ลุข้อตกลง สมประสงค์ กันไปเป็นที่เรียบร้อย สำหรับ การทำความตกลงว่าด้วยปัญหาในซีเรีย ระหว่างประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย กับประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิป เออร์โดกัน ผู้นำตุรกี ซึ่งบรรลุกันไปเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากใช้เวลาในการหารือหลายชั่วโมง ที่นครโซชิ เมืองสถานตากอากาศ หรือรีสอร์ต ชื่อดังของประเทศรัสเซีย โดยถ้าจะว่ากันไป รัสเซียก็เปรียบเสมือนเจ้าภาพจัดการหารือในแบบทวิภาคีที่มีขึ้น เพื่อหาแนวทางดับไฟสงครามการสู้รบ ภายหลังจากตุรกีของประธานาธิบดีเออร์โดกัน ได้กรีธาทัพบุกข้ามพรมแดนเข้าไปในประเทศซีเรีย โดยมีข้ออ้างว่า เพื่อกำราบกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ดกลุ่มต่างๆ ซึ่งรัฐบาลตุรกี ทางการอังการา ระบุว่า เป็นกลุ่มก่อการร้าย อันตรายต่อเสถียรภาพความมั่นคงของตุรกีที่จำต้องปราบปราม ก่อนที่ผู้นำประเทศทั้งสอง ได้บรรลุข้อตกลง เป็นข้อตกลงที่มีขึ้นก่อนที่ข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราว ซึ่งมีระยะเวลาเพียง 5 วัน จะครบกำหนดเส้นตายที่ฝ่ายต่างๆ ทำเอาไว้โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นนายหน้า ทั้งนี้ ข้อตกลงครั้งใหม่ที่ผู้นำรัสเซียและตุรกี บรรลุไปนั้น ก็ทำเป็น “บันทึกความจำ” หรือ “บันทึกช่วยจำ (Memorandum)” เรียกว่า “บันทึกช่วยจำโซชิ” หรือ “โซชิ เมโมแรนดัม (Sochi Memorandum)” มีจำนวน 10 ข้อด้วยกัน แต่หลักใหญ่ใจความ ก็ต้องถือว่า ทั้งรัสเซียและตุรกี เป็นฝ่ายได้ประโยชน์ สวนทางกลับชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ด หรือแม้แต่รัฐบาลดามัสกัสภายใต้การนำของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด แห่งซีเรีย ในฐานะเจ้าของประเทศเองกลับเป็นฝ่ายเสียประโยชน์ รวมไปถึงสหรัฐฯ ที่เข้าไปสนับสนุนกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาล และชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ดในซีเรีย ในการทำสงครามต่อต้านขบวนการก่อการร้ายรัฐอิสลาม หรือไอเอส เพราะหมายใจว่าจะขยายอิทธิพล บรรดานักวิเคราะห์ก็ระบุว่า “เสียท่า หมดราคาความเป็นมหาอำนาจ” กันไปด้วยข้อตกลงฉบับนี้ เนื้อหาบางส่วนของข้อตกลงฉบับข้างต้น ก็ได้แก่ การกำหนดให้พื้นที่สู้รบเกือบตลอดพรมแดนทางตอนเหนือของซีเรีย ในระยะรัศมีกินพื้นที่เข้าไปในดินแดนของซีเย 32 กิโลเมตร หรือ 20 ไมล์ เป็น “เขตปลอดภัย (Save Zone)” ซึ่งเขตดังกล่าว กินพื้นที่ตั้งแต่เมืองทัลอับยาด และราสอัล-อิน ยกเว้นพื้นที่บางส่วนของเมืองกามิชรี คิดเป็นระยะทางยาวราว 120 กิโลเมตร หรือประมาณ75 ไมล์ ด้วยกัน รายละเอียดของเขตเซฟโซนข้างต้น ก็กำหนดให้กองกำลังติดอาวุธทั้งที่เป็นของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรีย คือ “กองทัพประชาธิปไตยซีเรีย” หรือ “เอสดีเอฟ (SDF : Syrian Democratic Forces) และบรรดากลุ่มติดอาวุธต่างๆ ของชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ด ได้แก่ กลุ่มวายพีดี