ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 9 ต.ค. ตุรกีได้เปิดการโจมตีข้ามพรมแดนทางตอนเหนือของซีเรีย ภายหลังจากที่ทรัมป์ประกาศว่าได้ถอนทหารสหรัฐฯที่มีอยู่ประมาณ 1,000 คน ออกจากพื้นที่นั้น ซึ่งทำให้มองได้ว่าเป็นการเปิดไฟเขียวให้ตุรกี ทั้งนี้เพราะในพื้นที่ดังกล่าวทหารสหรัฐฯได้ร่วมมือกับกองกำลังต่อต้านรัฐบาลซีเรีย SDF ซึ่งเป็นกองกำลังของชาวเคิร์ดที่เมกาสนับสนุนทั้งเงินและอาวุธให้ล้มประธานาธิบดีอัสซาด และต่อมาอ้างว่าใช้ในการกำจัดกลุ่มก่อการร้ายไอเอส ซึ่งเบื้องหลังก็คือกลุ่มก่อการร้ายที่ตนเองสนับสนุน มาบัดนี้ทรัมป์อ้างว่าสิ้นเปลืองงบประมาณและไม่ต้องการสูญเสียชีวิตทหารเมกัน จึงให้ถอนทหารออก แต่ก็มิได้ไปไกลแค่เคลื่อนย้ายเข้าไปในดินแดนอิรักส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็เข้าไปคุมบ่อน้ำมันในซีเรีย ซึ่งก็ยังเป็นกองกำลังที่ผิดกฎหมายอยู่ดี การกระทำดังกล่าวของทรัมป์ก็เป็นอีกครั้งที่ถุกโจมตีว่าหักหลังชาวเคิร์ดแบบตัดหางปล่อยวัด และสภาครองเกรสมีมติข้างมากประณามการกระทำนั้น ซึ่งมีทั้งสมาชิกสภาสังกัดพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน ทำให้ทรัมป์ต้องออกมาปรามตุรกี โดยส่งจดหมายเตือนไปยังประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ว่า อย่าทำเป็นโง่และอวดดีไปนะ มิฉะนั้นเมกาจะทำการแซงซั่นทางเศรษฐกิจ ซึ่งประธานาธิบดีตุรกีถือว่าเป็นการดูถูกจึงโยนจดหมายทิ้งลงตระกร้าไป ต่อมาทรัมป์ก็ได้สั่งการให้ขึ้นภาษีเหล็กจากตุรกี ซึ่งเป็นสินค้าหลักที่ตุรกีส่งขายทั้งยุโรปและสหรัฐฯ พร้อมกันนั้นก็ได้ส่งทั้งรองประธานาธิบดีไมก์ เพนซ์ กับ รมว.ต่างประเทศ ไมค์ ปอมเปโอ ไปเยือนตุรกี เพื่อเกลี่ยกล่อมตุรกี โดยในขณะนั้นก็ได้มีการเกลี้ยกล่อมให้มีการหยุดยิงเป็นเวลา 5 วัน นัยว่าเพื่อเปิดทางให้กองกำลังเคิร์ดถอนตัวออกจากพื้นที่โดยถอยห่างออกจากชายแดนที่ตุรกีประกาศให้เป็นเซฟโซน แต่การหยุดยิงยังไม่ทันครบกำหนด และยังเป็นช่วงการมาเยือนของรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ และ รมว.ต่างประเทศ ไมค์ ปอมเปโอ ฝ่ายตุรกีก็เปิดฉากโจมตีเมืองรัสอัลอีน อันเป็นฐานที่มั่นของเคิร์ดตามแนวชายแดน ด้วยปืนใหญ่ และการโจมตีทางอากาศ ในช่วงใกล้เคียงกันก่อนโจมตีใหญ่ทางกองกำลังเคิร์ดก็ได้ทำความตกลงกับกองทัพรัฐบาลซีเรีย ขอเข้าเป็นพวกเพื่อให้กองทัพซีเรียคุ้มครอง ซึ่งก็ได้รับการตอบสนองที่ดี โดยซีเรียได้เคลื่อนกำลังเข้าประจำบางส่วนของชายแดน ที่ในอดีตไม่เคยเข้ามาปกป้องหลายปีแล้ว เพราะต้องถอนกำลังไปปกป้องส่วนกลาง