสเซียน่าจะเจาะตลาดการค้าอาวุธสงครามให้แก่ภูมิภาคแอฟริกา ซึ่งหลายประเทศในภูมิภาคแห่งนี้ ก็เป็นลูกค้าอาวุธสายพันธุ์ของรัสเซีย เช่น ปืนอาก้า เป็นต้น เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยมอสโกจะส่งเสริมการตลาดเพิ่มยอดขายให้ยิ่งขึ้นไป การช่วยพัฒนาด้านพลังงาน โดยเฉพาะด้านพลังงานนิวเคลียร์ที่รัสเซียมีความถนัด นอกจากนี้ ประธานาธิบดีปูตินก็ยังได้ประกาศ “ยกหนี้” มูลค่าสูงถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ตกค้างมาตั้งแต่ครั้งอดีตสหภาพโซเวียตรัสเซียเรืองอำนาจให้แก่ประเทศในแอฟริกาใต้ที่เคยกู้หนี้ยืมสินกันมา ทั้งหมดทั้งปวงก็ต้องถือเป็นยุทธศาตร์รุกภูมิภาคแอฟริกาครั้งใหญ่ ในการประชันกับสหรัฐฯ รวมไปถึงจีนแผ่นดินใหญ่ ที่บุกเข้าไปในทวีปอันอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติแห่งนี้กันไปก่อนหน้า