หมายเหตุ : “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” สัมภาษณ์พิเศษ “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” หัวหน้าพรรคเพื่อไทยในฐานะ ผู้นำฝ่ายค้าน ถึงแนวทางการทำงานของพรรคฝ่ายค้านภายหลังร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ผ่านวาระแรก - ขอให้ประเมินภาพรวมการทำหน้าที่ของพรรคฝ่ายค้าน หลังเสร็จสิ้นการประชุมสภาฯ พิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2563 เป็นอย่างไรบ้าง หากประเมินในภาพรวมพรรคฝ่ายค้านถือว่าทำงานได้ดี ทุกคนที่อภิปรายได้เตรียมตัว และข้อมูลต่างๆ มามากพอสมควร ซึ่งการอภิปรายครั้งนี้ได้ชี้ให้เห็น ว่างบประมาณ ต่างๆ ที่ตั้งมาจำนวนกว่า 3.2 ล้านล้านบาท นำไปใช้อะไรบ้าง หากแบ่งงบประมาณออกเป็นส่วนๆ จะเห็นว่างบลงทุนมีน้อย แต่งบประจำมีมากประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีงบเกี่ยวกับงบประจำสูงที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ดังนั้นเงินที่เหลือที่จะนำมาพัฒนาประเทศมันก็น้อยลงไปตามลำดับ นอกจากนั้นยังมีในส่วนของหนี้สินที่ต้องชดใช้ ทั้งเงินกู้ที่รัฐบาลได้กู้มา ซึ่งก็เข้าใจ ในช่วงแรกอยากอภิปรายในเรื่องงบกลางจำนวนกว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งมันเยอะมาก และเงินจำนวนนี้ก็อยู่ภายใต้การดูแลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คนเดียว ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ก็รู้ว่าคงจะถูกโจมตีในเรื่องนี้ จึงได้มีการชี้แจงถึงงบกลางว่าความจริงแล้วมีประมาณ 9 หมื่นกว่าล้าน ส่วนที่เหลือเป็นในส่วนของการใช้จ่ายหนี้ คืนเงินคงคลัง ซึ่งผมก็เข้าใจ และไม่ได้อภิปรายเรื่องดังกล่าว แต่ได้ย้ำไปว่างบที่มีอยู่จำนวน 9 หมื่นกว่าล้านนั้น ขอให้ใช้ให้เป็นประโยชน์ อย่านำไปซื้ออาวุธเหมือนอย่างที่เคยทำ อย่างไรก็ตามเชื่อว่ารัฐบาลคงจะเข้าใจในสิ่งที่เราอภิปรายไป และนำไปแก้ไขในวาระที่ 2 เพราะทางพรรคร่วมฝ่ายค้านเราส่งตัวแทนไปเป็นกรรมาธิการ เราก็คงจะตรวจสอบในเรื่องนี้ด้วย หากรัฐบาลทำได้ดี และมีการนำไปปรับปรุง ฝ่ายค้านก็อาจจะไม่ติดใจ ในวาระที่ 3 แต่หากเขาไม่ทำอะไรเลยหรือทำแล้วไม่เป็นไปตามแนวทางที่เราเห็นควร หรือทำอย่างอื่นให้มันเลอะเทอะไปอีก ฝ่ายค้านก็คงจะต้องมีการพิจารณากันอีกครั้งว่ามติในวาระที่ 3 จะเป็นอย่างไร - ยังมีตรงไหนที่เราต้องนำกลับมาทบทวนกันอีกหรือไม่ เราได้อภิปรายไปหมดแล้ว แต่เราจะไปชี้แนะ และขันน็อตกันอีกทีในวาระที่ 2 ซึ่งมีเวลากว่าหนึ่งร้อยวัน เรียกว่าต้องเหนื่อยกันแน่นอน เพราะประชุมตั้งแต่ 9:00 น ถึง 24.00 น. ทุกวันไม่มีวันหยุด -การโหวตพ.ร.ก. การโอนกำลังพลฯ จะเห็นว่าสวนทางกับการโหวตของพรรคอนาคตใหม่ มีการพูดคุยกันในเรื่องนี้หรือไม่ ไม่มี เพราะเราเข้าใจกัน แต่พอเรามาคุยถึงเรื่องเกี่ยวกับการโหวตร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ทุกคนก็เห็นไปในทิศทางเดียวกัน ใครที่คิดไปต่างๆ นานาว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านอาจจะขัดกัน จะเห็นได้ชัดเจนว่าวันที่โหวตงบประมาณ เรายังเป็นปึกแผ่นกัน - เอกภาพของ 7 พรรคฝ่ายค้าน วันนี้มองว่าเป็นอย่างไรบ้าง หากดูจากการโหวตงบประมาณที่ผ่านมา เชื่อว่าความแน่นแฟ้นต่างๆ ถือว่าดีขึ้นมาก ส่วนในเรื่องการ โหวตพ.ร.ก. โอนอัตรากำลังพลฯและร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯบางส่วน ของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 นั้น ต่างพรรค ต่างก็มีอิสระที่จะดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งเราก็เห็นด้วยกับการโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัย รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ ในฐานะพรรคเพื่อไทยเราก็เห็นว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะพระองค์ท่านใช้กำลังพลเหล่านี้อยู่แล้ว ซึ่งก็ไม่รู้สึกว่าจะเสียหายอะไร เพราะทหารบก ทหารเรือ และทหารอากาศ ทุกเหล่าทัพก็เชิดชูสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์อยู่แล้ว - วาระต่อไปที่หลายคนกำลังจับตามองคือการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตรงนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้าน จะใช้อะไรเป็นปัจจัย เงื่อนไข ว่าจะยื่นอภิปรายฯ เมื่อไหร่ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในหนึ่งปีสามารถอภิปรายได้หนึ่งครั้ง ไม่ว่าจะเป็นสมัยประชุมไหนก็แล้วแต่ ซึ่งสมัยประชุมนี้แน่นอนว่ามันจะคาบเกี่ยวข้ามปีกัน ซึ่งเราก็กำลังหาจังหวะที่เหมาะสม และอยู่ระหว่างหารือกัน ยังไม่ได้สรุปเป็นข้อเท็จจริงว่าจะดำเนินการอะไร อย่างไรเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจ อีกทั้งต้องหาจุดบกพร่องต่างๆ ซึ่งก็มีอยู่บ้างแล้ว แต่ก็คงจะต้องคุยกันอีกครั้ง แต่เชื่อว่าจะมีแน่นอน เพราะทุกพรรคก็อยากทำอะไรก็แล้วแต่ให้รัฐบาลเข้าใจ และเห็นว่าความบกพร่องของเขาเองว่าเป็นอย่างไร - มีความยากง่ายอย่างไรในการทำงานของพรรคฝ่ายค้าน ในการตรวจสอบการบริหารงาน และงบประมาณของรัฐบาลชุดนี้ ก็ถือว่ายากเพราะเรื่องของงบประมาณมีอะไรแอบซ่อนอยู่บ่อยครั้ง เช่น เงินนอกงบประมาณ บางทีก็เอามาบวกใส่ให้กับหน่วยโน้น กระทรวงนี้ กรม กองนั้น ซึ่งหากไม่ดูให้ถ่องแท้ก็จะไม่เห็นและไม่รู้ อย่างที่ได้อภิปรายไปว่างบประมาณ 3.2 ล้านล้านนั้น มันไม่ใช่แค่จำนวนเงินนี้แต่มันยังมีเงินนอกงบประมาณมารวมอีก จนเป็นจำนวนเงินกว่า 3.4 ล้านล้านบาท เป็นเงินที่เราจะต้องขุดคุ้ยกันมาเอง อย่างไรก็ตามในวาระที่ 2 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ก็คงจะมีการชี้แจงพูดคุย และสอบถามเรื่องนี้ด้วย - กลับมาโฟกัสที่พรรคเพื่อไทย วันนี้เราอาจจะถูกมองว่า บทบาทของพรรคเข้มข้นน้อยลง แต่พรรคอนาคตใหม่ กลับโดดเด่นขึ้นมา จริงๆ แล้ว เป็นอย่างไร ในข้อเท็จจริงเท่าที่เรามองดูก็ไม่ได้มีอะไรผิดแปลกแตกต่างไปจากเดิม เพียงแต่เรื่องผู้อภิปรายของเรานั้น ส่วนใหญ่ยังเป็นมือใหม่อยู่ มือเก่าๆ หลุดหายไปหมดจากการเลือกตั้ง มีหลายคนที่แยกไปทำพรรคของตัวเอง ทำให้แนวทางผู้อภิปรายเรียกว่าเบาลงไป แต่เราก็เข้าใจและชื่นชมพรรคอนาคตใหม่ ที่เขามีนักการเมืองรุ่นใหม่ และเตรียมตัวมาดี แต่เราก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าเขา อาจจะมีเรื่องการอภิปรายงบประมาณ ที่เนื้อหาอาจจะไม่ได้ปะติดปะต่อกัน ทำให้การถ่ายทอดเรื่องงบประมาณไม่เป็นลูกโซ่ กระโดดไปเรื่องโน้นทีเรื่องนี้ที แต่โดยภาพรวมพรรคร่วมฝ่ายค้านทุกคนทำงานได้ดี - หลายคนประเมินว่าหากรัฐบาลยิ่งอยู่ยาว ยิ่งทำให้พรรคเพื่อไทย "อยู่ยาก" มากขึ้น เพราะต้องเจอกับนโยบายซื้อใจคนจนและปัญหางูเห่า เรื่องปัญหางูเห่าจะมีหรือไม่มีผมไม่ทราบ เพราะไม่เคยเห็นเขาจ่ายเงินกัน ยิ่งเรื่องการโหวตงดออกเสียง มันก็พิสูจน์ไม่ได้ พูดง่ายๆ ว่างูเห่าก็ตามน้ำไปด้วย แต่คนที่ช้ำใจที่สุดก็อาจจะเป็นผู้ซื้อ อาจจะบ่นว่าซื้อมาไม่ได้ประโยชน์ ไม่ได้ใช้งานเลย แต่จะออกมาโวยวายก็ไม่ได้ด้วย - ความแข็งแกร่งของพรรคเพื่อไทย จะต้องมาจากองค์ประกอบอะไรบ้าง เพราะวันนี้แม้จะเป็นพรรคอันดับหนึ่ง มีส.ส.มากที่สุด แต่เรากลับเป็นเป้าให้ฝ่ายรัฐบาล หาทางดึงส.ส.ของพรรคไป เชื่อว่าทุกรัฐบาล คงจะพยายามอย่างนั้น เพราะยิ่งเสียงปริ่มน้ำเขาก็ต้องระมัดระวังตัวเองว่าจะอยู่รอดหรือไม่รอด แต่เชื่อว่าสปิริตของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่เราคุยกัน ปรึกษากัน และรักกันมีอยู่มาก แต่ทั้งนี้ก็ไม่ค่อยจะมั่นใจ เพราะรัฐบาลมีความสามารถมาก มีทุกสิ่งทุกอย่างสามารถยื่นข้อเสนออะไรต่างๆ ได้ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเงินอย่างเดียว ซึ่งก็คิดว่าคนบางคนคงมีความเดือดร้อน เช่น เรื่องคดี แต่ผมมั่นใจว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านทุกคนยังยึดมั่นในอุดมการณ์ และอุดมคติของพรรคว่าจะต้องทำหน้าที่ฝ่ายค้านให้ดีที่สุด เพราะพี่น้องประชาชนเฝ้าดูอยู่ - ทางพรรคเองได้กำชับส.ส.ในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง การประชุมพรรคทุกครั้งได้คุยกันเสมอว่าขอให้มีความสามัคคีกัน รักใคร่กลมเกลียวกันเหมือนอย่างที่มีมาตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน จนมาถึงพรรคเพื่อไทย เราก่อร่างสร้างตัวกันมา หมายความว่าทุกคนยืนหยัดด้วยอุดมการณ์ ด้วยความสามัคคี และนโยบายของพรรค ซึ่งเป็นนโยบายที่จับต้องได้ กินได้ นี่คือสิ่งที่ย้ำให้ส.ส. ทุกคนพึงระลึกอยู่เสมอ หวังใจอย่างยิ่งว่าสิ่งเหล่านี้จะไปหลอมให้ทุกคนมีความสามัคคีซึ่งกันและกัน ที่สำคัญกำลังวางแผนช่วงเปิดประชุมจะออกเดินทางไปต่างจังหวัดเพื่อเยี่ยมเยียน และพูดคุยกับผู้แทน เพราะบางทีก็ห่างเหินกันไป จึงต้องไปบ้านเขาบ้าง ไปดูว่าพื้นที่เขาเป็นอย่างไร มีอะไรที่พรรคจะต้องช่วยกันแก้ไขอะไรหรือไม่ การที่เราเข้าไปดูแลเขาถึงพื้นที่ พี่น้องน้องประชาชนก็จะได้เห็น และเมื่อเห็นแล้วก็จะได้เข้าใจว่าพรรคเพื่อไทยทำงานกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนจริงๆ - ยืนยันว่าจุดเด่นของพรรคเพื่อไทยในการครองพื้นที่ได้อย่างเหนียวแน่น คือการลงพื้นที่ เราพยายามไปเยี่ยมเยียนเขา สอบถามสารทุกข์สุกดิบ ไปรับฟังว่าเขามีปัญหาอะไร พี่น้องประชาชนปัญหาเยอะ อย่างปัญหาแล้งปีนี้ คือแล้งเยอะมาก - พรรคเพื่อไทยกับนายทักษิณ ชินวัตร ถูกมองว่าแยกกันไม่ออก ซึ่งกลายเป็นเรื่องบวก และลบในคราวเดียวกัน คิดว่าเป็นเพราะอะไร อาจจะเป็นเพราะนโยบายที่เราใช้ในปัจจุบัน เป็นนโยบายที่นายทักษิณ ในฐานะที่เป็นหัวหน้าพรรคไทยรักไทยในสมัยนั้น ได้ดำเนินการมา และเราก็ยังคงใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน ดังนั้นเวลาเราพูดถึงนโยบาย ก็เป็นนโยบายของนายทักษิณจริงๆ เราก็อดที่จะพูดถึงไม่ได้ และพี่น้องประชาชนก็คงจะเข้าใจในจุดนี้ แต่ข้อเท็จจริงแล้ว นายทักษิณไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับอะไรในพรรค ท่านก็ดำเนินการในเรื่องธุรกิจของท่านไป ยืนยันว่าไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับพรรค - สุดท้ายอยากให้ยืนยันจุดยืนของพรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน และยืนยันว่าจะทำหน้าที่ของพรรคฝ่ายค้านให้สมบูรณ์แบบ เราได้ชี้แจงประชาชนให้เข้าใจไปแล้วว่าหากเราไม่ได้เป็นรัฐบาล การที่จะอำนวยความสะดวกอะไรต่างๆ ให้พี่น้องประชาชน ทั้งในเรื่องงบประมาณ เรื่องการทำพื้นที่ การสร้างความสะดวกสบาย เรื่องถนน เราไม่สามารถทำได้ แต่เราจะขอความร่วมมือจากกรรมาธิการ ข้าราชการ ซึ่งเห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชน และจะยืนหยัดว่าจะทำทุกสิ่งทุกอย่างในฐานะที่เป็นฝ่ายค้านที่ดี จะไม่ตีรวน และจะตั้งใจ แต่อย่างไรก็ตามก็มีบ้างคนหมู่มาก ก็มีบางคนที่อาจจะรุนแรงไปบ้าง ก็ต้องอภัยกัน แต่เชื่อว่าทุกคนที่ทำงานนั้นทำด้วยความหวังดีต่อพี่น้องประชาชน และประเทศชาติ และพรรคเพื่อไทยก็จะยืนหยัดที่จะทำงานอย่างจริงจัง เราประชุมกันทุกวัน เพื่อวางแนวทางต่างๆ โดนเฉพาะ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์เลือกตั้งพรรค ก็คิดแนวทางเรื่องยุทธศาสตร์พรรคตลอดเวลา เพราะมันมีการปรับเปลี่ยนกันตลอดเวลา