แถบเมืองหลวงดามัสกัส สำหรับชาวเคิร์ดนั้นเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ตามภูเขาและที่ราบตามแนวชายแดนตั้งแต่ซีเรีย ตุรกี อิรัก อาเมเนีย จนถึงอิหร่านและมีจำนวนประมาณ 25-35 ล้านคน แต่กลุ่มชนเหล่านี้ไม่สามารถตั้งประเทศของตนได้ นั่นคือเคอร์ดิสถาน ด้วยมีถิ่นฐานอยู่อาศัยคาบเกี่ยวกับอาณาจักรที่ทรงอำนาจในอดีต นอกจากนี้ชาวเคิร์ดยังมีภาษาที่แตกต่างกันเป็นภาษาถิ่นที่ไม่สะดวกในการสื่อสารกัน และยังมีวัฒนธรรมที่อาจแตกต่างกันบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาอิสลาม และเป็นนักรบที่กล้าหาญ กระนั้นก็ไม่อาจจะรวมตัวกันตั้งเป็นประเทศได้ แม้จะมีความพยายามมาหลายครั้งในประวัติศาสตร์ ในปัจจุบันก็ยังมีการเคลื่อนไหวของกองกำลังชาวเคิร์ด ซึ่งก็มิได้มีเอกภาพในระหว่างกัน ทั้งที่เคลื่อนไหวเพื่อจัดตั้งเป็นประเทศอิสระ หรือเขตปกครองอิสระ ทั้งนี้กองกำลังที่เข้มแข็งสุด และมีการนำทางการเมืองที่เข้มแข็ง คือ กองกำลังในเขตตุรกี ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ และมีอิทธิพลในพื้นที่ที่มีน้ำมัน ทั้งจากในเขตซีเรีย และตุรกี นอกจากนี้ในอดีตชนกลุ่มนี้ยังควบคุมพื้นที่ในการปลูกฝิ่นขายด้วย จึงมีรายได้ในการจัดซื้ออาวุธ จนมาได้รับการสนับสนุนจากซีไอเอให้จัดตั้งเป็นกองกำลังขนาดใหญ่ ที่มีอิทธิพลในพื้นที่ ด้วยเหตุนี้จึงสร้างความกังวลใจให้ตุรกี ซึ่งก็ได้ผลักดันให้มีการบ่งชี้โดยนานาชาติว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย เพื่อผลทางการเมืองระหว่างประเทศ และการได้รับความร่วมมือในการปราบปราม ส่วนเคิร์ดในซีเรียมีประชากรประมาณ 7% -10% ซึ่งในตอนต้นๆของความขัดแย้งในซีเรีย กลุ่มพวกนี้พยายามวางตัวเป็นกลาง จนกระทั่งสหรัฐฯเข้ามาสนับสนุนและดึงเข้าสู่สงครามกับรัฐบาล โดยการจัดตั้งเป็นกองกำลัง SDF (Syrian Democratic Force) ซึ่งมีแรงจูงใจอย่างสูง เพราะในสมัย ฮาเฟส อัสสาด ผู้พ่อ และ บาซาอัสซาด ผู้ลูก เป็นประธานาธิบดี ชาติพันธุ์นี้ถูกกดขี่และไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานหลายประการ เมื่อสหรัฐฯสัญญาว่าจะให้จัดตั้งเป็นประเทศอิสระ ด้านแผนการที่จะแบ่งซีเรียเป็น 3 ส่วน กลุ่มคนเหล่านี้จึงเข้าร่วมขบวนการที่จะล้มรัฐบาล มาบัดนี้สหรัฐฯโดยทรัมป์ได้ทอดทิ้งอย่างสิ้นเชิง จึงหันไปร่วมมือกับรัฐบาลซีเรียเพื่อความอยู่รอด แต่การที่ตุรกีเข้าโจมตีกองกำลังเคิร์ด โดยล่วงล้ำเข้าไปในดินแดนซีเรีย และยังประกาศที่จะจัดตั้งเซฟโซน 32 กม. ในดินแดนซีเรีย คือ ห้ามมิให้มีกองกำลังเคิร์ดในบริเวณนี้ เพราะเกรงว่ากองกำลังนี้ ซึ่งเป็นพันธมิตรกับเคิร์ดในตุรกี ซึ่งจะช่วยเหลือสนับสนุนกัน อันเป็นภัยคุกคามต่อตุรกีด้วย อนึ่งตุรกียังมีแผนที่จะอพยพผู้ลี้ภัยชาวซีเรียจำนวนไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน ที่เป็นภาระของประเทศ ให้มาตั้งถิ่นฐานตลอดแนวชายแดนยาว 480 กม. ลึก 32 กม.