และกลุ่มพีเคเค ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับทางการตุรกีมาแต่ไหนแต่ไร ต้องถอนกำลังออกจากเขตปลอดภัย พร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาในการถอนกำลังออกมาอีกด้วย ต้องให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 150 ชั่วโมง นับจากช่วงบ่ายของวันพุธกลางสัปดาห์นี้เป็นต้นไปอีก 150 ชั่วโมง หรืออย่างช้าก็ในราววันอังคารสัปดาห์หน้า กองกำลังติดอาวุธเหล่านี้ ต้องถอยทัพกลับออกไปจากเขตปลอดภัยให้หมด นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียดด้วยว่า นอกจากเมืองข้างต้นที่เอ่ยชื่อมา ก็ยังมีเมืองมันบิจ และทัลริฟาอัต ทางตอนเหนือของซีเรีย ทางกองกำลังติดอาวุธวายพีจีที่เคลื่อนไหวในสองเมืองดังกล่าว ต้องถอนกำลังกันออกมาด้วย เมื่อกองกำลังติดอาวุธข้างต้น พ้นจากเขตเซฟโซนไปแล้ว ก็จะมีกองกำลังจาก “หน่วยสารวัตรทหารของรัสเซีย” ร่วมกับ “ทหารจากกองทัพตุรกี” และ “หน่วยพิทักษ์ชายแดนของซีเรีย” จะมาทำหน้าที่ลาดตระเวน รักษาความมั่นคงในพื้นที่ดังกล่าวแทน พร้อมกันนี้ ยังมีการเปิดเผยในรายละเอียดระหว่างที่ทางการรัสเซียกับตุรกีแถลงข่าวร่วมกันที่เมืองโซชิของรัสเซีย ด้วยว่า สารวัตรทหารของรัสเซีย และทหารของตุรกี จะออกลาดตระเวนร่วมกัน ทั้งทางฝั่งตะวันออกและตะวันตกของเขตปลอดภัย เป็นระยะทางประมาณ10 กิโลเมตร หรือราว 6 ไมล์ด้วย ท่ามกลางการกล่าวอ้างของรัสเซียและตุรกีระหว่างแถลงข่าวร่วมกันว่า การกำหนดเขตปลอดภัย พร้อมๆ กับให้กองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ด ถอนกำลังพ้นจากพื้นที่ และให้กองกำลังของทางการรัสเซียร่วมกับตุรกี ลาดตระเวนในพื้นที่ดังกล่าวด้วยกันนั้น ก็เพื่อป้องกันการโจมตีจากกองกำลังติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ด และการลอบเข้ามาก่อเหตุโดยสมาชิกของกลุ่มรัฐอิสลาม หรือไอเอส ที่หนีกบดาน กระจัดกระจาย ในพื้นที่ตอนเหนือของซีเรีย ตลอดจนเพื่ออธิปไตยและบูรณภาพทางดินแดนของซีเรีย ในอันที่จะยุติสงครามกลางเมืองและสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในซีเรียที่ดำเนินมานานเป็นระยะเวลาถึง 8 ปี ด้วยกัน อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่า ทางการดามัสกัส จะไม่พอใจต่อข้อตกลงดังกล่าว โดยประธานาธิบดีอัสซาด ผู้นำซีเรีย ออกมาส่งเสียงตำหนิวิจารณ์ต่อตุรกีว่า ไม่ผิดอะไรกับหัวขโมย ที่ลักเอาดินแดนของซีเรียจากข้อตกลงข้างต้น ขณะที่ บรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า ข้อตกลงฉบับนี้ ไม่ผิดอะไรกับการเบียดขับสหรัฐฯ ให้พ้นจากซีเรีย อย่างชนิดที่กล่าวได้ว่า พ่ายแพ้หมดรูป ทั้งๆ ที่สูญเสียกำลังคนและงบประมาณให้แก่สงครามกลางเมืองและสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในซีเรียหาน้อยไม่ แบบเข้าทำนองที่ว่า เสียไปเปล่าๆ แต่บทบาทการกำหนดชะตากรรมอนาคตของซีเรียที่แท้จริงกลับตกเป็นของตุรกีและรัสเซียที่มุ่งมั่นขยายอิทธิพลในภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างฉกชิ้นปลามันไปอย่างต่อหน้าต่อตา