สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์
วัดปืน เป็นหนึ่งในวัดเก่าแก่ของเมืองลพบุรี แต่ไม่พบประวัติการสร้างที่แน่ชัด วัดปืนอยู่ที่ไหนของลพบุรี ตามที่กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานไว้เมื่อปี พ.ศ.2479 ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าหิน อำเภอเมือง ลพบุรี สถานะเป็นวัดร้าง สถาปัตยกรรมที่ยังคงหลงเหลืออยู่ พบวิหาร 1 หลัง ฐานเจดีย์ แนวโบราณสถานข้างอาคารและบ่อน้ำ จากการค้นคว้าเอกสารรุ่นเก่า ไม่ปรากฏชื่อของโบราณสถานวัดปืนเลย พบเพียงตำแหน่งของเจดีย์บนพื้นที่โบราณสถานวัดปืน ในผังเมืองละโว้ที่ช่างชาวฝรั่งเศสเป็นผู้จัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2230 ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเท่านั้น
ปัจจุบันวัดปืนเป็นวัดร้าง หลงเหลือเพียงซากผนังของโบสถ์ ที่มีความยาว 18 วา กว้าง 18 วา เมื่อพิจารณาจากหลักฐานทางโบราณคดี รวมทั้งพระพิมพ์ต่างๆ ที่ขุดพบ ณ บริเวณวัดแห่งนี้แล้ว เชื่อกันว่าน่าจะสร้างในราวสมัยอยุธยาตอนต้นเป็นอย่างน้อยหรืออาจจะก่อนหน้านั้น เมื่อประมาณ พ.ศ.2450 ได้มีการขุดพบปืนใหญ่โบราณสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราชกระบอกหนึ่ง นับแต่นั้นมาจึงเรียกชื่อวัดร้างแห่งนี้ว่า “วัดปืน”
พระกรุเก่าของลพบุรีที่มีชื่อเสียงอยู่หลายกรุ ส่วนใหญ่จะเป็นพระเนื้อชิน เคยได้ยินผู้หลักผู้ใหญ่ในสมัยก่อนต่างก็พูด เป็นเสียงเดียวกันว่า พระกรุวัดปืนเรื่องอยู่ยงคงกระพันชาตรีเชื่อถือได้ มีประสบการณ์ต่างๆ มากมาย แต่พระกรุของกรุวัดปืนก็หายากมาตั้งแต่ในสมัยก่อนแล้ว พระกรุวัดปืน เท่าที่รู้จักกันดีก็มี พระนาคปรก พระหูยาน และพระหลวงพ่อแขก ซึ่งก็เป็นพระเนื้อชินทั้งสิ้น แต่ที่เป็นที่สุด ก็คือ ‘พระนาคปรก’ ด้วยความงดงามอลังการขององค์พระ และพุทธานุภาพสูงส่ง โดยเฉพาะด้านคงกระพันชาตรี ที่ถือว่าเป็นอันดับหนึ่งของตระกูลพระนาคปรกทั้งหมด จึงได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางและจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในบรรดา “พระนาคปรก เนื้อชินยอดนิยม” ที่หาได้ยากยิ่ง เพราะมีจำนวนน้อยมาก
การค้นพบ
พระนาคปรก วัดปืน แตกกรุออกมาแล้วไม่ต่ำกว่า 70 - 80 ปี
เนื้อหามวลสาร
พระนาคปรก กรุวัดปืน มีเฉพาะ เนื้อชินเงิน เท่านั้น ผิวขององค์พระจะมีลักษณะดำจัด พระบางองค์เนื้อจะกร่อนมาก องค์พระที่สวยสมบูรณ์จึงหาได้ยากมาก
พุทธลักษณะ
พุทธลักษณะพิมพ์ทรงจะแลดูบึกบึน เข้มขลัง ไม่สวยงามคมชัด เหมือน ‘พระนาคปรก กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ’ ซึ่งเป็นฝีมือช่างหลวงในสมัยโบราณ จึงน่าจะเป็นฝีมือสกุลของช่างพื้นบ้าน องค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางสมาธิ เหนือขนดนาค เบื้องหลังมีพญานาค 7 เศียร แผ่พังพานเหนือเศียร พระเศียรเหมือนสวมหมวกชีโบ ยกเว้นพิมพ์จิ๋ว
แบ่งได้เป็น 4 พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ ขนาดประมาณ 1.7 X 3 ซม. พิมพ์เล็ก พิมพ์จิ๋ว หรือ พิมพ์เศียรปลาหลด เพราะเศียรจะเรียวยาวแบบปลาหลด และพิมพ์ซุ้มเรือนแก้ว คือ นอกจากเศียรพญานาคที่แผ่พังพานแล้ว ยังมีซุ้มเรือนแก้วครอบอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งสองพิมพ์หลังนี้ถือว่าหาได้ยากที่สุด
เอกลักษณ์แม่พิมพ์
- เครื่องอาภรณ์ที่ประกอบองค์พระ จะมีลักษณะเฉพาะ เช่น มงกุฎรูปกรวยไม่สูงนัก เป็นต้น
- เส้นพระเกศาทั้งด้านหน้าและด้านหลังเป็นเส้นถักแนวตรง
- สร้อยพระศอ สัมผัสกับ ไรเส้นพระศก เป็นเส้นใหญ่
- พระกรรณ (ใบหู) จรดกับ สร้อยพระศอ คล้าย ‘พระหูยาน’
- พระอุระจะมีลักษณะเป็นลอนเหมือนกล้ามเนื้อ
- พระนาภีพลุ้ย
พุทธคุณ
พระนาคปรก กรุวัดปืน นั้น มีพุทธานุภาพสูงครบครัน โดยเฉพาะด้านคงกระพันชาตรี ถือว่าเป็นอันดับหนึ่งของตระกูลพระนาคปรกทั้งหมดทีเดียว
การพิจารณา
เอกลักษณ์เนื้อชินของ พระกรุ วัดปืน ทุกชนิด นั้น จะมีตะกั่วผสมมาก จนดูเหมือนเป็นพระที่หล่อด้วยตะกั่ว ต้องใช้ความพยายามศึกษาพิจารณาและสังเกตอย่างละเอียดถี่ถ้วนนะครับผม