นี้อีกด้วย อย่างไรก็ตามการกระทำดังกล่าวของตุรกี แม้จะอ้างว่าเป็นการปกป้องภัยคุกคามของตนเองจากกองกำลังเคิร์ด แต่ก็เป็นการรุกล้ำดินแดนและอธิปไตยของซีเรีย ทางซีเรียจึงยอมไม่ได้และยิ่งมีการจับมือกับกองกำลังเคิร์ดในซีเรียแล้วเคลื่อนกำลังมาตามแนวชายแดน ก็ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดการปะทะกับกองกำลังของตุรกี และกลุ่มกองกำลังอาหรับที่สนับสนุนโดยตุรกี ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการผนึกกำลังกันต่อต้านสหรัฐฯและตะวันตก คือ พันธมิตร รัสเซีย อิหร่าน ซีเรีย และตุรกี หรือนี่จะเป็นอุบายศึกของสหรัฐฯ ที่จะก่อให้เกิดการแตกแยกระหว่างพันธมิตร แม้ว่าตุรกีจะมิได้มีท่าทีที่จะกลับไปจับมือ ใกล้ชิดสนิทแนบกับสหรัฐฯเหมือนครั้งเก่าก่อนก็ตาม ที่น่ากังวลอีกประการก็คือ การที่สหรัฐฯใช้กองกำลังเคิร์ดไปปราบปรามไอเอส และจับกุมคุมขังไว้เป็นจำนวนมากแถบเมืองรัสอัลอีน เมื่อกองกำลังเคิร์ดถูกโจมตี ก็ต้องถอนกำลังจากการควบคุมไอเอสไปเข้าสู่การสู้รบกับตุรกี ทำให้การปกป้องควบคุมอ่อนแอ บางส่วนก็ถูกโจมตีทางอากาศ และปืนใหญ่จนกำแพงหรือที่คุมขังไอเอสบางส่วนพังทลาย ทำให้ไอเอสที่มีจำนวนนับหมื่น รวมทั้งครอบครัวพากันหลบหนีไปได้ และคาดว่าจะมีการไปสมทบกับกองกำลังไอเอสในส่วนอื่นๆ อันอาจเกิดการฟื้นตัวของไอเอสในภูมิภาค ที่จะสร้างความปั่นป่วนขึ้นอีกก็ได้ นี่ก็อาจเป็นแผนของตะวันตกที่จะสร้างความปั่นป่วนขึ้นในตะวันออกกลางอีกครั้ง หลังจากต้องถอยร่นต่อพันธมิตรฝ่ายตรงข้ามจนอาจไม่มีที่ยืนในประเทศเหล่านั้นก็ได้ งานนี้เชื่อได้ว่าอิสราเอลมีส่วนสำคัญในการสร้างความขัดแย้ง เพื่อผลประโยชน์ของตน เพราะก่อนที่รองประธานาธิบดี ไมค์ เพนซ์ และ รมว.ต่างประเทศ ไมค์ ปอมเปโอ จะไปตุรกี ได้แวะไปพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮู พร้อมกับออกมาประกาศว่าอิสราเอลมีสิทธิโดยพื้นฐานที่จะปกป้องผลประโยชน์และความมั่นคงของตนเอง ทว่าเท่ากับเป็นการยอมรับว่าอิสราเอลทำอะไรก็ได้แม้จะละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและไม่คำนึงถึงพื้นฐานทางมนุษยธรรมใดๆเลย เพื่อผลประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว